ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือพระนามเต็ม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช” เป็นเจ้าชายไทยไม่กี่พระองค์ที่มีความสามารถด้านการแข่งรถ จนโด่งดังไปทั่วโลกในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ทรงเป็นเจ้าชายที่คว้าตำแหน่ง “ดาราทอง” ของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ และเป็นแชมป์แข่งรถขนาดเบาระหว่างชาติหลายแห่งในยุโรปช่วง พ.ศ. 2478-2479
ไม่เพียงแค่เรื่องความสามารถในสนาม เรื่องราวว่าด้วยความรักของพระองค์ก็เป็นที่สนใจเช่นกัน
สำหรับคนในแวดวงกีฬาแข่งรถ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงเป็นเจ้าชายนักแข่งรถที่มีชื่อเสียงอย่างมาก หากหลักฐานในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นเรื่องเข้าใจผิด แม้แต่นิตยสารทำมือของจอห์น เลนนอน (John Lennon) ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ John Lennon Museum ที่เมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น นิตยสารทำมือสมัยที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมที่โรงเรียนในเมืองลิเวอร์พูล ก็ยังมีภาพข่าวกีฬาเป็นภาพชัยชนะของ “พระองค์พีรฯ” 2 ภาพด้วย (ฉลอง สุนทราวาณิชย์, 2549)
พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช นักแข่งรถที่โด่งดัง
พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช อาจเป็นเจ้าชายที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษและยุโรป ในข้อเท็จจริงแล้ว ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และในหม่อมเล็ก (ยงใจยุทธ) ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
พระองค์เจ้าพีรฯ ทรงแข่งรถระยะสั้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2478 โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ เป็นผู้จัดการ ครั้งนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเหตุขัดข้องเกี่ยวกับเครื่องยนต์ แต่ก็ทำให้ชาวต่างชาติสนใจเจ้าชายสยามที่ทรงประทับรถหรูสง่างามเข้ามาในสนาม โดยเฉพาะรถแข่งสีฟ้าของพระองค์ติดตาจน ชาวอังกฤษเรียกติดปากในยุคนั้นว่า “BIRA BLUE” (BIRA มาจาก “พระองค์เจ้าพีรฯ”)
ในช่วงหลังจากนั้นจนถึง พ.ศ. 2480 พระองค์เจ้าพีรฯ ทรงชนะเลิศที่หนึ่ง 4 ครั้ง จากการชิงถ้วยเจ้าชายเรนีย์แห่งโมนาโก, ชิงรางวัลระหว่างชาติที่บรู๊กแลนด์ส, ชิงรางวัลใหญ่ของปีการ์ดี และชิงรางวัลใหญ่ของอาลบี
ความโด่งดังของพระองค์เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติระดับบิ๊ก พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 พระราชินีแห่งอังกฤษ ยังทรงติดตามข่าวคราวและสนพระทัยเรื่องการแข่งรถของเจ้าชายไทย นอกจากนี้ บุคคลที่โด่งดังในเวลาต่อมาอย่างจอห์น เลนนอน ก็ยังตัดภาพข่าวกีฬาลงในนิตยสารทำมือของตัวเอง
ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของพระองค์ในการแข่งรถที่แพร่กระจายไป เรื่องราวความรักของพระองค์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นก็มีชีวิตรักที่เสมือนนิยาย มีทั้งความผิดหวังและสมหวัง มีรักและเลิกราสลับกันไป จนกระทั่งเสด็จสู่สวรรค์อย่างเดียวดาย
พระองค์เจ้าพีรฯ ทรงกำพร้าหม่อมมารดาตั้งแต่ 4 ชันษา และอีก 5 ปีต่อมาก็ทรงกำพร้าสมเด็จพระบิดา โดยหลังจากที่พระองค์เจ้าพีรฯ เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เรียบร้อยแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2470 เสด็จไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอีตัน (ETON) ประเทศอังกฤษ ด้วยเอกลักษณ์ของพระองค์ทำให้แทบทุกคนที่ใกล้ชิดไม่มีใครโกรธหรือรำคาญท่านได้
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ “หลานอา” พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงมีศักดิ์เป็น “หลานอา” ของพระองค์เจ้าพีรฯ และสนิทสนมกับพระองค์เจ้าพีรฯ อย่างมาก เนื่องจากทรงศึกษาในอังกฤษมาก่อน กระทั่งพระองค์เจ้าพีรฯ เสด็จไปยังอังกฤษก็ทำให้สนิทสนมกัน และมีลายพระหัตถ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระองค์พีรฯ ทรงอยู่ในพระอุปการะ
ช่วง พ.ศ. 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เข้าเรียนประติมากรรมการปั้นรูป แต่ มร.วีลเลอร์ ที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สรรหาให้ทรงศึกษาการปั้นรูปแบบตัวต่อตัว แนะนำว่า พระองค์เจ้าพีรฯ ควรเรียนการวาดลายเส้นก่อน และส่งพระองค์ไปเรียนที่ BYAM SHAW ART SCHOOL ในขณะที่ทรงมีพระชนม์ 20 ชันษา ที่นี่เองพระองค์ได้พบกับซีริล และลิสบา สองสาวสวยในชั้นเรียน
ซีริลและลิสบา
ซีริล มีพี่ชายชื่อเวย์ ซึ่งเรียนโรงเรียนประจำที่อีตัน และเคยเล่าให้เธอฟังว่า มีเจ้าชายสยามมาอยู่ที่อีตัน และประทับในหอพักเดียวกับเวย์ ซีริล ชวนลิสบา เข้าไปแนะนำตัวว่าเป็นน้องสาวของเพื่อนพระองค์จากอีตัน
หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินี จักรพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ “เจ้าชายดาราทอง” เล่าว่า ซีริล มีพ่อเป็นนายทหารเรือประจำการ แม่เป็นกลุ่มการค้าที่ประสบความสำเร็จ เมื่อพระองค์เจ้าพีรฯ ติดพระทัยในหญิงสาวสวย ก็ทูลความในพระทัยต่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ “ผู้ปกครอง” ว่า ครอบครัวซีริลเคร่งครัดขนบธรรมเนียมประเพณี พ่อแม่ต้องรู้จักกับผู้ชายที่หมายปองโดยต้องเข้าไปหาถึงที่บ้าน
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงทำหน้าที่ผู้ปกครอง โดยติดต่อมารดาของซีริล ทรงเชิญมาร่วมเสวยพระสุธารสชาที่พระตำหนัก คอร์นวอลล์ (CORNWALL) ผู้ปกครองของเธอไม่ได้ปิดกั้น แต่ก็ลงความเห็นว่า จะไม่พูดถึงเรื่องแต่งงานจนกว่าซีริลบรรลุนิติภาวะอายุ 21 ปีในอีก 3 ปีข้างหน้า
ซีริลยังปลาบปลื้มเมื่อหวานใจได้เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งในโมนาโก กรังด์ปรีซ์ เมื่อ พ.ศ. 2479 แม้จะไม่ได้อยู่ที่สนาม แต่เธอยังได้รับโทรเลขที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ส่งมาแทนพระองค์เจ้าพีรฯ ซึ่งกำลังยุ่งกับการรุมล้อมของประชาชนและนักข่าว
ปี 2479 หลังจากโมนาโก กรังด์ ปรีซ์ พระองค์พีรฯ ทรงชนะการแข่งสนามย่อยอีกหลายครั้ง ซีริลที่ได้รับโทรเลขก็มีความสุข ขณะที่ช่วงเวลานั้นลิสบา เพื่อนสาวของซีริล ก็เริ่มควงคู่ทำความรู้จักกับพระองค์จุลฯ หลังจากที่พระองค์พีรฯ ทรงเป็นผู้ให้เธอมีโอกาสเข้าเฝ้าผู้ปกครองของพระองค์ไม่นานจากนั้น เสด็จพระองค์จุลฯ ทรงขอลิสบาแต่งงาน แต่ลิสบาขอประทานเวลาชั่งใจสักพัก
ระหว่างนั้น มีการแข่งรถที่อิตาลี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2479 แม้การแข่งครั้งนั้นพระองค์พีรฯ ต้องหยุดแข่งกลางคันเนื่องจากหม้อแปลงไฟไหม้ แต่ยังมีเหตุการณ์อื่นเข้ามาเมื่อเจ้าชายอุมแบร์โต (CROWN PRINCE UMBERTO) ของอิตาลี เชิญเสด็จทั้งสองพระองค์ไปประทับที่พระราชวังเมืองเนเปิลส์ (NAPLES)
ด้านซีริล ที่อายุครบ 21 ปี ใน พ.ศ. 2480 ก็เริ่มวางแผนการใช้ชีวิตภายภาคหน้ากับเจ้าชายสยาม พระองค์พีรฯวางแผนเสกสมรสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 ขณะที่ลิสบา ก็ตกลงว่าไม่เปลี่ยนใจและทูลพระองค์จุลฯ ว่าจะแต่งงานกับพระองค์ แม้จะนึกภาพเมืองสยามไม่ออก ฝั่งเจ้าชายสองพระองค์ก็ยังต้องขอเวลากลับไปสยามก่อนเช่นกัน โดยพระองค์จุลฯ ตั้งใจเสด็จไปกับพระองค์พีรฯ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน ไม่ทราบว่าสถานภาพของลิสบา กับซีริลจะอยู่ในสถานภาพใด
การเสกสมรส
เจ้าชายทั้งสองพระองค์ประทับที่กรุงเทพฯหนึ่งเดือนเศษ ระหว่างต้นพฤศจิกายน ถึงธันวาคม พ.ศ. 2480 ระหว่างนั้น หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินียังเล่าว่า พระองค์จุลฯ ทรงปรึกษากับพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เรื่องการเสกสมรส ซึ่งพระยาพหลฯ ทูลว่า จะต้องผ่านประธานผู้สำเร็จราชการและคณะผู้สำเร็จราชการ
ประธานผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (ชอุ่ม อินทรโยธิน) เมื่อเข้าเฝ้าแล้วก็ต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 8 ตามพระราชประเพณี
ท้ายที่สุด มีพระบรมราชานุญาตให้พระองค์พีรฯ เสกสมรสกับซีริลได้ พร้อมกับคำนำหน้าเช่นเดียวกับสามัญชนที่ได้สมรสกับเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปว่า “หม่อม” พระองค์พีรฯ เสด็จมาที่อังกฤษอีกครั้งเมื่อพ.ศ. 2480 และเสกสมรสเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481)
หลังจากเสกสมรสแล้ว พระองค์พีรฯ และซีริล พร้อมพระองค์จุลฯ และลิสบา ยังมีโอกาสประทับที่วังท่าเตียน (ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านจักรพงษ์”) วังของพระองค์เจ้าจุลฯ และลิสบา คือวังปารุสกวัน ส่วนวังของพระองค์พีรฯ และซีริล คือวังบูรพา ซึ่งแหม่มทั้งสองต้องใช้เวลาปรับตัวทีเดียว อาทิ ห้องบรรทมที่กว้างขวาง แต่เตียงบรรทมไม่มีเขนยหรือหมอน มีเพียงหมอนข้างสองอันวางแทน เพราะอากาศร้อน มิฉะนั้นเหงื่อแตกถ้านอนหนุนหมอน และหมอนข้างให้กอดแทนที่จะกอดกัน เนื่องจากเหนอะหนะเฉอะแฉะ
สงครามโลก
หลังจากประทับที่สยามในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายประการ จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2482 เจ้าชายทั้งสองพระองค์เสด็จมาถึงกรุงลอนดอนท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในยุโรป ช่วง ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ฮิตเลอร์ยกทัพเข้าโปแลนด์ ในเดือนกันยายน ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี ก่อนที่จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงแรกที่เจ้าชายทั้งสองทรงทราบเรื่อง ทรงปรารถนาร่วมฝ่ายพันธมิตร (ช่วงแรกไทยยังประกาศเป็นกลาง) โดยเฉพาะพระองค์พีรฯ ที่ทรงฝันจะประจำการกับกองทัพอังกฤษ แต่ทรงเป็นเจ้าชายสยาม และสยามเพิ่งประกาศเป็นกลางไป แต่เมื่อรัฐบาลไทยประกาศร่วมมือกับญี่ปุ่น และร่างสนธิสัญญาในช่วง พ.ศ. 2485 เท่ากับว่าไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นั่นคืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบต่อเจ้าชายทั้งสองที่ทรงประทับในอังกฤษคือกลายเป็น “ชนชาติศัตรู” กับอังกฤษ ขณะที่ทั้งสองพระองค์ยังทรงประทับในอังกฤษ และยังกระทบไปถึงหม่อมซีริลและลิสบาที่ต่างถือสัญชาติไทย
ตำรวจอังกฤษเข้ามาสำรวจที่ประทับของทั้งสองพระองค์ แต่รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า ทั้งสองพระองค์จะไม่ทรงถูกจำกัดบริเวณตามกฎระเบียบที่วางไว้ แม้ทั้งสองพระองค์ไม่สามารถรับใช้ชาติบ้านเมืองไทยได้ แต่ทรงเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันอังกฤษ ในฐานะประเทศที่พระองค์ทรงพำนัก โดยทั้งสองพระองค์สมัครเป็นพลทหารหน่วยอาสารักษาดินแดน แต่ทางการอังกฤษปฏิเสธ ทั้งสองพระองค์ได้เข้าไปอยู่ในหน่วยสนับสนุนการรบ
พระองค์พีรฯ เสด็จไปประจำหน่วยส่งสัญญาณ และเสด็จเข้าเวรตอนดึกกับหนุ่มชาวอังกฤษจนสนิทสนมกันและได้กลายเป็นพระสหายด้วยกัน รัฐบาลอังกฤษเห็นความสำคัญและถวายพระเกียรติอย่างดี หลังจากนั้นก็ยังทรงเข้าร่วมเสรีไทยด้วย ทรงเข้าประจำศูนย์ในฐานะครูฝึกเครื่องร่อนด้วยตำแหน่งเรืออากาศโท มีลูกศิษย์ชาวอังกฤษหลายท่าน ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากโรงเรียนก็ทำให้หม่อมซีริลหายเหงา
หลังจบสงคราม และจุดเปลี่ยนเรื่องความรัก พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช
หลังสงครามจบลง พระองค์พีรฯ เริ่มกลับเข้าสู่วงการแข่งรถใหม่ ในช่วงเวลานั้นพระองค์พีรฯ เป็นฮีโร่นักกีฬาชาวไทยก็ว่าได้ เสียงบอกเล่าของคนในช่วงเวลานั้นบ่งบอกกันว่า ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใด ประชาชนในประเทศนั้นจะตื่นเต้น และน่าภูมิใจ
ในช่วง พ.ศ. 2491 พระองค์พีรฯ เสด็จพร้อมหม่อมไปที่อาร์เจนตินา เจ้าชายไทยดูเหมือนจะชื่นชอบอาร์เจนตินา ทรงรับสั่งกับหม่อมซีริลเสมอว่า ชาวอาร์เจนไตน์มีชีวิตชีวา ร่าเริง เป็นกันเองและครึกครื้น แต่จากบันทึกของหม่อมราชวงศ์หญิงมาลินี จักรพันธุ์ ที่เล่าว่า หม่อมซีริลเริ่มรู้สึกว่าสวามีเปลี่ยนไป ทรงอยู่ไม่ติดที่ และทรงอึดอัดเมื่อมีหม่อมอยู่ด้วย
ข้อความตอนหนึ่งที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตรักของทั้งคู่ จากงานเขียนของหม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีมีใจความว่า
“หม่อมซีริล ตัวชาไปหมดเมื่อสวามีรับสั่งสารภาพว่า พระองค์ได้นอกใจหม่อมกับภรรยาเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ได้มีความหมายมากเท่ากับที่ทรงปรารถนาที่จะมีอิสรเสรีที่จะเสด็จไปไหนกับใครก็ได้ แต่อยากจะประทับอยู่กับหม่อมต่อไปแต่ด้วยความเสรี
หม่อมแสนจะเสียใจ แต่ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่ทรงปรารถนาได้ในความเสรีของพระองค์ท่านด้วยเหตุผลและหลักธรรมในใจของหม่อมที่ยอมไม่ได้ในการแต่งงานบนพื้นฐานแห่งความเสรี ซึ่งจะมีปัญหาตามมามากมาย…”
หม่อมซีริลไม่สามารถปรับตัวรับได้ ท้ายที่สุดต้องจัดการปัญหาหย่าร้าง หม่อมซีริลติดต่อหา บรูโน (Bruno) ซึ่งเป็นหนุ่มโสด หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีเชื่อว่า หนุ่มรายนี้ไม่ได้รู้เรื่องความรักที่ร้าวฉานมาก่อน และรับรู้เรื่องนี้ด้วยความเสียใจ อย่างไรก็ตาม หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีเล่าว่า บรูโนแอบหลงรักหม่อมมานานแล้ว หม่อมเองก็น่าจะรู้ตัวในช่วงติดต่อกันทางจดหมาย ใน พ.ศ. 2481 กระทั่งสงครามที่ขาดหายไป และติดต่อกันใหม่ในช่วงสงครามสงบ
บรูโนรายนี้เป็นหนุ่มอิตาเลียนที่เคร่งขรึม ชอบกีฬาทุกประเภทโดยเฉพาะเล่นเรือ ครองโสดจนอายุ 40 ปี ขณะที่พระองค์พีรฯ เสด็จไปเมืองคานส์ เพื่อทรงซื้อบ้านใหม่อยู่กับชลิตา (CHELITA) ที่ทรงรู้จักมาจากอาร์เจนตินา สมบัติที่พระองค์พีรฯ มอบให้หม่อมคือชุดโต๊ะ เก้าอี้ในแฟลตของพระองค์ทั้งหมด พร้อมรถ MORRIS หนึ่งคัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หม่อมปรารถนา เนื่องจากต้องการใช้รถมากที่สุด
หลังจากนั้นทั้งคู่ยังคงติดต่อกันอยู่ ตามการบอกเล่าของหม่อมราชวงศ์หญิงมาลินี ซึ่งบรรยายว่า ในช่วง พ.ศ. 2493 ที่พระองค์พีรฯ เสด็จกลับเมืองคานส์ และได้รับการ์ดวันเกิดจากหม่อมซีริล แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ “ชลิตา” ไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบว่า หม่อมซีริลไม่ได้กลับมาหากันอีกก็ค่อยสงบขึ้น
ภายหลังจากเรื่องสงบ หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีเล่าว่า “หม่อมซีริล บรูโน พระองค์พีรฯ และ CHELITA พบกันเป็นครั้งคราวเมื่อมีโอกาสตามประสาปัญญาชน ทั้งสี่ปรับสภาพชีวิตใหม่และรับสภาพได้เป็นอย่างดีด้วยการเป็นเพื่อนกัน
หน้าร้อนบางครั้งพระองค์พีรฯ ทรงพา CHELITA มาที่ RIVA ประทับอยู่กับหม่อมซีริลและบรูโนเพื่อทรงเรือใบที่โปรดปราน เมื่อพระองค์ท่านเสด็จออกเรือไปกับบรูโนที่ทะเลสาบ หม่อมซีริลกับ CHELITA อยู่ที่ VILLA รวมทั้ง MINI กับน้อง TITCH (สุนัขทรงเลี้ยง) ได้กลับมาอยู่ร่วมกันเป็นครั้งคราวอย่างมีความสุข”
ใน พ.ศ. 2494 พระองค์พีรฯ ทรงเสกสมรสครั้งที่สองกับ CHELITA หลังจากนั้น บรูโนและซีริลยังเคยตามเสด็จไปดูการแข่งรถที่ฝรั่งเศสด้วย ต่อมา พระองค์พีรฯ เสด็จกลับไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 โดยทรงตั้งพระทัยจะตั้งรกรากที่เมืองไทยหลัง CHELITA คลอดบุตร
ขณะที่ CHELITA เมื่อมาถึงเมืองไทยก็ดูไม่ค่อยถูกกับสภาพแวดล้อมเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และสภาพอากาศ ขณะเดียวกันหม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีเล่าว่า หม่อมชลิตาไม่ได้รับความสนใจจากพระองค์เจ้าพีรฯ เท่าที่ควร 7 เดือนหลังจากนั้นพระองค์พีรฯ เสด็จกลับฝรั่งเศสและหย่ากับชลิตา
หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีบรรยายต่อมาว่า “…พระองค์ท่านทรงพบรักกับคุณสาลิกา สาวไทยหน้าค่อนข้าง EXOTIC ไม่เหมือนใคร หน้าตาของเธอเป็นเอกลักษณ์ คิ้วเข้ม ตาคม เป็นสาวไทยที่ทรงปลื้มมาก และเธอยังเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินเดินอากาศไทย เมื่อแต่งเครื่องแบบใส่หมวก รวบผมที่ยาวประบ่าดำขลับขึ้นไป ทำให้เธอดูโก้มาก”
คุณสาลิกา กะลันตานนท์ เป็นลูกข้าราชการ คุณสาลิกาทำงานในระดับผู้จัดการในโรงแรมรัตนโกสินทร์แม้จะอายุ 74 ปี ส่วนหม่อมชลิตาแต่งงานใหม่กับหนุ่มละติน
พระองค์พีรฯ เสกสมรสกับคุณสาลิกา ใน พ.ศ. 2500 ถือว่าเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่พระองค์ทรงรัก คุณสาลิกา กะลันตานนท์ เปลี่ยนเป็นหม่อมสาลิกา ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
สำหรับเรื่องราวของหม่อมชลิตา ย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2560 รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยเรื่องราวชีวิตในช่วงบั้นปลายของสตรีที่เชื่อกันว่าคือหม่อมชลิตา ซึ่งขณะนั้นอายุ 94 ปี ว่า อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราชานกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
ขณะที่พระองค์พีรฯ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2528 ที่ประเทศอังกฤษ ในวัย 71 ชันษา หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินีบอกเล่าช่วงเวลานั้นว่า พระองค์ทรงล้มลงในชานชาลารถไฟใต้ดินกรุงลอนดอน ด้วยอาการของโรคหัวใจเฉียบพลัน ในร่างของพระองค์มีจดหมายที่เขียนเป็นภาษาไทย และเป็นหลักฐานบ่งชี้ตัวตนเพียงชิ้นเดียวว่าผู้เสียชีวิตคือพระองค์พีรฯ ซึ่งตำรวจใช้เวลาสืบสวนถึง 7 วัน ต้องนำจดหมายไปให้มหาวิทยาลัยลอนดอนตรวจสอบและแปลภาษา กระทั่งรู้ความหมาย หลังจากนั้นข่าวการเสียชีวิตก็แพร่กระจายในหน้าสื่อทั้งต่างประเทศและในไทย
ยังมีเกร็ดเรื่องราวที่น่าสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างบรูโน, ซีริล และพระองค์พีรฯ อยู่ จะได้มาบอกเล่าในโอกาสต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังซื้อขาย “วังบูรพา” จากวังสู่ห้าง มรดกทำเลทองย่านการค้ากลางกรุงที่จำต้องขาย
- พระองค์พีระที่ญี่ปุ่น
- พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ “สมัยเด็ก” ทำไมทูลขอเป็น “กรมหลวงอุตรดิตถ์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หญิงหมัด (หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินี จักรพันธุ์). เจ้าชายดาราทอง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.
เปิดประวัติ “หม่อมชลิตา” สาวอาร์เจนตินาสู่พระชายา “พระองค์พีระ” ใช้ชีวิตบั้นปลายลำพัง. ข่าวสด. ออนไลน์. เผยแพร่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560. เข้าถึง 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_501217>
ฉลอง สุนทราวาณิชย์. “พระองค์พีระที่ญี่ปุ่น”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2549. ฉบับออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2561. เข้าถึง 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_9621>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2562