ผู้เขียน | ธนพล หยิบจันทร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สรุปประเด็นข้อเสนอ คติ พระอินทร์ และ “ศีรษะแห่งแผ่นดิน” ใน “มัชฌิมประเทศ” กลาง “ชมพูทวีป” ในหนังสือ การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 ของ ชาตรี ประกิตนนทการ
งานศึกษากระแสหลักส่วนใหญ่มักอธิบายว่า การสร้างรัฐในสมัยรัตนโกสินทร์ คือการลอกเลียนแบบอยุธยา ซึ่งงานเขียนชุดนี้ของ ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ปฏิเสธและนำเสนอว่า ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นเป็นการนำมาเเต่ “รูปแบบ” แต่ “เนื้อหา” นั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 นั้นไม่เพียงแต่ความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น อาทิ ความเสียหายของพระราชวัง วัด บ้าน เป็นต้น แต่นำไปสู่ความเสียหายทางจักรวาลทัศน์ของชนชั้นนำของอยุธยาอย่างรุนแรง ขนาดที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อนแบบนี้ในสมัยอยุธยา เมื่อจักวาลวิทยาแบบเก่าพังพินาศลง จึงเป็นผลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างจักรวาลทัศน์ (อุดมการณ์) ชุดใหม่ขึ้นมา โดยสะท้อนออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงงานสถาปัตยกรรมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อีกด้วย
คติพระรามสู่พระอินทร์ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้กล่าวว่า ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์คติเกี่ยวกับพระอินทร์ได้ถูกขับเน้นออกมาอย่างเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าในสมัยอยุธยาจะมีการกล่าวถึงพระอินทร์อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เด่นชัดเท่าในสมัยนี้ โดยอาจารย์ชาตรีได้อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) นั้นไม่มีสถานะชาติกำเนิดและสิทธิอันชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ตามแบบอยุธยาที่เคยปฎิบัติมาก่อน กล่าวคือ รัชกาลที่ 1 เป็นเพียงสามัญชนที่รับตำแหน่งขุนนางเล็ก ๆ ในสมัยอยุธยา ซึ่งนำไปสู่การโยงสถานะพระอินทร์ตามประวัติในพุทธศาสนาที่มิได้มีชาติกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน แต่ต่อมาได้เป็นผู้ปกครองในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ฉะนั้น คติพระอินทร์จึงถูกเน้นเป็นพิเศษในรัชสมัยนี้ อาทิ หน้าบันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ส่วนใหญ่เป็นพระอินทร์ทรงช้างมากกว่าพระนารายณ์ทรงครุฑ (คติพระราม) หรือ การเน้นพระแก้วมรกต (ที่มีตำนานเชื่อมโยงกับพระอินทร์) เป็นต้น
แม้แต่ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) คติพระอินทร์ก็ได้ถูกย้ำความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในรัชสมัยนี้ อย่างเช่น พระองค์ได้พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 3 องค์ใหม่ให้เกี่ยวข้องกับพระอินทร์โดยตรง คือ พระที่นั่งจักพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงการเน้นเกี่ยวกับคติพระอินทร์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ศีรษะแผ่นดิน (กล่าวคร่าว ๆ สามารถอ่านข้อมูลเต็มได้ในหนังสือการเมืองไทยในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1) กล่าวคือ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 นั้นได้ให้ภาพว่า อยุธยาพังพินาศลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเปรียบได้ดั่งไฟประลัยกัลป์ที่เผาทำลายโลกและจักวาล ซึ่งในคัมภีร์พุทธศาสนาไตรภูมิโลกวินิจฉยกถาได้กล่าวว่า เมื่อกำเนิดโลกใหม่สิ่งเเรกที่เกิดคือ “ศีรษะของแผ่นดิน” นั้น คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าจะมาประทับเป็นโพธิบัลลังก์
ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) จึงต้องการให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเหมือนศูนย์กลางของจักวาล จึงได้จำลองให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นดั่งชมพูทวีป (ทวีปเดียวที่จะมีพระพุทธเจ้ามาประสูติ) เห็นจากการจำลองให้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นศูนย์กลางของจักวาลใหม่นั้นคือ จักวาลแบบ “พุทธราชา” มิใช่ “เทวราชา” แบบสมัยอยุธยา อย่างเช่น
- การเปลี่ยนศูนย์กลางของวัดจากจุดเน้นที่วิหาร/พระปราง (เทวราชา) สู่การเน้นความสำคัญของตัวพระอุโบสถที่มีระเบียงคดล้อมรอบ (ธรรมราชา)
- การเปลี่ยนพระพุทธรูปจากปางมารวิชัยสู่พระพุทธรูปปางสมาธิเพื่อสอดคอดกับคติศีรษะแผ่นดินที่สอดรับกับสัตตมหาสถาน (โพธิบัลลังก์)
- ผังของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามสอดรับกับคติศรีษะแผ่นดินเป็นอย่างมาก อาทิ โพธิบัลลังก์ (พระประธานในอุโบสถ) สัตตมหาสถาน (พระวิหารทิศตะวันตกที่มีพระนาคปรกแทนความหมายสัปดาห์ที่ 6 / อัฐมหาสถาน (พระป่าเลไลย์) / มหานครใหญ่ ชนบทนคร (ระเบียงล้อมรอบ 2 ชั้น) / ป่าหิมพานธ์ (พระเจดีย์หย่อม) เป็นต้น
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์ในการเห็นถึงอำนาจทางการเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีผลต่อการสร้างสรรค์ของสถาปัตยกรรม และหนังสือเล่มนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้คิดเกิดข้อถกเถียงต่าง ๆ อย่างมากมายในการตีความต่าง ๆ ที่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อีกด้วย ซึ่งอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดประเด็นใหม่ ๆ ในการศึกษาประวัติศาสตร์ในกาลต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย
- ความนัยของการสร้างกรุงเทพฯ ตามคติพระอินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1
- พระอินทร์ : บทบาทในพุทธประวัติ
อ้างอิง :
ชาตรี ประกิตนนทการ. (2558). การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2564