
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวความสัมพันธ์ “สามเส้า” ระหว่าง กรุงศรีอยุธยา (สยาม) กรุงละแวก (เขมร) และกรุงมะนิลา ศูนย์กลางการปกครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ของราชอาณาจักรสเปน ระหว่าง ค.ศ. 1532-1600 (พ.ศ. 2075-2143) เมื่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกทัพปราบเขมร พระเจ้ากรุงละแวก จึงส่งเรือเร็วขอความช่วยเหลือไปยังกรุงมะนิลา หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในการปกครองของเจ้าอาณานิคมสเปน ให้มาช่วยเสริมกำลัง
ปรากฏว่าความช่วยเหลือจากฟิลิปปินส์ยังไม่ทันไปถึง เขมรก็เสียแก่กองทัพอยุธยาไปเรียบร้อย หากแต่สเปนไม่ได้หวังช่วยอย่างเดียว พวกเขามองความเป็นไปได้ในการเข้าไปมีอิทธิพลในเขมรด้วย
หลักฐานความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ในเอกสารสเปน แปลโดย ศาสตราจารย์จันทร์ฉาย ภักอธิคม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน (สมาคมประวัติศาสตร์ฯ : 2532) ชี้ให้เห็นว่า กรุงละแวก คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะเสด็จนำทัพในสงครามรุกรานเขมร และประเมินว่าเขมรไม่อาจรับศึกอยุธยาได้เพียงลำพัง จึงมุ่งสานสัมพันธ์กับสเปนที่กรุงมะนิลา
สมเด็จนักพระสัตถา หรือ “พระยาละแวก” ตามพระราชพงศาวดารของไทย ทรงแต่งตั้งชาวสเปนคือ นายดิเอโก เบโลโซ (Diego Beloso) เป็นราชทูตไปหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในต้น ค.ศ. 1593 เพื่อเจริญทางไมตรี และขอความช่วยเหลือจากสเปน
แต่โชคไม่ดีนักสำหรับเขมร เพราะสเปนกําลังเตรียมทัพไปปราบหมู่เกาะโมลุกกะ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย) จึงไม่มีกําลังพลเพียงพอที่จะแบ่งไปช่วยเขมรได้ ยังดีที่สเปนตอบรับไมตรีครั้งนั้นด้วยดี และสัญญากับกรุงละแวกว่าจะให้การสนับสนุนทันทีเมื่อพร้อม
เมื่อคณะของนายเบโลโซเดินทางกลับถึงเขมรประมาณต้นปี 1594 นั้น ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาจวนจะชนะในสงครามกับกรุงละแวกอยู่แล้ว เขาเองยังเป็นเชลยถูกคุมตัวไปกรุงศรีอยุธยาด้วย
นายบลัส รุยส์ (Blas Ruys) ชาวสเปนอีกคน ซึ่งเป็นคนโปรดของพระเจ้ากรุงละแวก ได้ตกเป็นเชลยเช่นกัน แต่สามารถนําชาวสเปนยึดเรือสําเภาไทย และหลบหนีไปถึงกรุงมะนิลาสำเร็จในปีเดียวกันนั้น นายเบโลโซจึงอาสาฝ่ายอยุธยาออกเดินทางไปสืบข่าว พร้อมเป็นราชทูตเจริญพระราชไมตรีกับสเปนแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปด้วย คณะทูตชุดนี้ไปถึงฟิลิปปินส์ประมาณปลายปี 1594
ปรากฏว่า ทั้งคู่กลายเป็นตัวการสำคัญหว่านล้อมให้ทางการสเปนช่วยกู้เอกราชเขมร และทําข้อตกลงกับกรุงมะนิลาอย่างเป็นทางการ
สเปนตกลงส่งทหารภายใต้การนําของกัปตันฆวน ฆัวเรซ กายินาโต (Juan Juarez Gallinato) ไปสืบข่าวความเป็นไปได้ในการตั้งสถานีการค้า เผยแผ่ศาสนา และการครอบครองเขมร กองทหารออกเดินทางเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1596 แต่ดินฟ้าอากาศไม่อํานวย ต้องประสบความยากลําบาก กองเรือกระจัดกระจายพลัดพรากกันไปคนละทิศคนละทาง และผู้คนล้มตายไปมากมายกว่าจะถึงแผ่นดินเขมร ก่อนพบว่า พระเจ้ากรุงละแวก (สมเด็จนักพระสัตถา) เสด็จหนีพร้อมพระราชวงศ์ไปประทับในลาวแล้ว และเขมรมีกษัตริย์พระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระรามาธิบดี
เอกสารสเปนเรียกกษัตริย์องค์ใหม่ว่า “องค์นักพระรามผู้ชิงราชย์” เพราะกษัตริย์พระองค์นี้ทรงขับไล่กองทัพสยามออกจากอาณาจักรเขมร
เอกสารสเปนยังเล่าถึงสถานการณ์ถัดจากนั้น ตามที่อาจารย์จันทร์ฉายได้แปลและให้รายละเอียดไว้ว่า
“องค์นักพระรามหรือสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระพิโรธที่พวกสเปนก่อเหตุกับพวกคนจีน และพวกสเปนที่ตกอยู่ในวงล้อม ได้ฉวยโอกาสกระทําการปล้นเมืองและพระราชวัง และสําเร็จโทษองค์นักพระราม
เหตุการณ์ที่น่าสนใจเหล่านี้ เอกสารสเปนได้ให้รายละเอียด แต่ไม่ระบุวันเดือนปีที่แน่นอน เข้าใจว่าเหตุเกิดในกลางปี ค.ศ. 1596 กัปตันกายินาโตเดินทางไปถึงกัมพูชา เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วเขาเห็นว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยที่จะฉวยปฏิบัติการยึดครองกัมพูชาตามเสียงเรียกร้องส่วนใหญ่ กัปตันกายินาโตได้ตัดสินใจเดินทางกลับ และไปถึงฟิลิปปินส์ในกลางปี ค.ศ. 1597
ระหว่างทางขบวนเรือได้แวะเข้าชายฝั่งโคชินไชนา นายเบโลโซและนายบลัส รุยส์ ได้เดินทางบกไปลาว ปรากฏว่าสมเด็จนักพระสัตถาได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เหลือแต่พระบรมราชา พระโอรสองค์ที่สอง ทั้งสองคนและกองทัพลาวได้ช่วยเหลือให้พระบรมราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ในกัมพูชา สมเด็จพระบรมราชาได้ทรงพระกรุณาปูนบำเหน็จความชอบแก่นายเบโลโซและนายบลัส รุยส์ และตรัสให้แต่งคณะทูตไปเจริญทางไมตรีกับสเปนแห่งฟิลิปปินส์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากสเปนอีก
ครั้งนั้นสเปนไม่มีจุดประสงค์ที่จะช่วยเหลือกัมพูชา แต่นายดอน ลุยส์ ดัสมารีญัส (Don Luys Dasmarinas) อดีตผู้ว่าราชการได้อาสาแต่งกองทหารไปด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง การส่งทหารครั้งนั้นที่ออกเดินทางในเดือนกันยายน ค.ศ. 1598 ประสบความล้มเหลว เพราะดินฟ้าอากาศไม่อำนวย นายลุยส์ ดัสมารีญัส เองไปตกทุกข์ได้ยากที่ชายฝั่งจีนอยู่นาน แต่ชาวสเปนบางส่วนเดินทางไปถึงกัมพูชาในเดือนตุลาคม
แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชาจะโปรดพวกสเปน แต่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในทรงนิยมพวกมลายูมุสลิม ซึ่งมีออกญาลักษมานาเป็นผู้นำ พวกมลายูมุสลิมและขุนนางเขมรบางส่วนได้ร่วมมือกันก่อเหตุโจมตีพวกสเปน เผาที่พักและรุกไล่ฆ่าพวกสเปน แม้แต่นายเบโลโซ และนายบลัส รุยส์ เองก็ถูกฆ่าตาย ชาวสเปนที่เหลือรอดตายได้เดินทางกลับฟิลิปปินส์ ความปราชัยของชาวสเปนในครั้งนั้นเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับชาวสเปนในฟิลิปปินส์”
เหตุการณ์ในเขมรยังทวีความรุนแรงขึ้น แม้สเปนกลับหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปแล้ว เพราะพวกมลายูมุสลิมเหิมเกริมหนักขึ้นถึงขั้นก่อการยึดอำนาจ และสำเร็จโทษสมเด็จพระบรมราชา แผ่นดินเขมรเกิดการจลาจลอีกครั้ง
ขุนนางเขมรจึงแต่งคณะทูตไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอรับพระราชทาน “พระศรีสุพรรณมาธิราช” ที่ประทับอยู่ในอยุธยาไปครองราชย์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงพระกรุณาให้แต่งกองทัพนําเสด็จพระศรีสุพรรณฯ ไปปราบปรามเหตุการณ์ความวุ่นวายในแผ่นดินเขมร และครองราชย์ที่นั่น
เอกสารที่บันทึกเรื่องราวนี้เป็นเอกสาร “ทางการ” จึงฉายภาพค่อนข้างชัดเจนว่า สเปนให้ความสำคัญกับเขมรอยู่ไม่น้อย จึงมีความเห็นชอบให้ส่งทหารไปช่วยเขมรกู้เอกราชจากกรุงศรีอยุธยา และเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองเขมร
อาจารย์จันทร์ฉาย วิเคราะห์ว่า เราสามารถสรุปได้ว่าสเปนมีจุดประสงค์ให้อาณาจักเขมรเป็น “หน้าด่าน” หรือเป็นฐานปฏิบัติการของพวกเขาในยุทธศาสตร์เพื่อการค้าและศาสนาในเอเชียภาคพื้นทวีป และมุ่งหมายถึงขั้นยึดครองทั้งอาณาจักรเขมรเป็นอาณานิคม เพราะอดีตผู้ว่าราชการแห่งกรุงมะนิลายังวาดฝันถึงการเป็นใหญ่ในเขมรด้วย
“การที่กรุงกัมพูชาใฝ่แสวงหามิตรไมตรีจากสเปนเพื่อปกป้องตนเองจากศึกศัตรูภายในอาณาจักรและกรุงศรีอยุธยานั้น จึงดูเสมือนหนึ่งว่า กรุงกัมพูชาได้ ‘หนีเสือปะจระเข้’ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้” อาจารย์จันทร์ฉายกล่าว
อ่านเพิ่มเติม :
- จดหมายฝรั่งระบุเหตุ “กรุงศรีอยุธยา” รบ “กรุงมะนิลา” แห่ง หมู่เกาะฟิลิปปินส์ !?
- ตามรอย ทหารรับจ้างโปรตุเกส ผู้นำเทคโนโลยี-ยุทธศาสตร์การทหาร สู่ราชสำนักอยุธยา
- พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. พระนเรศวรตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน นำเลือดศัตรูล้างพระบาทจริงหรือ?. ศิลปวัฒนธรรม. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_26633
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2567