พระองค์พีระที่ญี่ปุ่น

(ซ้าย) จอห์น เลนนอนเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗, ฉากหลัง พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หลังจากทรงชนะถ้วยเจ้าชายเรเนียร์แห่งโมนาโก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปธุระที่โตเกียวเสร็จธุระมีเวลาว่างเลยแวะไป John Lennon Museum ที่เมือง Saitama ห่างจากโตเกียวโดยรถไฟประมาณ ๑ ชั่วโมง JL เป็นศิลปินดนตรีวีรบุรุษช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น เดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วยฟื้นความหลังครั้งกระโน้น

มีบางอย่างที่เห็นในนั้นน่าสนใจดี ก็เลยอยากจะเล่าสู่ให้แฟนๆ ศิลปวัฒนธรรมฟังกัน เพราะในบรรดาสิ่งของส่วนตัวของ JL ที่นำมาตั้งแสดงอยู่ในตู้กระจกใบหนึ่งนั้น มีชิ้นหนึ่งที่คนไทยที่มีจิตวิญญาณ “รักชาติ” และโหยหา “การยอมรับ” ในระดับสากลคงไม่รู้กันมาก่อน นั่นคือ “นิตยสารในชั้นเรียน” ที่ JL ทำขึ้นด้วยมือตนเองสมัยที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมที่โรงเรียนในเมืองลิเวอร์พูล หน้าของนิตยสารที่เปิดกางออกให้คนมาเดิมชมได้เห็นนั้น เป็นหน้าเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งคงจะอนุมานได้ว่าภาพข่าวกีฬาที่ JL ตัดจากหน้าหนังสือพิมพ์มาติดลงในนิตยสารทำด้วยมือเล่มนี้ เป็นภาพข่าวกีฬาและนักกีฬาที่ JL ในวัยเด็กชื่นชอบโปรดปราน ในบรรดาภาพประมาณ ๗-๘ ภาพที่ติดอยู่ในหน้าที่กางออกมา ๒ หน้านั้น ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพการแข่งรถ และในจำนวนนั้นถ้าความจำของผมไม่เลอะเลือน เป็นภาพชัยชนะของ “พระองค์พีระ” ถึง ๒ ภาด ในขณะที่ภาพนักแข่งรถชั้นนำคนอื่นๆ มีอย่างดีก็ภาพเดียว พระองค์พีระจึงเป็นวีรบุรุษนักกีฬาในดวงใจของ JL ในวัยเด็กอย่างไม่พึงต้องสงสัย เสียดายที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ไม่งั้นคงมีภาพนิตยสารในชั้นเรียนเล่มนี้มาให้ดูกัน

Advertisement

กลับมาที่กรุงเทพฯ เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนบางคนฟังว่า อย่างน้อยที่สุดก็เคยมียอดนักกีฬาไทยที่สุดยอดศิลปินนักดนตรีชื่อดังอย่าง JL ชื่นชอบ ควรที่ชาวไทยที่รักชาติและโหยหาตำแหน่งแห่งที่ในสังคมโลกจะภาคภูมิใจ เพื่อนผมตอบผมว่าอย่างไรทราบไหมครับ เขาบอกว่า พระองค์พีระไม่เห็นจะเป็น “คนไทย” ตรงไหน เพราะแม้จะเป็น “คนไทย” แต่ก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษและยุโรป เกือบจะไม่เคยใช้ชีวิตแบบ “ไทยๆ” และเผลอๆ ไม่ได้คิดอะไรแบบ “ไทยๆ” ด้วยซ้ำไป