พระนเรศวรตีละแวก เอี่ยวการเมืองกัมพูชา-สเปน นำเลือดศัตรูล้างพระบาทจริงหรือ?

ภาพประกอบเนื้อหา - พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จ.ลำปาง กับฉากหลัง (ขวา) ภาพจิตรกรรมสมเด็จพระนเรศวรตามจับพญาจีนจันตุ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา จาก ศิลปวัฒนธรรม, 2559 (ซ้าย) “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

หมายเหตุบรรณาธิการ

ต้นฉบับเรื่องนี้ปรับปรุงมาจาก “บทนํา” ของเอกสารสเปนภาคที่ 2 พิมพ์อยู่ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน โดยจันทร์ฉาย ภักอธิคม แปล/บรรณาธิการ สมาคมประวัติศาสตร์ฯ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532

ผมอ่านเอกสารเล่มนี้ทั้งเล่มตั้งแต่เมื่อแรกพิมพ์ออกมาเผยแพร่ด้วยความชื่นชมโสมนัส และคารวะต่อผู้แปล/บรรณาธิการ คืออาจารย์จันทร์ฉาย ภักอธิคม แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง จึงขออนุญาตมา ณ ที่นี้ เพื่อพิมพ์ให้แพร่หลาย แต่ได้ตั้งชื่อเรื่องเสียใหม่ว่า พระนเรศวร พระยาละแวก และ พิธีปฐมกรรม รวมทั้งจัดย่อหน้าใหม่แล้วใส่หัวข้อให้ผู้อ่านได้อ่านสะดวก
ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์จันทร์ฉายอีกครั้ง

สุจิตต์ วงษ์เทศ


เอกสารในภาคที่ 2 นี้ กล่าวถึงความสัมพันธ์สามเส้าที่สเปนมีต่อกรุงกัมพูชา และกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง ค.ศ. 1532-1600 โดยประมาณ

เอกสารของภาคที่ 2 นี้ประกอบด้วยเอกสาร “ทางการ” เป็นส่วนใหญ่ และแสดงชัดเจนว่า กรุงกัมพูชามี ความหมายสําคัญเพียงใดต่อชาวสเปนแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ดังปรากฏว่า สเปนได้เจริญทางไมตรีกับกรุง กัมพูชา และทางการสเปนที่มะนิลาได้เห็นชอบให้มีการส่งทหารไปช่วยกัมพูชากู้เอกราชจากกรุงศรีอยุธยา

เอกสารของภาคที่ 2 นี้บรรยายความโดยละเอียดจนสามารถสรุปได้ว่า สเปนมีจุดประสงค์ที่จะกําหนดให้อาณาจักรกัมพูชาเป็น “หน้าด่าน” หรือเป็น “ฐานปฏิบัติการ” ของการที่สเปนจากฟิลิปปินส์จะตั้งมั่นการค้าและการศาสนาในเอเชียภาคพื้นทวีป ตลอดจนการเข้ายึดครองทั้งอาณาจักรกัมพูชาถ้าเป็นไปได้ แม้แต่ชาวสเปนที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการเองก็ยังใฝ่ฝันที่จะตั้งตนเป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชาเช่นเดียวกับชาวสเปนที่นิยมการผจญภัยแสวงหาโชคลาภในกัมพูชา

การที่กรุงกัมพูชาใฝ่แสวงหามิตรไมตรีจากสเปนเพื่อปกป้องตนเองจากศึกศัตรูภายในอาณาจักรและ กรุงศรีอยุธยานั้น จึงดูเสมือนหนึ่งว่า กรุงกัมพูชาได้ “หนีเสือปะจระเข้” อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

กรุงกัมพูชาขอสเปนรบอยุธยา

เอกสารสเปนของภาคที่ 2 นี้จึงได้เริ่มเรื่องด้วยการที่กรุงกัมพูชาคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเสด็จยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา สมเด็จนักพระสัตถา หรือพระยาละแวกตามพระราชพงศาวดารของไทย จึงทรงแต่งตั้งนายเบโลโซ (Diego Beloso) ให้เป็นราชทูตไปหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในต้นปี (?) ค.ศ. 1593 เพื่อขอเจริญทางไมตรีและขอความช่วยเหลือจากสเปน

แต่เป็นคราวเคราะห์สําหรับกัมพูชาที่ระยะนั้นสเปนกําลังเตรียมทัพไปปราบหมู่เกาะโมลุกกะ จึงไม่มีกําลังพลเพียงพอที่จะแบ่งไปช่วยกัมพูชาได้ ถึงกระนั้นสเปนก็เจริญทางไมตรีกับกัมพูชาเป็นอย่างดี

เมื่อคณะของนายเบโลโซเดินทางกลับถึงกัมพูชาประมาณต้นปี ค.ศ. 1594 นั้น ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยา กําลังกระทําศึกสงครามกับกัมพูชาจนได้ชัยชนะ นายเบโลโซเองตกเป็นเชลยถูกคุมตัวไปกรุงศรีอยุธยา ส่วนนายบลัส รุยส์ (Blas Ruys) ชาวสเปนซึ่งเป็นคนโปรดของพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ตกเป็นเชลยถูกคุมตัวลงเรือสําเภามุ่ง หน้าไปกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่ต่อมานายบลัส รุยส์ ได้เป็นผู้นําชาวสเปนในการยึดเรือสําเภาไทย และพาไปถึง กรุงมะนิลา ใน ค.ศ. 1594 กรุงศรีอยุธยามิได้ทราบข่าวคราวเรือสําเภานี นายเบโลโซได้อาสาออกเดินทางไปสืบ ข่าวและเป็นราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับสเปนแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1594 เข้าใจว่า คณะทูตชุดนี้ไปถึงฟิลิปปินส์ในประมาณปลายปีนั้น

นายเบโลโซและนายบลัส รุยส์ ได้เจรจาหว่านล้อมให้ทางการสเปนช่วยเหลือกู้เอกราช และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1594 ทั้งสองคนได้ทําหนังสือรายงานเรื่องกัมพูชาเป็นคําฎีกา และทําข้อตกลงกับสเปน

สเปนตกลงส่งทหารภายใต้การนําของกัปตันกายินาโต (Juan Juarez Gallinato) ไปสืบข่าวกัมพูชาว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะตั้งมั่นการค้า การศาสนา และการครอบครองกัมพูชา กองทหารออกเดินทางไปเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1596 แต่ดินฟ้าอากาศไม่อํานวย การเดินทางประสบความยากลําบาก เรือกระจัดกระจายพลัดพรากกันไปคนละทิศคนละทาง ผู้คนล้มตายไปพอสมควร

เรือของนายเบโลโซ และเรือของนายบลัส รุยส์ เดินทางไปถึงกัมพูชาก่อน และพบว่าพระเจ้ากรุงกัมพูชา (สมเด็จนักพระสัตถา) เสด็จหนีพร้อมพระราชวงศ์ไปประทับในลาวแล้ว และกัมพูชามีกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว คือ สมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ของสมเด็จนักพระสัตถา เอกสารสเปนเรียกว่า องค์นักพระรามผู้ชิงราชย์ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงขับไล่กองทหารไทยออกจากอาณาจักร

องค์นักพระรามหรือสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระพิโรธที่พวกสเปนก่อเหตุกับพวกคนจีน และพวกสเปนที่ตกอยู่ในวงล้อม ได้ฉวยโอกาสกระทําการปล้นเมืองและพระราชวัง และสําเร็จโทษองค์นักพระราม

เหตุการณ์ที่น่าสนใจเหล่านี้ เอกสารสเปนได้ให้รายละเอียด แต่ไม่ระบุวันเดือนปีที่แน่นอน เข้าใจว่าเหตุเกิดในกลางปี ค.ศ. 1596 กัปตันกายินาโตเดินทางไปถึงกัมพูชา เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วเขาเห็นว่าสถานการณ์ไม่ เอื้ออํานวยที่จะฉวยปฏิบัติการยึดครองกัมพูชาตามเสียงเรียกร้องส่วนใหญ่ กัปตันกายินาโตได้ตัดสินใจเดินทาง กลับ และไปถึงฟิลิปปินส์ในกลางปี ค.ศ. 1597

ระหว่างทางขบวนเรือได้แวะเข้าชายฝั่งโคชินไชนา นายเบโลโซ และนายบลัส รุยส์ ได้เดินทางบกไปลาว ปรากฏว่าสมเด็จนักพระสัตถาได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เหลือแต่พระบรมราชา พระโอรสองค์ที่สอง ทั้งสองคน และกองทัพลาวได้ช่วยเหลือให้พระบรมราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ในกัมพูชา สมเด็จพระบรมราชาได้ทรงพระกรุณาปูนบําเหน็จความชอบแก่นายเบโลโซ และนายบลัส รุยส์ และตรัสให้แต่งคณะทูตไปเจริญทางไมตรีกับสเปนแห่งฟิลิปปินส์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากสเป็นอีก

ครั้งนั้นสเปนไม่มีจุดประสงค์ที่จะช่วยเหลือกัมพูชา แต่นายดอน ลุยส์ ดัสมารีญัส (Don Luys Dasmarinas) อดีตผู้ว่าราชการได้อาสาแต่งกองทหารไปด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง การส่งทหารครั้งนั้นที่ออกเดินทางในเดือนกันยายน ค.ศ. 1598 ประสบความล้มเหลว เพราะดินฟ้าอากาศไม่อํานวย นายลุยส์ ดัสมารีญส เองไปตกทุกข์ได้ยากที่ชายฝั่งจีนอยู่นาน แต่ชาวสเปนบางส่วนเดินทางไปถึงกัมพูชาในเดือนตุลาคม

แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชาจะโปรดพวกสเปน แต่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในทรงนิยมพวกมลายูมุสลิม ซึ่งมีออกญาลักษมานาเป็นผู้นํา พวกมลายูมุสลิมและขุนนางเขมรบางส่วนได้ร่วมมือกันก่อเหตุโจมตีพวกสเปน เผาที่พักและรุกไล่ฆ่าพวกสเปน แม้แต่นายเบโลโซ และนายบลัส รุยส์ เองก็ถูกฆ่าตาย ชาวสเปนที่เหลือรอดตายได้เดินทางกลับฟิลิปปินส์ ความปราชัยของชาวสเปนในครั้งนั้นเป็นบทเรียนอันมีค่าสําหรับชาวสเปนในฟิลิปปินส์

ในกัมพูชาเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น พวกมลายูมุสลิมเหิมเกริมถึงขนาดสําเร็จโทษสมเด็จพระบรมราชา ทําให้แผ่นดินเกิดการจลาจลขึ้น จนใน ค.ศ. 1600 เหล่าขุนนางจึงได้แต่งคณะทูตไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอรับพระราชทานพระศรีสุพรรณมาธิราชไปครองราชย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงพระกรุณาให้แต่งกองทัพนําเสด็จพระศรีสุพรรณมาธิราชไปครองกัมพูชา

เหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่าง ค.ศ. 1594-1600 ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในกัมพูชานั้น มีข้อควรสังเกตว่า เอกสาร สเปนมิได้กล่าวถึงบทบาทของกรุงศรีอยุธยาในทางหนึ่งทางใดเลย เอกสารหลักฐานฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเองก็มิได้กล่าวถึง ความมีพาดพิงเฉพาะตอนที่สมเด็จพระศรีสุพรรณมาธิราชทรงปราบดาภิเษกแล้วว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงพระกรุณาให้ “ทัพพระ (เจ้า) ฝ่ายหน้า เสด็จ ไปเอาเมืองขอมได้” ใน พ.ศ. 2146[1]

ซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่า พระฝ่ายหน้านั้นคือใคร

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามเอกสารของภาคที่ 2 แสดงให้ปรากฏเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ที่ยังไม่ล้าสมัยเลยว่า การคบหาชนต่างชาติโดยขาดความรอบคอบ และขาดวิจารณญาณไตร่ตรองถึงจุดประสงค์ของตนและจุดประสงค์ของชนต่างชาติ ย่อมนําความหายนะมาสู่อาณาจักรได้ การจลาจลด้วยน้ำมือชาวมลายูมุสลิม และชาวสเปนในกรุงกัมพูชาตามเอกสารสเปนนี้ มีลักษณะใกล้เคียงกับการจลาจลและการต่อสู้ในกรุงศรีอยุธยาด้วยน้ำมือของชาวญี่ปุ่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ชาวมักกะสัน (Macassar) ที่กรุงศรีอยุธยา ชาวอังกฤษที่เมืองมะริด และชาวฝรั่งเศสที่เมืองบางกอกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จุดประสงค์ของการติดต่อกันนั้นปรากฏในข้อตกลง หรือเงื่อนไข หรือสนธิสัญญาที่ชนต่างชาติเหล่านั้นได้กระทํากับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งล้วนเป็นจุดประสงค์ที่มุ่งหมายการตั้งมั่นการค้า การศาสนา และการสร้างอํานาจอิทธิพลครอบงํากรุงศรีอยุธยา ดังที่สเปนได้กําหนดเงื่อนไขข้อตกลงกับสมเด็จนักพระสัตถาตามเอกสารของภาคที่ 2 นี้ โดยมีเนื้อหาที่แสดงจุดประสงค์ชัดเจนยิ่งกว่าที่ฮอลันดา และฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอแก่กรุงศรีอยุธยา

เอกสารสเปนมิได้กล่าวถึงบทบาทของกรุงศรีอยุธยาว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรที่เกิดการกู้เอกราชและการจลาจลในกรุงกัมพูชา แต่ได้ให้ข้อเท็จจริงไว้ตอนหนึ่งซึ่งแสดงชัดเจนว่ากรุงศรีอยุธยามีทรรศนะและนโยบายอย่างไรในเรื่องกัมพูชาว่า ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแต่งคณะทูตนําโดยนายเบโลโซไปเจริญทางไมตรีกับสเปนที่ฟิลิปปินส์ในต้นเดือน ตุลาคม ค.ศ. 1594 นั้น กรุงศรีอยุธยาทราบข่าวแล้วว่าชาวเขมรขับไล่กองทหารไทยออกจากอาณาจักร และกรุงศรีอยุธยาได้เตรียมป้องกันกัมพูชาบุกเข้ามาทางปากแม่น้ำด้วย แม้ต่อมากรุงศรีอยุธยาอาจจะได้ข่าวคราวเรื่องสเปนมีบทบาทสําคัญในการกู้เอกราชและเข้าไปมีอิทธิพลครอบงําทั้งอาณาจักรกัมพูชา

เอกสารสเปนมิได้ให้ข้อเท็จจริงว่า กรุงศรีอยุธยาได้แสดงปฏิกิริยาทักท้วงหรือส่งกองทัพไปตีกัมพูชาคืนแต่อย่างใด หากแต่กรุงศรีอยุธยายังคงพยายามแต่งทูตไปเจริญทางไมตรีกับสเปนที่ฟิลิปปินส์หลายครั้ง (ค.ศ. 1594, 1596[2] และ 1598) พระราชสาสน์มิได้กล่าวถึงเรื่องกัมพูชาเลยเสมือนมิได้ถือเป็นเรื่องสําคัญที่จะเป็น อุปสรรคต่อการสร้างความสัมพันธ์กับสเปน สเปนเองก็ได้แต่งทูตทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการไปสู่กรุงศรีอยุธยาด้วย

ปฏิกิริยาของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาต่อปัญหาสเปนในกัมพูชานั้นเป็นเรื่องควรศึกษาวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง

ชะตากรรมพระยาละแวก ถูก “ปฐมกรรม” จริงหรือ?

เอกสารสเปนของภาคที่ 2 นี้ยังเป็นกุญแจสําคัญไขข้อเท็จจริงบางประการที่เคยเป็นข้อโต้แย้งในแวดวงนักประวัติศาสตร์ คือ เรื่องกรุงศรีอยุธยาตีกรุงกัมพูชากี่ครั้ง และเรื่องชะตากรรมของสมเด็จนักพระสัตถา พระยาละแวกตามพระราชพงศาวดารไทยที่ว่าถูกปฐมกรรม

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้ระบุไว้ว่า หลังจากที่เสร็จศึกพม่าแล้ว ในปี พ.ศ. 2130 เดียวกันนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ “เสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก”[3] และว่า “ณ วัน 6 ฯ10 2 ค่ำ…เสด็จพยุหยาตราไปเอาเมืองละแวก…”[4]

ในปี ค.ศ. (15) 94 เมื่อนายดอน ลุยส์ ดัสมารีญส ได้เป็นผู้ว่าราชการ เรือสําเภาลําหนึ่งได้มาถึงฟิลิปปินส์พร้อมชาวกัมพูชา (Cambodians) และชาวสยาม (Siamese) หลายคน ชาวจีนมากมาย และชาวสเปน 3 คน คนหนึ่งเป็นชาวคาสติล (Castile) ชื่อนายบลัส รุยส์ (Blas Ruys de Hernan Gonzalez) และอีก 2 คนเป็นชาว โปรตุเกสชื่อ ปันตาเลอน การ์เนโร และนายอันโตนิโอ มาชาโด (Antonio Machado) ขณะที่พวกเขาอยู่ในเมืองจัตุรมุข (Chordemuco) ในกัมพูชาพร้อมด้วยสมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชา (Prauncar Langara) (สมเด็จนักพระสัตถา) ซึ่งทรงเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น พระเจ้ากรุงเสียน (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ได้ทรงโจมตีพระเจ้ากรุงกัมพูชาด้วยกําลังพลและช้างมากมาย

พระองค์ทรงพิชิตแผ่นดินและทรงยึดพระราชวังและทรงรับพระราชทรัพย์พระเจ้ากรุงกัมพูชา พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้เสด็จหนีภายในประเทศพร้อมด้วยพระมเหสี พระชนนี พระขนิษฐภคินี และพระธิดาพระองค์หนึ่ง และพระโอรสสองพระองค์ ไปสู่อาณาจักรลาว (Lao) พระเจ้ากรุงเสียนได้เสด็จเลิกทัพกลับ โดยตรัสให้นายทัพนายกองบางคนอยู่รักษากัมพูชา และให้คุมเอาทรัพย์สินเชลยที่พระองค์ไม่สามารถจะให้ขนไปทางบกได้นั้น ให้ขนไปทางเรือสําเภาหลายลําไปยังเสียน พระเจ้ากรุงเสียนทรงจับได้ชาวโปรตุเกส และบรรดาชาวคาสติลที่ทรงพบ (ในกัมพูชา) และตรัสให้คุมเอาตัวลงเรือสําเภาลํานี้ (ที่ไปถึงกรุงมะนิลาดังกล่าว) พร้อมด้วยทาสชาวกัมพูชา อื่นๆ (และ) นอกเหนือจากสินค้ามากมาย โดยมีชาวสยามคนหนึ่งเป็นผู้คุม และมีคนจีนคนหนึ่งเป็นลูกเรือ

ขณะอยู่ในน่านน้ำ ชาวสเปนสามคนโดยความช่วยเหลือของชาวจีน ได้ยึดเรือไว้ในความครอบครอง และได้ฆ่าฟันและคุมขังบรรดาชาวสยาม ผู้คุม หลังจากนั้นชาวสเปน ได้สู้กับชาวจีนว่าใครควรจะเป็นฝ่ายได้รับรางวัลและควรจะแล่นเรือไปแห่งหนใด ชาวสเปนสามคนเอาชนะคนจีนได้และได้ฆ่าตายเกือบหมด ชาวสเปนได้นําเรือไปกรุงมะนิลาพร้อมสินค้าทั้งหมด และได้มีการชี้ขาดว่าเรือเป็นของพวกเขา ชาวกัมพูชาและชาวจีนที่รอดตายจากการสู้รบครั้งนั้นได้ถูกปล่อยเป็นอิสระ

พระเจ้ากรุงเสียนได้เสด็จยกทัพกลับถึงราชสํานักในพระมหานครโยเดีย (Odia) และทรงรอคอยเรือสําเภาดังกล่าว แต่เมื่อทรงเห็นว่าล่าช้าเกินจําเป็น พระองค์ก็ทรงระแวงว่าเรือนั้นอาจจะถูกยึดหรือแตกอับปางไปแล้ว และทรงต้องพระราชประสงค์ที่จะโปรดให้ส่งคนไปสืบข่าวและเหตุผลความล่าช้านั้น
เอกสารสเปน จันทร์ฉาย ภักอธิคม แปล/บรรณาธิการ จากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน สมาคมประวัติศาสตร์ฯ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532 หน้า 67

พระราชพงศาวดารไทยฉบับอื่น ๆ ที่ชําระในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ว่า มีสงครามตีละแวก แต่บอกวันเดือนปีคลาดเคลื่อน และว่าไทยล้อมเมืองละแวก 3 เดือน แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้เพราะขาดเสบียงอาหาร ไทยต้องถอยทัพกลับ

หลักฐานเขมรได้บรรยายว่า[5] พระนเรศวรมหาราชได้ โปรดให้ “ราชบุตร” สองคนผู้รู้ “ศิลปศาสตร์เวทางค์คปกรณ์กฤติยาคม” ไปสืบจารกรรมเมืองเขมร เมื่อ พ.ศ. 2134 ราชบุตรทั้งสองได้กระทํา “กฤติยาคม” จนพระบรมราชา (หรือพระยาละแวก) ทรงเสียพระสติ บ้านเมืองระส่ำระสาย กรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพไปตีเขมรใน พ.ศ. 2136

ส่วนประเด็นพิธีปฐมกรรมมีข้อควรคิดพิจารณาเป็นพิเศษ

พระราชพงศาวดารไทยทั่วไปได้พรรณนาว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทําพิธีปฐมกรรมต่อพระยาละแวก และได้นําพระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาในพระยาละแวก พร้อมทั้งพระราชบุตรไปประทับที่กรุงศรีอยุธยา

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยยอมรับโดยปริยายว่า พิธีปฐมกรรมต่อพระยาละแวกนั้นเกิดขึ้นจริงตามพงศาวดารไทยทั่วไป โดยได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ไทยรบพม่า ว่า “ถึงปลายปีมะเส็งนั้น สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา มีชัยชนะจับนักพระสัฎฐา เจ้ากรุงกัมพูชาได้ ให้ประหารชีวิตเสีย ในพิธีปฐมกรรม…[6]

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวง ประเสริฐอักษรนิติ์ มิได้กล่าวถึงพิธีปฐมกรรม และมิได้กล่าวถึงพระยาละแวกว่าทรงถูกสําเร็จโทษหรือเสด็จหนีไปที่ใด ฉบับนี้เพียงแต่กล่าวไว้สั้นๆ ว่า “ครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณ..”[7] คือได้แต่องค์พระอนุชาในพระยาละแวกเท่านั้น

ความดังกล่าวตรงกับหลักฐานพงศาวดารฝ่ายเขมรเอง พงศาวดารละแวกและราชพงศาวดารกัมพูชาได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงได้แต่องค์พระศรีสุพรรณมาธิราช ส่วนพระยาละแวกนั้นได้เสด็จพร้อมพระโอรสสองพระองค์ คือ พระไชยเชษฐา และพระบรมราชาธิราช ลี้ภัยไปเมืองศรีสุนทร แล้วต่อมาได้เสด็จไปประทับที่ “เมืองลาวล้านช้าง” (ตามราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาระบุว่าที่ ‘เมืองลาว’)

หลักฐานทั้งสองฝ่ายระบุต้องตรงกันเป็นยุติว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้พระศรีสุพรรณมาธิราช และพระราชบุตร ประเด็นที่ขัดแย้งกันคือ หลักฐานฝ่ายไทย ยกเว้นฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ยืนยันมั่นคงว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทําพิธีปฐมกรรมต่อพระยาละแวก แต่หลักฐานเขมรมิได้กล่าวถึงพิธีนี้แต่อย่างใด หากแต่บรรยายว่าในการเสียเมืองครั้งนั้น พระยาละแวกพร้อมพระราชบุตรเสด็จลี้ภัยไปประทับที่ล้านช้าง

“ปฐมกรรม” พิธีกรรมอะไรแน่?

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการประวัติศาสตร์ไทยว่า พิธีปฐมกรรมนั้นเกิดขึ้นจริงตามพงศาวดารไทยทั่วไปด้วยไม่มีหลักฐานอื่นใดยืนยันเป็นอื่น แม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพก็ทรงวินิจฉัยเช่นนั้น

ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์มิได้ระบุพิธีนี้ ก็มีข้อหักล้างว่า ฉบับนี้เป็นพงศาวดารที่บันทึกความย่อ ๆ โดยสังเขป จึงไม่กล่าวถึงพิธีนี้

การที่จะพึ่งพาหลักฐานฝ่ายเขมร ก็มีข้อควรคิดว่าพิธีดังกล่าวเป็นพิธีที่หมายประจานพระยาละแวกและชาวเขมรให้ได้อาย พงศาวดารเขมรจึงอาจจะไม่กล่าวถึงพิธีดังกล่าว ซึ่งควรแก่การอัปยศสําหรับเขมรเอง หลักฐานพงศาวดารเขมรอาจมีเจตนาปิดบังข้อเท็จจริงนั้น

สิ่งที่ควรแก่การพิจารณาในขั้นต้นคือ พิธีปฐมกรรมนั้นโดยเนื้อแท้คือพิธีอะไร? สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทําพิธีนี้ต่อพระยาละแวกจริงหรือ? และพระชะตากรรมของพระยาละแวกเป็นอย่างไร? ถูก สําเร็จโทษโดยพิธีนี้? หรือเสด็จหนีหายไปที่ใด?

ถ้าพระยาละแวกยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ก็แสดงว่ามิได้มีการประกอบพิธีปฐมกรรม การพิจารณาพระ ชะตากรรมของพระยาละแวกจึงมีความหมายพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพิธีปฐมกรรมว่ามีจริงหรือไม่ด้วย
พิธีปฐมกรรมคืออะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คําอธิบายว่า “ปฐมกรรม น. กฎเบื้องต้นหรือข้อสําคัญ เป็นชื่อพิธีที่กษัตริย์ในครั้งโบราณกระทําแก่ผู้เป็นปรปักษ์”[8] แต่พจนานุกรมนี้มิได้ยกตัวอย่างประกอบแม้แต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทําพิธีนี้ต่อพระยาละแวกก็มิได้ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง บรรดาพงศาวดารทุกฉบับระบุแต่พิธีนี้เกิดขึ้นในกรณีพระยาละแวกเท่านั้น ไม่มีระบุที่ตรงไหนรัชสมัยไหนว่ามีการประกอบพิธีนี้ พิธีที่มีชื่อใกล้เคียงพอสันนิษฐานได้คือ พิธีปฐมกรรมและพิธีมัธยมกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพงศาวดารได้ระบุว่า

“ศักราช 859 มะเส็งศก (พ.ศ. 2040 ) ท่าน (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) ให้ทําการปฐมกรรม”

“ศักราช 912 จอศอ (พ.ศ. 2093) เดือน 8 ขึ้น 2 คํา ทําการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักร พรรดิเจ้า ตําบลท่าแดง พระกรรมวาจาเป็นพฤฒิบาศ พระพิเชฏฐ์เป็นอัษฎาจารย์ พระอินโทรเป็นกรมการ

“ศักราช 915 ฉลูศก (พ.ศ. 2096) เดือน 7 นั้น แรกทําการพระราชพิธีมัธยมกรรมสมเด็จพระมหาจักร พรรดิ ตําบลไชยนาทบุรี”[9]

พระราชพิธีปฐมกรรมก็ดี พระราชพิธีมัธยมกรรมก็ดี ในที่นี้น่าจะเป็นพระราชพิธีของฝ่ายทหาร เป็นการซ้อมรบหรือสวนสนาม หรืออาจเป็นพิธีเกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าจะเป็นพิธีประจานฝ่าย ปฏิปักษ์ตามที่เข้าใจกัน ด้วยระบุว่ามีพราหมณ์พฤฒิบาศประกอบพิธีเกี่ยวกับช้างและปัดเสนียดจัญไรแก่องค์พระมหากษัตริย์ คงเป็นพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน (ทอดเชือกดามเชื่อก) ซึ่งเป็นพิธีประชุมพลโยธาเพื่อแสดง พระบรมเดชานุภาพให้ปรากฏแก่ท้าวพระยาข้าราชการ และเจ้าประเทศราชที่มาเข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ[10] และพิธีที่อาจมีความหมายใกล้เคียงกันคือ พิธี “พระราชพิธีแต่มีสนาม” ที่ระบุเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน และได้พรรณนาว่า “…คือเบาะพกเผดจ์ศกลดแจด สํพรรษฉินท พัทรบทเฉวียน พระโคดุลาพาน บุษยาภิเศก ราชาภิเศกอินทราภิเศก คชกรรมประถมาภิเศก ประถม กรรมมัทยมกรรมอุดมกรรม อาจาริยาภิเศก อุปราคาปราบดาภิเศก 17) การพิทธีนี้ ย่อมสนามสําหรับสนามเหมบัตร”[11]

ตามความข้างต้น ระบุพิธี “แต่มีสนาม” นั้นมี 17 พิธี พิธี “ประถมกรรม มัทยมกรรม อุดมกรรม” เป็นพิธีสามขั้นตอนของฝ่ายทหารเทียบเท่าพิธีสวนสนามในความหมายปัจจุบัน แต่มีการ “เอาเลือดศัตรูล้างพระบาท” หรือไม่เป็นข้อที่ยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริง

ถ้าถือตามความข้างต้นว่า พิธีปฐมกรรมเป็นพิธีสวนสนาม และไม่มีพิธีนี้กระทําต่อพระยาละแวก

คําถามที่จะต้องหาคําตอบต่อไปก็คือ ถ้าพระยาละแวกมิได้ถูกสําเร็จโทษโดยพิธีดังกล่าวแล้ว พระยาละแวกเสด็จไปประทับที่ใด?

เอกสารสเปนน่าจะให้ข้อเท็จจริงเป็นคําตอบได้ เป็นคําตอบที่ให้เลือกพิจารณาถึงความเป็นจริงที่น่าจะ เป็นไปได้หรือไม่อีกทางหนึ่ง

คลิกอ่านเพิ่มเติมพระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?



เชิงอรรถ

[1] “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์”, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพงศาวดารเหนือ, เล่ม 1 (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504), หน้า 29.

[2] เอกสารสเปนของนักบวชนิกายฟรานซิสกันได้ระบุว่า ใน ค.ศ. 1596 กรุงศรีอยุธยาแต่งทูตนําโดยนักบวชออร์ติซ (Fray Pedro Ortiz) ไปเจริญทางไมตรีกับสเปนที่ฟิลิปปินส์ แต่ถูกพวกลาวฆ่าตายขณะเดินทางผ่านกัมพูชา ดู History of the Philippines, Vol. XVII, part II, p. 427. เอกสารสเปนใน The Philippine Islands ว่าหลังจากที่นายเตโยเข้ารับตําแหน่งผู้ว่าราชการ เขาได้กราบบังคมทูลพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ว่า “ได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงเสียน” ดูจดหมายถวายพระเจ้าเฟลิเปที่ 2, เล่ม 10, หน้า 268 และต้นฉบับพระราชสาส์น, หน้า 288. จึงเป็นข้อควรคิดว่าคณะทูตคงเหลือรอดไปถึงกรุงมะนิลา หรือมีผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมือลาวไม่กี่คน หรือข่าวเรื่องนี้อาจเป็นข่าวลือในกรุงศรีอยุธยา

[3] พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, หน้า 26.

[4] Ibid., หน้า 28.

[5] พงศาวดารละแวก, ประชุมพงศาวดาร, ภาคที่ 71, เล่มที่ 44 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 25812), หน้า 252-253.

[6] สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร 2514), หน้า 149.

[7] พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, หน้า 18.

[8] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2503), หน้า 556; เปลื้อง ณ นคร, พจนะสารานุกรมฉบับทันสมัย (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2517), หน้า 261.

[9] พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, หน้า 10, 16.

[10] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชพิธีสิบสองเดือน, (พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2515), หน้า 272.

[11] “กฎมณเฑียรบาล”, กฎหมายตราสามดวง, เล่ม 1 (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2515), หน้า 134.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2562