ทำไมคนสุรินทร์ เป็นคนอีสาน แต่ไม่พูดภาษาลาว ไม่กินข้าวเหนียว ?!?

ภาพวาด ลายเส้น ชาวบ้าน เชื้อสาย เขมร ทำบุญ ที่ วัด สุรินทร์
ภาพวาดลายเส้น ชาวบ้านเชื้อสายเขมรทำบุญที่วัดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย E.Boucourt จากภาพสเกตช์ของ L.Delaporte

ภาพรวมของคน อีสาน คือ พูดลาว (ภาษาถิ่น) และกินข้าวเหนียว เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นประจำภาค แต่คนสุรินทร์ หรือคนจังหวัด “สุรินทร์” ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน กลับแตกต่างออกไป เพราะสุรินทร์พูดเขมร กินข้าวเจ้า และมีวัฒนธรรมคล้ายเขมร

แต่ถ้าศึกษาประวัติเมืองสุรินทร์ก็จะเข้าใจที่มาของความต่างข้างต้น

Advertisement

ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งนครจำปาศักดิ์เป็นกบฏต่อไทย เจ้าพระยาจักรีเกลี้ยกล่อมชาวเขมรตามป่าดงเมืองประทายสมันต์ (pratajisaman) และเมืองใกล้เคียง เข้ามาขึ้นต่อกรุงธนบุรี เมืองประทายสมันต์ก็คือ เมืองสุรินทร์ นั่นเอง เป็นภาษาขอมโบราณ เพราะพื้นที่บริเวณนี้เคยอยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อน

แล้ววัฒนธรรมของชาวสุรินทร์นั้นสืบทอดมาจากขอมหรืออย่างไร และกลายเป็นเขมรได้อย่างไร

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พื้นที่ภาคอีสานเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว มีแคว้นเขตปกครองเรียกว่า “อาณาจักรฟูนัน” ต่อมาขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจนละหรืออิศานปุระ ภายหลังแตกแยกเป็น 2 แคว้น

1. ทางแผ่นดินสูงตอนเหนือ ได้แก่ ภาคอีสานและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ลาว) เรียกว่า แคว้นพนมหรือเจนละบก เป็นขอมและเผ่านิกริโต

2. แผ่นดินต่ำตอนใต้จดชายทะเล (เขมร) เรียกว่า เจนละน้ำ เป็นชนเผ่าใหม่ที่เกิดจากการผสมระหว่างชาวพื้นเมืองเดิมกับเผ่าเนกริโต (Negrito) และเผ่าเมลาเนเชียน (Melanesian)

ชาวเจนละบก มีอิทธิพลในดินแดนที่ราบสูงอีสาน มีการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจในบริเวณนี้ แต่ภายหลังเจนละบกต้องตกเป็นเมืองขึ้นของเจนละน้ำ นานๆ เข้าก็กลายเป็นขอมปนเขมร ล่วงมาหลายชั่วอายุคนก็กลายเป็นเขมรไปโดยสมบูรณ์ พวกขอมที่อยู่ในถิ่นเดิมก็ค่อยๆ หมดไป บริเวณที่ราบสูงอีสานจึงมีสภาพเป็นเมืองร้าง และเป็นเหตุให้ชาวขอมหายไปจากโลก วัฒนธรรมขอมกับเขมรจึงปะปนกันอยู่ด้วย เช่นนี้จึงพอกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์ ก็คือ วัฒนธรรมเขมรที่สืบทอดมาจากชาวขอมโบราณนั่นเอง

ถึงวันนี้ สุรินทร์ ยังมีลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอีสาน วิถีชีวิต และจารีตประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับชาวเขมร แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ชาวสุรินทร์เรียกตนเองว่า ขแมร์เลอ แปลว่า เขมรสูง และเรียกชาวกัมพูชาว่า ขแมร์กรอม แปลว่า เขมรต่ำ, ภาษาเขมรที่คนสุรินทร์ใช้พูดกันที่ไม่เหมือนกับภาษาเขมรในกัมพูชา, วิถีชีวิตและนิสัยใจคอของชาวสุรินทร์ก็ไม่เหมือนชาวกัมพูชา

มูลเหตุของเรื่องอาจเป็นเพราะว่า บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์นั้นเป็นชาติพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมระหว่างชาวกูยกับชาวเขมร สิ่งยืนยันในเรื่องนี้ก็คือ ข้อความจากหนังสือที่ฝรั่งนักชาติวงศ์วิทยาแต่งขึ้นหลายเล่ม ได้กล่าวว่า มีกลุ่มชนพวกหนึ่งเรียกว่า กูย มีเลือดผสมระหว่างพวกเวดดิด (Weddid Proto Australian) กับพวกเมลาเนเชียน (Melanesian) มีรูปร่างลักษณะคล้ายเขมร พูดภาษาผสมที่เกิดจากตระกูลภาษามอญกับตระกูลภาษาเขมร

เดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตอนเหนือของเมืองเสียมราฐ กำปงธม ก่อนที่ชาวไทยและชาวเขมรจะเข้ามาอยู่ในบริเวณนั้นเสียอีก ชาวไทยเรียกว่า ส่วย (เป็นพวกส่งส่วยให้ไทย) แต่ฝรั่งเศสเรียกตามภาษาเขมรว่า กวย ภายหลังเมื่อได้แต่งงานกับชาวเขมรและลาวที่ตามเข้ามาอยู่ด้วย มีลูกหลานออกมา ไทยจึงเรียกกูยที่ผสมกับเขมรว่า ส่วยเขมร เรียกกูยที่ผสมกับลาวว่า ส่วยลาว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมของชาวสุรินทร์โน้มเอียงไปทางเขมรนั้น กล่าวกันว่า เมื่อครั้งอพยพจากเมืองอัตตะปือ เมืองแสนปางหรือเสียมปัง แคว้นจำปาศักดิ์ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งเมืองในที่ตั้งของจังหวัดสุรินทร์ในระยะแรกๆ นั้น มีแต่พวกกูยทั้งเมืองและมีพวกเขมรอพยพมาอยู่บ้างประปราย ภายหลังพวกกูยเข้าเป็นข้าขอบขัณฑสีมาไทยในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งได้ร่วมปราบปรามเขมร กัมพูชาที่ก่อการจลาจลได้ชัยชนะกลับมา พวกเขมรก็อพยพมาอยู่ในเมืองนี้มากขึ้น

นานเข้าก็มีการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกัน และให้ลูกหลานแต่งงานกัน ทำให้มีชาวเขมรอพยพตามเข้ามามากขึ้น วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวกูยจึงผันแปรไปทางเขมร พวกกูยก็ถูกกลืนเขมรไปค่อนเมืองสุรินทร์ แต่ก็เป็นเขมรสูงเป็นวัฒนธรรมของขอมโบราณที่ไม่เหมือนเขมรต่ำในกัมพูชา

ข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2538-2539 เพื่อประกอบการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วิทยาพบว่า ถ้าใช้วัฒนธรรมทางภาษาและการยอมรับในเชื้อชาติ ประกอบการวิเคราะห์โครงสร้างประชากรของจังหวัด “สุรินทร์” จะพบว่า ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเรียกชาวสุรินทร์ที่พูดภาษาลาวด้วยสำเนียงเขมรว่า “ส่วย” ส่วนชาวสุรินทร์ก็เรียกชาว อีสาน ทั่วไปว่า “ลาว” และปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ลาว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุรินทร์, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2564