พระอินทร์ : บทบาทในพุทธประวัติ

พระอินทร์หรือท้าวสักกะ คือเทวราชผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ มีปราสาทไพชยนต์หรือเวชยันตปราสาทเป็นที่ประทับ มีเวชยันตราชรถเป็นรถทรง สารถีคือมาตลีเทพบุตร มีช้างทรงชื่อว่าไอยราพตหรือช้างเอราวัณ และมีม้าทรงสีขาวชื่อว่าอุจไฉศรพ อาวุธของพระอินทร์คือวชิราวุธหรือสายฟ้า พระขรรค์ ศร สังข์ และกลอง

พระอินทร์มีพระวรกายสูงใหญ่ถึง 6,000 วา มี พระฉวีสีเขียว ซึ่งบางคัมภีร์ก็ว่ามีพระฉวีสีทองสุกปลั่ง เมื่อทรงปรากฏกายขึ้นที่ใด ที่นั้นจะเกิดแสงสว่างจากพระรัศมีของพระองค์ มีพระมเหสี 4 นางคือ สุธรรมา สุชาดา สุนันทา และสุจิตรา และมีพระธิดา 4 นางเช่น กันคือ อาสา สัทธา หิริ และสิริ

บทบาทของพระอินทร์ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นในทศชาติชาดก พุทธประวัติ ไตรภูมิ หรือในวรรณกรรมไทยหลายเรื่อง จะมีลักษณะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือผู้แก้ไขสถานการณ์ให้แก่ตัวนำของเรื่อง สำหรับบทบาทในพุทธประวัตินั้น มีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน กล่าวคือ

ทรงมีบทบาทในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ นั่นคือเป็นผู้ทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์คราวที่เสวยพระชาติ เป็นท้าวสันดุสิตเทวราชให้จุติลงสู่พระครรภ์พุทธมารดา

ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระอินทร์พร้อมมวลหมู่เทพยดาทั้งหลาย ถือคบเพลิงอันเป็นทิพย์แวดล้อมส่องทางให้พระองค์ แต่ในภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่ที่ปรากฏในฝาผนังพระอุโบสถจะเป็นภาพพระอินทร์ทรงจูงม้ากัณฐกะนำหน้าเจ้าชายสิทธัตถะ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเกศาคราวที่ออกผนวชนั้น พระอินทร์ทรงนำผอบแก้วมารองรับพระเมาลีและผ้าโพกพระเศียร เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่พระเจดีย์จุฬามณี

จิตรกรรมพระพุทธเจ้าโปรดพระราชบิดา จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (ภาพจาก หนังสือ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรมศิลปกร พ.ศ. 2557)

บทบาทที่สำคัญยิ่งของพระอินทร์ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระสิทธัตถะทรงพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยา หรืออัตตกิลมถานุโยค ด้วยการทรมานตนต่าง ๆ เช่น การกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร ที่ทรงดำเนินมานั้น มิใช่หนทางสู่การบรรลุพระโพธิญาณได้ ทรงปริวิตกว่าควรปฏิบัติไปในทางใด พระอินทร์จึงทรงนำพิณทิพย์สามสายเสด็จลงมาดีดถวาย สายที่ 1 ตึงมากดีดก็ขาด สายที่ 2 หย่อนเกินไปดีดก็ไม่ได้ยิน สายที่ 3 ซึ่งกำลังดี เมื่อดีดก็มีเสียงไพเราะ ทั้งนี้เพื่อให้พระสิทธัตถะทรงมีแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ นั่นคือการเดินสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

ในเพลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ นางสุชาดา ธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้กวนข้าวปายาสเพื่อถวายแด่พระมหาบุรุษนั้น พระอินทร์ได้เสด็จลงมาช่วยก่อไฟใส่ฟืน

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงชนะมารและตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณได้สำเร็จนั้น พระอินทร์พร้อมทั้งเทพยดาและหมู่พรหมเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันแซ่ซ้องสรรเสริญแสดงความยินดีที่พระมหาบุรุษทรงประสบความสำเร็จในการบรรลุพระโพธิญาณ

พระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ได้เสวยวิมุตติสุขหรือสุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์เป็นเวลา 7 สัปดาห์ด้วยกัน ซึ่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้านั้น พระอินทร์ทรงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถลงมาถวาย รวมทั้งถวายไม้ชำระพระทนต์และน้ำบ้วนพระโอษฐ์จากสระอโนดาตแด่พระพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วทรงใช้เวลาในการพิจารณาธรรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ หรือในช่วงเสวยวิมุตติสุข ทรงทราบด้วยพระญาณว่าธรรมนี้เป็นสิ่งละเอียดอ่อน ยากยิ่งที่จะเข้าใจได้ง่าย จึงไม่ทรงคิดที่จะแสดงธรรม แต่ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาให้เสด็จออกแสดงธรรม เนื่องจากยังมีมหาชนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความพร้อมในการเรียนรู้พระธรรม ในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระอินทร์ร่วมกับเทพยดาทั้งหลาย ตลอดจนนักสิทธิ์วิทยาธร ยักษ์ ครุฑ ทรงตามเสด็จท้าวสหัมบดีพรหม เพื่อกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา โปรดเวไนยสัตว์ทั้งปวง หลังจากนั้นยังทรงร่วมฟังปฐมเทศนากับพระปัญจวัคคีย์ด้วย

ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ตำบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น พระอินทร์เสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ เพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงซักผ้าบังสุกุลจีวรที่ห่อศพนางปุณณทาสี หลังจากนั้นได้นำแผ่นศิลาไปถวาย เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงขยำผ้าบังสุกุลจนหมดกลิ่นอสุภ รวมทั้งถวายแผ่นศิลาขนาดใหญ่สำหรับแผ่พับผ้าบังสุกุลจีวรด้วย

ในการแสดงยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี พระอินทร์ทรงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับพวกเดียรถีย์ โดยทรงมีบัญชาให้วาตวลาหกเทพบุตรบันดาลให้เกิดพายุพัดทำลายมณฑป ให้สุริยเทพบุตรเปล่งแสงแรงกล้า เพื่อทำให้พวกเดียรถีย์ร้อนกระวนกระวาย ในเพลาเที่ยงวัน และให้วาตวลาหกพัดพาฝุ่นธุลีไปเกาะติดตามร่างกายที่อาบไปด้วยเหงื่อ ไคล หลังจากนั้นทรงบันดาลให้ฝนเม็ดใหญ่ตกลงมาถูกร่างกายของพวกเดียรถีย์ที่เต็มไปด้วยฝุ่นผงธุลีเกาะติดอยู่จนเกิดเป็นลายด่างพร้อย

พระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในสมุดภาพไตรภูมิ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี)

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดานั้น พระอินทร์เป็นผู้เสด็จขึ้นไปอัญเชิญพุทธมารดาให้เสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาเฝ้าพระพุทธองค์ และยังทรงร่วมสดับพระธรรมเทศนาด้วย

หลังการเสด็จโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์ทรงนำเสด็จพระพุทธเจ้า ลงทางบันไดทอง พระหัตถ์ประคองบาตรเสลมัยของพระพุทธเจ้า แต่ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏ มักวาดเป็นพระอินทร์ทรงเป่าสังข์

หลังการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ ในระหว่างการทำพิธีแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น พระอินทร์ทรงทราบด้วยทิพยจักษุญาณว่า โทณพราหมณ์หรือพราหมณ์ผู้ใหญ่ ซึ่งมีฐานะเป็นครูอาจารย์ และเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นจำนวนมากในชมพูทวีป เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการระงับกรณีพิพาทเรื่องการแย่งชิงพระ บรมสารีริกธาตุ และเป็นผู้แบ่ง พระบรมสารีริกธาตุให้ำาเร็จลง ได้ด้วยสันติวิธีนั้น ได้ลอบหยิบ

พระทักษิณทาฒธาตุเบื้องบน หรือพระเขี้ยวแก้วข้างขวาด้านบน ไปซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ พระอินทร์จึงทรงเหาะลงไป หยิบพระธาตุที่โทณพราหมณ์แอบซ่อนไว้ และนำไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า พระอินทร์ทรงเป็นเทพยดาที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในพุทธประวัติหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นจุดหักเหที่สำคัญ ๆ ของวงการพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่การอุบัติของพระพุทธองค์ การเสด็จออกบรรพชา การตรัสรู้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตลอดจนการรักษาพระบรมสารีริกธาตุมิให้ถูกยักยอกไปอย่างไม่ถูกต้อง โดยผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่นั้นเสียเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพร. ปฐมสมโพธิกถา, กรุงเทพฯ : วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์, 2530.

ราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พระ. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2527.

สนธิวรรณ อินทรลิบ, อภิธานศัพท์จิตรกรรมไทยเนื่องในพระพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2536.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2565