ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ภาษาจีนกลาง เป็นภาษากลางและภาษาราชการของประเทศจีน แต่ชาวตะวันตกเรียกว่า ภาษาแมนดาริน (Mandarin Language)
คำว่า “แมนดาริน” มาจากไหน? ทำไมชาวตะวันตกจึงเรียกภาษาจีนกลางว่า “ภาษาแมนดาริน”?
อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยเขียนอธิบายไว้ในบทความชื่อ “ภาษาจีน : เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ว่า
“แมนดาริน” มีรากเหง้ามาจากคำสันสกฤตว่า มนฺตฺริน (มันตริน) ภาษาบาลีว่า “มนตรี” แปลว่าขุนนางที่ปรึกษา โปรตุเกสรับคำนี้ผ่านภาษาฮินดีไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ยุคพระสุริโยทัยสมัยกรุงศรีอยุธยา) แล้วกลายเสียงเป็นแมนดาริน หมายถึงขุนนาง ต่อมาชาวตะวันตกใช้คำนี้เรียกขุนนางและภาษาราชการของจีน

มีหลักฐานทางหนึ่งว่า Georgh McCatney ทูตชาวอังกฤษเป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2336 เนื่องจากเขาเห็นว่าภาษาราชการของราชวงศ์ชิงต่างจากภาษาทั่ว ๆ ไป จึงเอาคำว่า mandate-คำสั่ง รวมกับคำว่า rin ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า ren-คน (ในภาษาจีนกลาง) รวมกันเป็น Mandarin หมายถึงการสั่งราชการของจีน
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า “แมนดาริน” มาจากภาษาจีนกลางว่า “หม่านต้านเหริน” ( 滿大人) หมายถึงขุนนางแมนจู แล้วกลายเสียงเป็น Mandarin อีกที ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป