รู้หรือไม่? ซีรีส์จีน-ภาพยนตร์จีน ฯลฯ ทำไมต้องมีซับไตเติลภาษาจีน

ซับไตเติลภาษาจีน ใน ซีรีส์จีน
ซับไตเติลภาษาจีน ในซีรีส์จีน (ภาพประกอบจาก Official Trailer: One And Only | 周生如故 | iQiyi ช่อง youtube QIYI 爱奇艺)

เคยสังเกตไหมว่า ซีรีส์จีน, ภาพยนตร์จีน, รายการสารคดี, รายการเพลง ฯลฯ ของจีน จะมี ซับไตเติลภาษาจีน หรือคำบรรยายภาษาจีน ขณะที่รายการแบบเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ทั้งอเมริกา, ยุโรป, เกาหลี, อินเดีย ฯลฯ กลับไม่มีซับไตเติลภาษาของชาติตนกำกับ

แล้วทำไม ซีรีส์จีน ภาพยนตร์จีน ฯลฯ ต้องมี ซับไตเติลภาษาจีน?

Advertisement

นั่นเพราะประเทศที่มีพื้นที่ 9.6 ล้าน ตร.กม. มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เป็นชาวฮั่นประมาณ 1,200 ล้านคน ที่เหลืออีกประมาณ 100 ล้านคน เป็นชนชาติส่วนน้อยจาก 55 เผ่า ภาษาที่ใช้จึงหลากหลาย เป็นอุปสรรคหนึ่งในการสื่อสาร

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 ทางการจีนตั้งคณะทำงานเก็บตัวอย่างภาษาจากพื้นที่ 1,849 แห่งทั่วประเทศมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ สรุปเป็นภาษาถิ่น 7 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. ภาษาจีนกลาง 2. ภาษาอู๋ 3. ภาษาเซียง 4. ภาษาก้าน 5. ภาษาแคะ 6. ภาษาเยว่ (ภาษากวางตุ้ง) 7. ภาษาหมิ่น (ภาษาฮกเกี้ยน, ภาษาแต้จิ๋ว, ภาษาไหหลำ อยู่ในกลุ่มนี้) ซึ่งภาษาถิ่นทั้ง 7 นี้ไม่สามารถพูดสื่อสารกันเข้าใจ

ในที่นี้ขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะบางรายการที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับสังคมไทยคือ ภาษาจีนกลาง, ภาษาแคะ, ภาษาเยว่ และภาษาหมิ่น

ภาษาจีนกลาง

ภาษาจีนกลาง (ภาษาแมนดาริน) หรือภาษาราชการ มีผู้ใช้ราว 70% หรือ 800 กว่าล้านคน ภาษาจีนกลางยังแบ่งออกเป็น 4 ถิ่นย่อย คือ

1.1 ถิ่นเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ พูดกันในปักกิ่ง, เทียนสิน (เทียนจิน), มณฑลเหอเป่ย, เหอหนาน, ซานตง, ตอนเหนือของมณฑลอานฮุย, มณฑลเหลียวหนิง, มณฑลจี๋หลิน, มณฑลเฮยหลงเจียง และมองโกเลียในบางส่วน

1.2 ถิ่นตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ในมณฑลต่างๆ ได้แก่ ซานซี, ส่านซี, กานซู, ชิงไห่, หนิงเซี่ย และบางส่วนของมองโกเลียใน

1.3 ถิ่นตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พื้นที่มณฑลเสฉวน, ยูนนาน, กุ้ยโจว, พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลหูเป่ย, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของหูหนาน และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกวางสี

1.4 ถิ่นตะวันออก มณฑลอานฮุย (ยกเว้นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้), เซียงซู (ฝั่งเหนือแม่น้ำแยงซีเกือบทั้งหมด) และบางส่วนของฝั่งใต้ที่มีนานกิงเป็นศูนย์กลาง

ภาษาจีนกลางทั้ง 4 ถิ่นย่อย สามารถพูดสื่อสารกันเข้าใจ แตกต่างกันที่สำเนียงใช้พูด

ภาษาแคะ หรือ ภาษาฮากกา

ภาษาที่คนแคะ (ฮากกา) ใช้ มีศูนย์กลางอยู่ที่พื้นที่บางส่วนของภาคกลาง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง, ภาคใต้ของมณฑลเจียงซู และภาคตะวันตกของมณฑลฮกเกี้ยน (ฟูเจี้ยน) ซึ่งแบ่งเป็นภาษาแคะลึก (แคะแท้) และแคะตื้น (แคะผสมจีนอื่น) มีผู้ใช้ประมาณ 65 ล้านคน ในโพ้นทะเลราว 5 ล้านคน รวมทั่วโลก 70 ล้านคน

ภาษาเยว่ หรือ ภาษากวางตุ้ง

แม้ชื่อจะซ้ำกับชื่อมณฑล แต่ประชากรในมณฑลกวางตุ้งที่ใช้ภาษานี้จะอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลัก (คนแต้จิ๋วที่อยู่ในภาคตะวันออกของมณฑลไม่ได้ใช้ภาษานี้) นอกจากนี้ก็มีการใช้ในฮ่องกง, มาเก๊า, เกาลูน และภาคตะวันออกกับภาคใต้ของมณฑลกวางสี ในประเทศจีนมีผู้ใช้ภาษากวางตุ้งประมาณ 60 ล้านคน ในโพ้นทะเลประมาณ 15-20 ล้านคน รวมทั่วโลกราว 80 คน

ภาษาหมิ่น

ส่วนใหญ่ใช้กันในมณฑลฮกเกี้ยน, ไต้หวัน, ภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง (ในเขตแต้จิ๋ว), มณฑลไหหลำ, ตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง ภาษาหมิ่นยังแบ่งเป็นภาษาถิ่นรองอีก 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาหมิ่นเหนือ, ภาษาหมิ่นกลาง, ภาษาหมิ่นตะวันออก, ภาษาผู่เซียน และภาษาหมิ่นใต้

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะภาษาหมิ่นใต้ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นรองที่มีการใช้กว้างขวางที่สุดในกลุ่ม ภาษาหมิ่นใต้ยังแบ่งย่อยออกเป็น  3 ถิ่นย่อย ดังนี้

ภาษาฮกเกี้ยน ใช้กันในพื้นที่ 3 จังหวัดตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน (คือ ฉวนโจว, เอ้หมึง (เซี่ยเหมิน), จางโจว), ไต้หวัน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย (หลักๆ จะอยู่ที่ภาคใต้ของไทย) ในประเทศจีนมีผู้พูดภาษาฮกเกี้ยนประมาณ 20 ล้านคน, ไต้หวัน 18 ล้านคน, โพ้นทะเล 5 ล้าน รวมทั้งหมด 43 ล้านคน

ภาษาแต้จิ๋ว การใช้หลักๆ อยู่ที่เมืองแต้จิ๋ว, จังหวัดซัวบ้วย (ซ่านเหว่ย) มีผู้ใช้ประมาณ 13 ล้านคน นอกจากนี้จะมีการใช้ในเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง กว่างโจว ไต้หวัน เซินเจิ้น ไหหลำ และเมืองอื่นๆ ประมาณ 5 ล้านคน ในโพ้นทะเลประมาณ 2 ล้านคน รวมทั้งหมด 20 ล้านคน

ภาษาไหหลำ ประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลไหหลำ (หรือเกาะไหหลำ) และแหลมเหลยโจว (ลุ่ยเจา) ของมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ตรงข้ามเกาะไหหลำ มีผู้ใช้ภาษาไหหลำประมาณ 5 ล้านคน ในโพ้นทะเล 1 ล้านคน รวมทั้งหมด 6 ล้านคน

ไม่แต่เพียงภาษาถิ่นทั้ง 7 ถิ่นใหญ่ที่ไม่สามารถสื่อสารกันเข้าใจ ในภาษาถิ่นย่อย เช่น ภาษาหมิ่นที่แยกเป็นภาษาถิ่นย่อย 5 ภาษาก็สื่อสารกันไม่ได้เช่นกัน แม้ตัวหนังสือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นตัวเดียวกัน แต่เสียงที่ออกอาจต่างกัน (มีตั้งแต่ต่างเล็กน้อย ถึงต่างมากจนเดาไม่ถูก)

การมีซับไตเติลภาษาจีน จึงทำให้คนจีนทั้งประเทศและโพ้นทะเลเข้าใจเรื่องที่นำเสนอได้ตรงกัน เพราะซับไตเติลที่ใช้ยึดหลักไวยากรณ์และศัพท์ตามภาษาจีนกลางเป็นหลัก ถ้านางเอกในเรื่องกำลังผัดเต้าหู้ แต่ภาษาถิ่นอาจเรียกเป็นอย่างอื่น เมื่อเห็นตัวหนังสือและภาพตรงหน้า ก็จะเข้าใจตรงกัน และยังเข้าใจภาษาถิ่นของเพื่อนบ้านมณฑลข้างๆ จากสัญญาณทีวีสถานีท้องถิ่นที่รับได้อีกด้วย

การสื่อสารของคนจีนจึงง่ายขึ้น ด้วยซับไตเติล หรือคำบรรยายที่เป็นภาษาจีนกลาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. “ภาษาจีน : เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566