เปิดชีวิตอาจารย์ชาวไทยวัย 77 ผู้เป็นที่เคารพรักของนศ.ที่จีน แม้ฟังภาษาจีนไม่เข้าใจ

ผศ. เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา ขณะสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งในกรุงปักกิ่งของจีน (ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์/สำนักข่าวซินหัว)

สำหรับผู้มาเยือนมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (BFSU) หากจังหวะประจวบเหมาะอาจจะได้เดินสวนกับหญิงสูงวัย ร่างเล็ก ผมสีดอกเลา เจ้าของดวงตาคู่เล็กและรอยยิ้มใจดี หญิงท่านนี้คืออาจารย์ชาวไทยผู้ได้รับการขนานนามว่า “คุณย่าไว่เจี้ยว” (คุณย่าผู้เป็นอาจารย์ต่างชาติ)

“ฉันฟังภาษาจีนไม่เข้าใจ ฉันเป็นคนไทยจ้ะ” เป็นคำตอบที่ผู้ถามมักได้รับกลับมาเมื่อพยายามสร้างบทสนทนาด้วยภาษาจีนกับ “ผศ. เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา” อาจารย์สูงอายุวัย 77 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ซึ่งมีประสบการณ์สอนภาษาไทยในประเทศจีนมานานกว่า 20 ปี

ผศ. เกื้อพันธุ์ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเคยเดินทางมาสอนหนังสือที่ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยฯ หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 1992 และตัดสินใจสอนภาษาไทยในจีนเรื่อยมาหลังจากเกษียณอายุงานเมื่อปี 2005 จนลูกศิษย์ลูกหาต่างยกย่องให้ท่านเป็นดัง “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ของวงการการสอนภาษาไทยในประเทศจีน

ผศ. เกื้อพันธุ์ไม่เข้าใจภาษาจีน ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ อาวุธคู่กายในการสอนของท่านมีเพียงแค่ “ชอล์ก” กับ “กระดานดำ”

ส่วนการสื่อสารกับนักศึกษาในชีวิตประจำวัน ท่านอาศัยการพูดคุยแบบเจอหน้าและใช้โทรศัพท์บ้านเท่านั้น อาจารย์สูงอายุผู้มีนิสัยถ่อมตน สมถะ เรียบง่าย และตั้งใจจริงท่านนี้ คือผู้ที่อบรมบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยจำนวนมากให้กับวงการการศึกษา การทูต การค้า และสื่อสารมวลชน นับเป็นผู้มีคุณูปการต่อการสานสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับไทย

อาจารย์จากแดนไกล ทำงานได้แม้ไม่เข้าใจภาษาจีน

ปี 2022 นี้นับเป็นปีที่ 30 แล้วที่ผศ. เกื้อพันธุ์มีความผูกพันกับประเทศจีน “ปักกิ่งเป็นเหมือนบ้านเกิดหลังที่ 2 ของดิฉัน และดิฉันตั้งใจจะทำงานที่นี่เป็นแห่งสุดท้าย” ท่านกล่าวพร้อมเผยว่าเวลากลับมาถึงห้องพักก็จะรู้สึกเหมือนกลับมาบ้าน

เมื่อวันจันทร์ (28 ก.พ.) นับเป็นวันแรกของการสอนในภาคการศึกษาใหม่ ผศ. เกื้อพันธุ์ตื่นนอนตั้งแต่ตีสามและสอนช่วงเช้าติดต่อกัน 4 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก แต่ท่านกลับบอกว่าต่อให้ไม่ได้ดื่มน้ำเลยสักอึกเดียวก็ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะรักการสอนหนังสือมาก

“ซานเยว่อีเฮ่าเต้าเป่ยจิงไหล” คือประโยคภาษาจีนที่ผศ. เกื้อพันธุ์จำได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ โดยมีความหมายว่า “ฉันมาถึงปักกิ่งวันที่ 1 มีนาคม” ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ดิฉันยังจำได้ดี ตอนเดินทางมาถึงปักกิ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาวแล้ว ซึ่งอากาศยังหนาวกว่าช่วงที่หนาวที่สุดของเชียงใหม่มาก แต่เพื่อนชาวจีนเขาบอกว่าตอนนี้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิแล้ว”

จากเชียงใหม่ถึงปักกิ่ง คิดเป็นระยะทางเกือบ 3,000 กิโลเมตร นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผศ. เกื้อพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 47 ปี “กลัวก็กลัวนะ ที่กลัวเพราะไม่เคยคิดจะออกนอกประเทศนอกจากเที่ยว เพราะฉะนั้น กินก็ไม่ได้ นอนไม่หลับ ผอมลงๆ”

แต่ถึงกระนั้นความวิตกกังวลใดๆ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อหัวใจที่รักในการสอนและความรับผิดชอบที่มีต่อนักศึกษา ผศ. เกื้อพันธุ์ ผู้ตั้งฉายาให้ตนเองว่า “อาจารย์โลว์เทค” จึงตั้งใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เช่น เรียนภาษาจีนไม่ทันก็เรียนพินอินแทน สื่อสารกับนักศึกษาไม่เข้าใจก็ใช้ภาษาอังกฤษและหน้าตาท่าทางเข้าช่วย เป็นต้น

ผศ. เกื้อพันธุ์เล่าว่าท่านประสบปัญหาหลายอย่างอย่างเลี่ยงไม่ได้ตอนมาถึงปักกิ่งครั้งแรก ซึ่งรวมทั้งอุปสรรคทางภาษา แต่โชคดีที่มีคนคอยยื่นมือช่วยเหลือท่านอยู่เสมอ “ที่ดิฉันอยู่มาได้หลายปีขนาดนี้ ต้องขอบคุณคณาจารย์และลูกศิษย์ที่คอยช่วยเหลือ”

ผศ. เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา (ภาพจาก สำนักข่าวซินหัว)

ไม่หยุดสอนแม้เกษียณ

หลังจากเกษียณในปี 2005 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ชักชวนให้ผศ. เกื้อพันธุ์ สอนหนังสือในจีนต่อไป ท่านจึงตอบตกลงไปแม้ขณะนั้นกำลังเศร้าเสียใจกับการจากไปของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด “ดิฉันสัญญากับพ่อแม่ว่าเกษียณแล้วจะไปอยู่กับพวกท่าน แต่พอท่านทั้งสองจากไปแล้ว ดิฉันก็ไม่มีที่ไป อยู่ก็ไม่เป็นสุข ไม่อยู่เสียเลยดีกว่า ก็เลยมาที่นี่”

ในสายตาของนักศึกษา ผศ. เกื้อพันธุ์เปรียบเสมือน “เครื่องจักรนิรันดร์” เพราะท่านมักมาถึงห้องเรียนเร็วกว่าเด็กเสมอ ทั้งยังสามารถสอนหนังสือแบบไม่หยุดพักตลอด 2 ชั่วโมง และถึงแม้จะไม่ใช่เวลาเรียนหรือค่ำมืดแค่ไหน ท่านก็ยินดีจะสละเวลาส่วนตัวมาติวให้ เพราะต้องการให้เด็กๆ เรียนรู้และพูดภาษาไทยได้ไวและเก่งขึ้น และเป็นเช่นนี้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา “เวลาของครูไม่ค่อยสำคัญ ถ้าสอนแล้วเด็กๆได้ ครูก็ดีใจด้วย”

มีครั้งหนึ่งที่นักศึกษาเคยพูดติดตลกว่า “อาคารเรียนของภาควิชาภาษาไทยมีสองแห่ง แห่งแรกคืออาคารเรียนในมหาวิทยาลัย แห่งที่สองคือตึกจวนเจีย (ตึกบ้านพักของผศ. เกื้อพันธุ์)”

เนื่องจากท่านจะให้นักศึกษาผลัดกันมานั่งเรียนที่ตึกนี้ เริ่มตั้งแต่การสอนออกเสียงและการประกอบคำให้นักศึกษาปีหนึ่ง สอนโครงสร้างประโยคและบทสนทนาให้นักศึกษาปีสอง อบรมด้านการพูดสุนทรพจน์และเขียนเรียงความให้นักศึกษาปีสาม และให้คำปรึกษาด้านการเขียนวิทยานิพนธ์แก่นักศึกษาปีสี่ จนนักศึกษาทุกคนต่างเรียกท่านด้วยคำสนิทชิดเชื้อว่า “คุณย่า” และท่านเองก็มองว่าลูกศิษย์ชาวจีนทุกคนนั้นเป็นเหมือนลูกเหมือนหลาน

อาจารย์ต่างชาติผู้หลงรักประเทศจีน

นอกจากสถานภาพ “คุณย่าที่น่าเคารพรัก” แล้ว ผศ. เกื้อพันธุ์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยที่เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดของภาควิชาภาษาไทย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย ทุ่มเทกายใจเพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งระหว่างผู้คนจากสองชาติ

เมื่อใดก็ตามที่เหล่าอาจารย์และลูกศิษย์มีคำถามเกี่ยวกับภาษาไทยหรือประเทศไทย ผศ. เกื้อพันธุ์ก็ยินดีที่จะอธิบายและตอบทุกข้อสงสัยอย่างใจเย็น หากไม่ได้พูดคุยต่อหน้า ท่านก็มักได้รับโทรศัพท์จากนักศึกษาทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่ขาดสาย จนท่านพูดล้อเล่นว่าการรับสายตอบคำถามเป็น “บริการหลังการขาย”

นอกจากการสอนหนังสือแล้ว ผศ. เกื้อพันธุ์ยังได้ทำตำราวรรณคดีและเรียบเรียงพจนานุกรมสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ จนได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติหลายรางวัล ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาทิ “รางวัลมิตรภาพของรัฐบาลจีน” ในเดือนกันยายน 2005 “รางวัลอาจารย์ที่นักเรียนชื่นชอบที่สุด” ในเดือนเมษายน 2014 และ “รางวัลครูต่างประเทศในจีน ประจำปี 2016” ในเดือนพฤษภาคม 2017 แต่ไม่ว่าจะได้รับรางวัลมากเพียงใด ท่านก็ยังบอกเสมอว่าตนเองเป็นเพียง “ครูไทยธรรมดาคนหนึ่ง”

หลายครั้งที่ถูกถามว่าเหตุใดจึงมาอยู่ที่จีนได้นานถึงเพียงนี้ ท่านมักจะตอบเพียงสั้นๆ ด้วยคำตอบเดิมว่าเป็นเพราะ “ลูกศิษย์”

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดใหญ่ ผศ. เกื้อพันธุ์จึงไม่ได้กลับไทยมานานกว่า 2 ปีแล้ว แต่ท่านวางแผนจะบินกลับไทยในเดือนกรกฎาคมปีหน้า และอาจจะไม่ได้กลับมาจีนอีก “แต่ครูไม่ทิ้งนะ เมื่อกลับไปแล้ว ถ้าอาจารย์ที่นี่จะตั้งชื่อเด็กใหม่ให้แจ้งมาด้วย ถ้าบอกวันนี้พรุ่งนี้ครูก็ส่งมา แล้วก็อธิบายให้ ไม่มีปัญหา” อาจารย์สูงอายุกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตา


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากบทความในบริการข่าวสารภาษาไทยโดยสำนักข่าวซินหัว “จากเชียงใหม่ถึงปักกิ่ง เรื่องราวของอาจารย์ไทยวัย 77 ผู้เป็นที่เคารพรักของนักศึกษาจีน” เผยแพร่เมื่อ 1 มีนาคม 2565

เผยแพร่เนื้อหาในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2565