ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | บุญเตือน ศรีวรพจน์ |
เผยแพร่ |
หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทย กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่าทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทรงเชี่ยวชาญในการศึกยากที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นเสมอเหมือน
พระราชวีรกรรมสําคัญประการหนึ่งที่ประวัติศาสตร์มักอ้างถึงคือ การเสด็จกรีธาทัพไปตีเมืองละแวก และจับนักพระสัฏฐากษัตริย์กรุงกัมพูชาประหารชีวิตด้วยการประกอบพระราชพิธีปฐมกรรม
“เอาโลหิตนักพระสัฏฐาล้างพระบาท”
พระราชพิธีอันชวนขนพองสยองเกล้านี้เข้าใจว่า หนังสือประวัติศาสตร์คงนํามาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตอนสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวกเมื่อปี พุทธศักราช 2136-2137 ซึ่งระบุว่า เมื่อตีเมืองละแวกได้แล้ว ทรงประกอบพระราชพิธีปฐมกรรม
“ …จึงตรัสว่า เราได้ออกวาจาไว้แล้วว่า ถ้ามีชัยแก่ท่านจะทําพิธีประถมกรรม เอาโลหิตท่านล้างบาทาเสียให้จงได้…ตรัสดังนั้นแล้วก็มีพระราชบริหารแก่มุขมนตรีให้ตั้งการพิธีประถมกรรมโดยสาตร พระโหราธิบดีชีพ่อพราหมณ์จัดแจงการนั้นเสร็จ จึงอัญเชิญสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเกย เจ้าพนักงานองครักษ์เอาตัวพระยาละแวกเข้าใต้เกยตัดศีรษะ เอาถาดรองโลหิตขึ้นไปชําระพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องชัย ชีพ่อพราหมณ์เป่าสังข์ ประโคม ดุริยดนตรี ถวายมูรธาภิเษก ทรงอาเศียรภาทโดยสาตรพิธีเสร็จเสด็จเข้าพลับพลา”
เนื้อหาในพระราชพงศาวดารตอนนี้ทําให้คนไทยจํานวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า “พระราชพิธีปฐมกรรม” คือการ “ประหารศัตรูแล้วเอาโลหิตมาล้างพระบาท” ความเชื่อดังกล่าวปรากฏในภาพจิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระยาอนุศาสน์จิตรกร เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 จิตรกรรมดังกล่าวมีภาพตอนพระราชพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก ซึ่งน่าจะได้เค้าไปจากความในพระราชพงศาวดารเช่นกัน
รายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวในพระราชพงศาวดารเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับพระราชกฤษฎาภินิหารของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แต่ละเรื่องเป็นการบันทึกย้อนอดีต เรียบเรียงขึ้นภายหลังรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ เป็นร้อย ๆ ปี จะเห็นได้ว่าสํานวนโวหารในพระราชพงศาวดารประกอบด้วยภาษาเชิงวรรณศิลป์ปนอยู่เป็นอันมาก (ยกเว้นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) เนื้อความหลายตอนกล่าวว่า “มีพระราชดํารัสว่าอย่างนั้น มีพระราชดําริว่าอย่างนี้” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อได้ว่าผู้บันทึกพระราชพงศาวดาร โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ไม่ เคยได้ยินพระราชดํารัสจากพระโอษฐ์
เมื่อมีการบันทึกเรื่องราวย้อนหลังจึงเพิ่มเติมเนื้อความตามที่เห็นว่าควรจะเป็นลงไปด้วย เช่นเนื้อความในหนังสือซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้แม่ทัพหน้าของไทยมีไปถึงนักพระสัฏฐาว่า
“…ด้วยแต่ก่อนกรุงกัมพูชาธิบดีเคยถวายหิรัญสุวรรณมาลาเครื่องราชบรรณาการสองพระนครก็เป็น สุวรรณปัฐพี่เดียวกัน สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ก็ได้ความสุขานุสุข เป็นไฉนพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีมิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ คิดอหังการกลับเป็นประจามิตรให้เคืองใต้พระบาทยุคล เอาโลหิตมาเป็นน้ำล้างดาบทหารไทยจะให้เหลืออยู่แต่น้ำกับฟ้า ป่ากับดินดังนี้ก็ดีมควร…”
ตัวอย่างที่ยกมานี้จากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา จะเห็นว่าสํานวนภาษาประกอบด้วยวรรณศิลป์มีการขัดเกลาปรุงแต่งอย่างสละสลวย ลักษณะสํานวนภาษาเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งบันทึกขึ้นภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรหลายร้อยปี
สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงพระราชพิธีปฐมกรรมที่เมืองละแวก ไว้ในหนังสือ “พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” มีเนื้อหาทํานองเดียวกับพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา คือ
“ครั้นถึงเดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2137 สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารออกบัญชาการ รบเอง พอดึกเวลา 4 นาฬิกา ก็ให้สัญญากองทัพ ให้ตีเมืองพร้อมกันทุกด้าน ข้าศึกต่อสู้รบพุ่งเป็นสามารถ แต่ พอรุ่งสว่างกองทัพไทยก็เข้าเมืองได้ และจับได้ทั้งนักพระ สัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชา และพระศรีสุพรรณมาธิราช เมื่อได้เมืองละแวกแล้วสมเด็จพระนเรศวรตรัสสั่งให้ทําพิธีปฐมกรรม และเอาตัวนักพระสัฏฐาไปประหารชีวิต ตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้เพียงสั้นๆ ว่า
“ศักราช 955 ปีมะเส็ง (พ.ศ. 2136)…เสด็จพยุหยาตราไปเอาเมืองละแวก แลตั้งทัพชัยตําบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีพรรณ ในวันอาทิตย์ แรม ค่ำ 1”
ความดังกล่าวระบุว่าได้ตัว “พระยาศรีพรรณ” ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่น ๆ เรียกว่า “พระศรีสุพรรณมาธิราช” มิได้กล่าวถึงนักพระสัฏฐาและการประกอบพระราชพิธีปฐมกรรมแต่อย่างใด ซึ่งหาก “พิธีปฐมกรรม” ครั้งนั้นคือการ “เอาโลหิตนักพระสัฏฐามาล้างพระบาท” อันเป็นเรื่องพิสดารไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็น่าที่จะต้องมีการบันทึกไว้
ประเด็นเกี่ยวกับนักพระสัฏฐานี้ ม.ล.มานิจ ชุมสาย เคยเสนอบทความเรื่อง “พระนเรศวรกับกรุงละแวกจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสและจากบันทึกของบาทหลวง ซานอโตนิโอ ชาวโปรตุเกส” บทความดังกล่าวเสนอหลักฐานใหม่ว่า นักพระสัฏฐามิได้ถูกประหารเอาเลือดมาล้างพระบาทสมเด็จพระนเรศวรตามที่เคยเชื่อกันมา แต่หนีข้ามเขตแดนญวนไปอยู่ที่เมืองเชียงแตงในเขตลาว โดยอ้างบันทึกจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ในครั้งนั้น
“นักพระสัฏฐาคิดต่อสู้กับกองทัพไทยของสมเด็จพระนเรศวรโดยส่งมหาอุปราชไปยังเมืองบริบูรณ์ …อุปราชเมื่อทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินได้หนีไปจากกรุงละแวกแล้ว แหกค่ายทิ้งเมือง (บริบูรณ์) มายังกรุง ละแวก ซึ่งอาจได้ประโยชน์มากกว่าจะอยู่ที่เดิม เจ้ากรุงละแวกจึงเตรียมตัวต่อสู้ กองทัพไทยที่ติดตามมาโดยใกล้ชิด… พลเมืองหมดกําลังใจ กลัวการยกเข้าปล้นเมือง ท้อถอยต่อการสู้รบและในที่สุดก็เสียเมืองใน ค.ศ. 1593 อุปราชพร้อมทั้งครอบครัวถูกจับเอาตัวไปกรุงศรีอยุธยาพร้อมทั้งพลเมือง 90,000 คน… พระเจ้าแผ่นดินกับราชบุตรทั้ง 2 องค์หนีไปอยู่ที่เชียงแตง ทัพไทยยกเข้าปล้นเมือง เผาเมือง ขนราษฎรไปไว้ที่ต่างๆ ของเมืองไทย ทรัพย์สมบัติ หนังสือธรรม บันทึกประวัติศาสตร์ หนังสือกฎหมาย ขนเอาไปไว้อยุธยาหรือทําลายทั้งสิ้น
และในเวลาเดียวกันนี้นักพระสัฏฐาพร้อมด้วยบุตรชายสิ้นพระชนม์ลงที่เมืองเชียงแตง”
ความในจดหมายเหตุดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งมิได้กล่าวถึงนักพระสัฏฐาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงตีได้เมืองละแวกแล้วนั้น อาจมีการประกอบพระราชพิธีปฐมกรรมขึ้นที่เมืองละแวกจริงตามที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับระบุไว้ แต่พระราชพิธีดังกล่าวมิใช่ “การล้างพระบาทด้วยโลหิตศัตรูผู้ปราชัย”
พระราชพิธีปฐมกรรมนับเป็นพระราชพิธีใหญ่อย่างหนึ่งในพระราชพิธีสําคัญ 17 อย่าง ตามที่กล่าวในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา
“พระราชพิทธีแต่มีสนามคือ เบาะพกเผดจ์ศกลดแจด สํพรรษฉินท พัทรบทเฉวียน พระโคดุลาพานบุษยาภิเศก ราชาภิเศกอินทราภิเศกคชกรรมประถมาภิเศกประถมกรรม มัทยมกรรมอุดมกรรมอาจาริยาภิเศก อุปราคาปราบดาภิเศก 17 การพิทธีนี้ ย่อมสนามสําหรับสนามเหมบัตรท่อสวัสดิสหัศธาราน้ำอบ 16 คนโท น้ำดอกไม้ 16 คนโท พนักงานขุนสยุมพรขึ้นหล่อน้ำในเหม สมุหประธารแบก พานสนานวงงหน้าช้างพระบาท คลังผ้าซับพล เทพนําน้ำสังขปโรหิตรภิราม น้ำกลดมเหธรพิเชต”
จะเห็นว่าพระราชพิธีทั้ง 17 อย่างซึ่งมีปฐมกรรมมัธยมกรรม และอุดมกรรมรวมอยู่ด้วยนั้น มีการสรงมูรธาภิเษกทุกพระราชพิธี
พระราชพิธีปฐมกรรมและมัธยมกรรมนั้นเคยจัดขึ้น ครั้งหนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์มีว่า
“ศักราช 912 จอศก (พ.ศ. 2093) เดือน 8 ขึ้น 2 ค่ำ ทําการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า ตําบลท่าแดง พระกรรมวาจาเป็นพฤฒินาศ พระพิเชฏฐ์เป็นอัษฎาจารย์ พระอินโทรเป็นกรมการ”
“ศักราช 915 ฉลูศก (พ.ศ. 2096) แรกทําการ พระราชพิธีมัทยมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตําบลชัยนาทบุรี”
พระราชพิธีปฐมกรรมและมัธยมกรรมในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมิได้จัดขึ้นในพระนคร พระราชพิธีแรกนั้นกล่าวถึงพราหมณ์พฤฒิบาศและพราหมณ์อัษฎาจารย์ อันเป็นพราหมณ์ผู้ทําพิธีกรรมและปัดรังควานเสนียดจัญไรเกี่ยวกับช้าง
ดังนั้น ลักษณะของพระราชพิธีปฐมกรรมจึงน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของช้าง ไม่น่าจะมีความสัมพันธ์ ใด ๆ กับการล้างพระบาทด้วยโลหิตศัตรู และพระราชพิธี ทั้ง 3 คือ ปฐมกรรม มัธยมกรรม และอุดมกรรม มีคําว่า “กรรม” ต่อท้ายพระราชพิธีนั้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ “พระเทวกรรม” เทวดาสําคัญของพิธีโพนช้าง คล้องช้าง
ขั้นตอนสําคัญของพระราชพิธีนอกจากจะมีการสรงมูรธาภิเษกแล้วยังกล่าวถึง “สมุหประธารแบกพานสนานวังหน้าช้างพระบาท” บ่งชี้ว่าต้องมีพระคชาธารหรือช้างพระที่นั่งเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในพระราชพิธีด้วย
ก่อนหน้ารัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมีการประกอบพระราชพิธีปฐมกรรมและมัธยมกรรมในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ส่วนอุดมกรรมนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยทํา อาจเป็นไปได้ว่าพระราชพิธีปฐมกรรมและมัธยมกรรมนั้นมีขึ้นเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทําว่า “พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิราชาธิราช” ดังนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจึงได้พระนามว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”
เมื่อสมเด็จพระนเรศวร “เสด็จไปเอาเมืองละแวก” ครั้งนั้นทรงมีชัยแก่ข้าศึกด้วยกระบวนทัพช้าง และหากมีการตั้งพระราชพิธีปฐมกรรมที่เมืองละแวกจริงตามที่พระราชพงศาวดารว่า ก็น่าจะอยู่ในลักษณะของการประกาศพระองค์ว่าทรงเป็นจักรพรรดิราชาธิราช มีการยกย่อง “ช้าง” ซึ่งทรงใช้เป็นราชพาหนะ
อนึ่ง ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวถึงพระราชพิธีอย่างหนึ่งซึ่งกําหนดทําในเดือน 7 คือพระราชพิธี “ทูลน้ำล้างพระบาท” ซึ่งในพระราชพิธีมีการ “ผูกพระปราบพระชยานุภาพยืนที่อ่างทองรองพระบาท” นามของช้างที่ปรากฏในพระราชพิธีคือ “พระปราบ” และ “พระชยานุภาพ” นั้นน่าจะได้แก่เจ้าพระยาปราบหงสา หรือเจ้าพระยาไชยานุภาพ พระคชาธารคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวร
อาจเป็นไปได้ว่าผู้บันทึกพระราชพงศาวดารในชั้นหลัง ๆ มีความสับสนเรื่องพระราชพิธีปฐมกรรม กับพระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาทซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงจัดขึ้นที่เมืองละแวก จึงทําให้พระราชพิธีปฐมกรรมครั้งนั้นกลายเป็นการล้างพระบาทด้วยโลหิตนักพระสัฏฐา
การเอาโลหิตศัตรูผู้แพ้สงครามไม่มีทางสู้มาล้างพระบาทให้เป็นมลทินแปดเปื้อนนั้น เป็นความน่าอุจาดมากกว่าน่าสรรเสริญวีรกษัตริย์ประเสริฐเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชย่อมไม่ทรงกระทําอย่างเด็ดขาด
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2562