ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย

พระอินทร์
พระอินทร์ ภาพเขียนด้านทิศตะวันออกของโดมภายในห้องพระบรรทม (ภาพจากหนังสือ Prince Naris a Siamese Designer โดย ผศ.ดร .ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ พระปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

ไขปัญหาพระอินทร์ จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่า “อารยัน” สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย

ความนํา

คนไทยโดยมากรู้จักพระอินทร์หรือ Indra ผ่านพระพุทธศาสนา ว่าเป็นเทพศักดิ์สูงที่สมัครเป็นศิษย์พระพุทธองค์ และเป็นเทพรักษาพระศาสนา น้อยคนนักที่ทราบว่าพระอินทร์เป็นใครก่อนที่จะสมัครเป็นพุทธมามกะ เรื่องราวของพระอินทร์ติดตามได้ยากมาก เพราะท่านเป็นเทพเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ เดิมทีท่านเป็น “แม่ทัพสวรรค์” หรือ “แถนฟ้า” (War Chief) ของเผ่าพเนจรตามทุ่งหญ้าในเอเชียกลาง ท่านขี่เมฆบันดาลฝน ทำให้หญ้าเขียวขจีปศุสัตว์อ้วนพี ให้นมให้เนยอุดมสมบูรณ์ และในฐานะเจ้าพายุ ท่านยังคว้า “วัชระ” (สายฟ้า) ฟาดศัตรูของเผ่า

Advertisement

เทพองค์นี้เป็นที่นับถือสูงสุดของเผ่าต่าง ๆ ที่พูดภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรเปียน และเรียกตัวเองว่า “อารยัน” ต่อมาเมื่อเผ่าเหลานี้กระจายเข้าไปอยู่ในยุโรปและอินเดีย “แม่ทัพสวรรค์” องค์นี้กลายเป็น Zeus/Jupiter ของชาวกรีก/โรมัน Thor ของชาวเยอรมัน และ Indra ของอินเดีย

Zeus ครองยอดเขาโอลิมปัสในกรีซ โกรธใครเมื่อไรก็จะคว้าสายฟ้าฟาดผู้นั้น และมักเที่ยวแดนมนุษย์ ล่อลวงสังวาสกับกุลสตรี ให้กำเนิดวีรบุรุษที่ตั้งเมืองนี้เมืองนั้น

Thor ครองฟ้า (ไม่มียอดเขาเฉพาะ) ใช้ค้อน (หรือขวานหิน) ขว้างปราบศัตรู และเป็นประธานในงานเลี้ยงเหล้าโฮเฮโฮฮาไม่มีวันสิ้นสุดสําหรับบรรดาวีรบุรุษที่ตายในสนามรบ

Indra (พระอินทร์) ของพราหมณ์ สมัยพระเวท (ราว 4,000-2,500 ปีก่อนปัจจุบัน) ก็เป็นแม่ทัพสวรรค์ที่ครองยอดเขาพระสุเมรุ ขี่ช้างเอราวัณ (ปุยเมฆฝน) คว้าวัชระฟาดอสูร และเที่ยวลักลอบสังวาสกับมนุษย์ผู้หญิง (ที่เป็นเมียคนอื่น) จนเกิดวีรบุรุษเช่นพระอรชุน (ในมหาภารตะ) และพญาวานรพาลี (ในรามายณะ)

ปัญหา

ที่ว่าเรื่องราวของพระอินทร์ติดตามลําบากนั้น เป็นเพราะเหตุว่า เมื่อชาวอินโด-ยุโรเปียนเลิกเป็นเผ่าพเนจร และพัฒนาสังคมเป็นบ้านเป็นเมือง พระอินทร์ย่อมค่อย ๆ หมดความสำคัญไปจาก “พระเป็นเจ้าสูงสุด” มาเป็นเพียง “ตัวพระ” ในวรรณคดี ทุกวันนี้ชาวอินเดียทุกคนรู้ว่าพระอินทร์เป็นใคร แต่ไม่มีใครคิดกราบไหว้บูชาบวงสรวง ก็เช่นเดียวกับ ชาวยุโรปที่รู้จัก Zeus ในวรรณคดี แต่หากใครชวนกันให้บูชา Zeus ก็คงถูกหาว่าบ้ามาก ๆ

แหล่งข้อมูลของเรามีเพียงสองอย่าง คือ 1. พระเวท และ 2. คัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ ซึ่งทั้งสองแหล่งบกพร่อง

1. พระเวท เก่าที่สุดและน่าไว้ใจมากที่สุด เสียแต่เป็นเพียงบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าต่างๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องเทพปกรณัม

2. คัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ (มหาภารตะและรามายณะ) ล้วนหมายจะอธิบายเทพประวัติ แต่ล้วนทำขึ้นมาในยุคหลัง คือเมื่อชาวเผ่าอินโด-ยุโรเปียน กำลังตั้งตัวเป็นบ้านเป็นเมืองในอินเดีย พระอินทร์จึงกลายเป็นกษัตริย์ครองเมืองที่มีชนชั้น ไม่ใช่ผู้นำเผ่า (Chieftain) ที่ไม่รู้จักชนชั้น

นอกจากนี้ คัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ต่าง ๆ ยังขัดแย้งกันเอง เล่าเรื่องพระอินทร์ไม่ตรงกัน จึงยากที่จะตัดสินได้ว่าเล่มใดบ้างเล่าเรื่องเดิม เล่มไหนแต่งแปลงใหม่ตามเงื่อนไขสังคมที่เปลี่ยนไป หรือเขียนเลอะเทอะไม่รู้เรื่อง

อย่าลืมว่าเทพปกรณัม (Myth) ไม่เป็นความจริงทั้งนั้น (คือไม่ได้เกิดในโลกแห่งความจริง (Real World) ที่เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์”) ดังนั้น ไม่มีเทพปกรณัมฉบับที่ “ถูก” หรือฉบับที่ “ผิด” เทพปกรณัมอาจจะ 1. เกิดจากและสะท้อนภาพสังคมจริง 2. พยายามบิดเบือนสภาพสังคม หรือ 3. หรือ “เลอะเทอะ” ซึ่งต่างน่าสนใจและสำคัญพอ ๆ กัน (รวมทั้งข้อ 3) ที่อาจจะสะท้อน “ความเลอะเทอะ” ของสังคม แต่ผู้สนใจควรวิเคราะห์ดูก่อนว่าเทพปกรณัมที่เรากำลังศึกษาอยู่ในประเภทใดแน่ จะได้ไม่หลง

พระอินทร์เท่าที่เรารู้จักได้

นักวรรณกรรมเปรียบเทียบได้ศึกษาพระเวทเทียบเคียงกับเรื่องราวในคัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์แล้วได้ภาพพระอินทร์ดังนี้ 

จากพระฤคเวท เราทราบได้ว่าพระอินทร์แต่เดิมเป็น “ผู้นำนักรบฟ้า” ของเผ่าต่าง ๆ ที่พูดภาษาอินโด-ยุโรเปียนที่ยังไม่รู้จักเพาะปลูก แต่มีเศรษฐกิจอาศัยฝูงวัวและม้าเป็นสำคัญ พเนจรตามทุ่งหญ้าในที่ราบ ฤดูหนาว หนาวจัด และฤดูร้อนมีภัยแล้ง

ดังนั้น พระอินทร์ (องค์เดิม) ไม่ได้ครองอยู่บนยอดเขาที่หนึ่งที่ใด และไม่ได้เป็นราชา (King) ของเทพ แต่เป็นแม่ทัพ (War Leader) นำฝูงเทพผู้ปล้นอสูร สะท้อนสังคมยุคนั้นพอดี พระอินทร์ยังไม่รู้จักช้างเอราวัณ แต่ขี่ม้าเมื่อออกรบและขี่ปุยเมฆเมื่อให้ฝน อาวุธประจำตัวคือ “วัชระ” สายฟ้า ที่พ่อชื่อ “ตฺวัษฏฤ” สร้างให้

วีรกรรมที่สำคัญของพระอินทร์ในพระเวท คือการประหาร “วฤตระ” (จาก รากศัพท์ “วฤ” ที่แปลว่า “กักขัง” หรือ “ยับยั้ง”) ไม่มีใครรู้แน่ว่า วฤตระเป็นตัวอะไร แต่บางท่านเสนอว่าน่าจะหมายถึง “ปีศาจแห่งฤดูหนาว” ที่กักขังน้ำในแม่น้ำ ลำธารเป็นน้ำแข็งไม่ให้ไหล และยับยั้งฝนให้เป็นหิมะ ทำให้หญ้าเที่ยว ปศุสัตว์อดอยากไม่ให้นม หากมองจากมุมมองของคนในประเทศหนาวก็น่าจะเป็นไปได้ อย่าลืมว่าพระอินทร์มีวรรณะสีเขียว เหมาะจะเป็นเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิที่นำฝนฟ้าใหม่มามล้างแล้งแห่งฤดูหนาว ดัง Chauser (ค.ศ. 1340-1400) เขียนว่า

Whan that Aprille with his shoures sote The droghte of Marche hath perced to the rote…

“เมื่อเมษด้วยห่าฝนหวาน ได้แทงถึงรากแล้งมีน…”

(ในยุโรป เดือนมีนาคมยังเป็นหน้าหนาว เมษายนนำฝนอุ่นมาเร่งใบไม้และดอก)

เรื่องวฤตระนี้นำเราสู่พระอินทร์ในยุคต่อมาที่เผ่าบางเผ่าอพยพเข้ามาในอินเดีย ทำให้เปลี่ยนภูมิศาสตร์อย่างกะทันหัน และค่อย ๆ เปลี่ยนลักษณะสังคมโดยใช้เวลาเป็นพันปี

พระอินทร์ในตํานานปุราณะ

เมื่อเผ่าเหล่านี้พเนจรเข้ามาอยู่ในอินเดียเหนือ สิ่งแรกที่ท่านลืมคือ วฤตระคือใคร ท่านย่อมลืมว่าวฤตระเป็นปีศาจน้ำแข็ง เพราะในอินเดียน้ำแข็งไม่เป็นปัญหา ปัญหาใหม่ของเขาคือลมร้อนเดือนเมษายนที่ทำให้แผ่นดิน “ตาย” วฤตระ จึงกลายเป็น “ปีศาจฤดูร้อน” และพระอินทร์เป็นผู้ขับขี่เมฆฝนเข้ามาแก้ปัญหาด้วยพายุมรสุม มีฟ้าผ่าเป็นสำคัญราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผิดกับเมืองหนาวทางเหนือ แต่พระ อินทร์ยังมีวรรณะสีเขียว เพราะสีเขียวย่อมกลับมาพร้อมกับใบไม้และต้นกล้าต้นฤดูฝน

ชาวอารยันเริ่มอพยพเข้าไปในอินเดียราว 4,000-3,000 ปีก่อนปัจจุบัน แต่ไม่มี “ประวัติศาสตร์” ยุคนั้น เพราะไม่มีเอกสารร่วมสมัย และชาวพเนจรที่ใช้แต่ไม้กับหนังสัตว์ก็ย่อมทิ้งร่องรอยทางโบราณคดีน้อยมาก

การที่เผ่าเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “อารยัน” ทำให้คนโดยมากมักเข้าใจผิดว่า “ชาวอารยัน” นำ “อารยธรรม” (Civilization) เข้าไปในอินเดีย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเขายังเป็นเผ่าพเนจรที่จัดตั้งสังคมแบบบุพกาลที่ไม่มีอะไร “เจริญ” ในสายตาคนสมัยหลัง อินเดียเพิ่งเริ่มมีอารยธรรมหรือศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงหลังจากที่ชาว “อารยัน” ประสมประสานกับคนพื้นเมืองเดิมเสียแล้ว (ราวสมัยพุทธกาลถึงราว พ.ศ. 1000 ที่อินเดียสะพรั่งด้วยปรัชญา ศิลปะ-สถาปัตยกรรม และวิทยาศาสตร์)

ประวัติการประสมประสานระหว่างชาวอารยันกับชาวพื้นเมืองเดิมนั้น ไม่มีใครเขียนได้ เพราะไม่มีหลักฐานชั้นเอก อย่างไรก็ตาม เราพอสันนิษฐานได้ว่า 1. จะต้องมีการประสานอย่างสันติ เช่น ค้าขายและแต่งงานกัน และ 2. จะต้องมีการขัดแย้งสู้รบกัน ทั้งนี้เป็นธรรมดามนุษย์ที่เกิดขึ้นทั่วไป ไม่มียกเว้น

ผมขอเสนอว่า เรื่องราวของพระอินทร์ที่ปรากฏในเอกสารชั้นหลัง (คัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ต่าง ๆ) อาจจะช่วยให้เราเข้าใจระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงที่สับสนและซับซ้อนให้ดีขึ้น พระอินทร์ในวรรณกรรมชั้นหลังนี้มีทั้งเลื่อนฐานะให้สูงขึ้น และมีการลบหลู่ให้ตกต่ำ

ภาพวาดพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

พระอินทร์เลื่อนฐานะ

ในคัมภีร์ปุราณะ พระอินทร์ไม่เพียงเป็น “ผู้นำนักรบสวรรค์” ดังเป็นในพระฤคเวท แต่กลายเป็น “พระมหาจักรพรรดิ” ที่ครองราชย์ในไวชยันตะมหาปราสาทบนยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล ทั้งนี้น่าจะหมายความว่า ชาวอารยันเลิกเป็นเผ่าแล้วเริ่มตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง มีชนชั้น มีเจ้าของที่ดินแทนถือทรัพย์รวม (Primitive Communism) และมี “พระมหากษัตริย์” (King) ปกครองแทนสภาผู้เฒ่าของ เผ่า (Primitive Democracy) พระอินทร์ในคัมภีร์ปุราณะและมหากาพย์ก็เป็นตัวอย่างหรือสัญลักษณ์ของ “พระมหากษัตริย์” ในสังคมใหม่ คือสังคมเมือง

ในคัมภีร์ปุราณะ พระอินทร์ยังมีบทบาทสู้รบกับบรรดา “อสูร” ซึ่งอาจจะเป็นการจำเรื่องเก่าจากสมัยพระเวท หรือสะท้อนความขัดแย้งกันใหม่ระหว่างชาวอารยันกับคนพื้นเมืองเดิมของอินเดีย

พระอินทร์เสื่อมยศ

ในสมัยพุทธกาลชาวพุทธยังสามารถอ้างพระอินทร์ว่า เป็นเทพารักษ์ของพระศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน สังคมกำลังเปลี่ยนไป และพระอินทร์กำลังหมดความสำคัญในสายตาพราหมณ์ (ฮินดู) พระผู้เป็นเจ้าองค์อื่น เช่น พระอิศวร-พระนารายณ์ กำลังขึ้นเป็นใหญ่แทน ดังนั้น หลังพุทธกาลไม่นานนัก เริ่มมีเทพนิยายที่ลบหลู่พระอินทร์ เช่น 

ในคัมภีร์ศตปถพราหมณะ พระอินทร์แอบไปลอบสังวาสกับนางอหัลยา (ไทยว่านางกาละอจนา) จนเกิด พระยาวานรชื่อพาลี พระฤาษีจับได้จึงสาปให้พระอินทร์หมดสมรรถภาพทางเพศ และมีเครื่องหมาย “โยนี” เต็มองค์ (รอยกามโรคออก “ดอก”?)

ในรามายณะ พระยายักษ์ชื่อเมฆนาท ลูกของทศกัณฐ์ สู้รบกับพระอินทร์จนมีชัยชนะ จึงได้ชื่อว่าอินทรชิต และได้ช้างเอราวัณมาเป็นพาหนะ

ในภาควตปุราณะ พระกฤษณะชวนพวกโคบาลให้เลิกสังเวยพระอินทร์ พระอินทร์ส่งฝนห่าใหญ่มล้างแดนวฤนทาวัน แต่พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะเป็นร่มป้องกันแผ่นดิน พระอินทร์จึงพ่ายแพ้

บทสรุป

บทความนี้ได้เพียงรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระอินทร์แบบคร่าวๆ เบื้องต้นน่าจะมีความที่น่าสนใจและสำคัญกว่านี้อีกมากมาย ซึ่งท่านผู้อื่นควรเป็นธุระรวบรวมและวิเคราะห์ให้ลึก

ท่านผู้อ่านคงสังเกตว่า พระอินทร์ “เติบโต” และ “ชราลง” ตามวิวัฒนาการของสังคม ดังนั้น ตำนานเทพนิยายไม่ได้เป็น “เทพนิพนธ์” ที่สวรรค์ประทานลงมาสู่โลก หากเป็นเรื่องที่มนุษย์แต่งขึ้นมาเพื่ออธิบายสภาพสังคมและความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้

ตํานานไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ แต่หากนักปราชญ์สามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ตำนานก็อาจจะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “พระอินทร์” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2563