ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
“จนใคร ๆ พากันโจษว่าท่านเป็นกะเทย” เป็นความตอนหนึ่งใน “ฟื้นรำลึก” หนังสือ “ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ” พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอนิรุทธเทวา พ.ศ. 2494 ผู้บันทึกข้อความข้างต้นคือ คุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา ภรรยาของพระยาอนิรุทธเทวา อันมีที่มาจากคำครหานินทาว่าท่านมิใช่ผู้ชาย เพราะเป็น “นายใน” และเป็น “คนโปรด” ของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 6
พึ่งบุญ
พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา หรือ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เป็นบุตรของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพี่ชายคือ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ที่ต่างก็ได้ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร
พระยาอนิรุทธเทวาถวายตัวพร้อมกับพี่ชายเมื่อ พ.ศ. 2446 หลังรัชกาลที่ 6 เสด็จนิวัติจากทวีปยุโรปคืนสู่พระนคร จากนั้นใน พ.ศ. 2449 ท่านรับราชการครั้งแรกเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม เมื่อ พ.ศ. 2454 จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นนายสมุทรมโนมัย ชั้นหุ้มแพร มีหน้าที่เป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราช มีความสามารถด้านขี่ม้ามากยากจะหาใครเทียมในยุคนั้น
ท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอนิรุทธเทวา” เมื่อ พ.ศ. 2459 และดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพ และเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทเรื่อยมา
มหาดเล็ก
พระยาอนิรุทธเทวาเป็นมหาดเล็กที่ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 อย่างใกล้ชิดเสมอมา เช่นครั้งที่เสด็จบางปะอิน ถ้ารัชกาลที่ 6 ทรงเรือกรรเชียง พระยาอนิรุทธเทวาจะนั่งเรือลำเดียวกับพระองค์ ส่วนเจ้าพระยารามราฆพจะแล่นเรือยนต์โฉบไปมาเพื่อตรวจความเรียบร้อย ขณะที่มหาดเล็กคนอื่นจะตามเสด็จด้วยเรือกรรเชียงลำอื่น จึงแสดงให้เห็นถึงการเป็น “คนโปรด” ได้อย่างชัดเจน
พระยาอนิรุทธเทวามีหน้าที่ที่ต้องถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด เช่น หน้าที่ตัดแต่งพระนขา (เล็บ) ปลงพระมัสสุ (โกนหนวด) ซึ่งไม่มีใครถวายงานนี้ได้ดีเท่าท่าน และต้องนอนอยู่ใกล้ชิดห้องพระบรรทมหรือพื้นปลายพระแท่น (เตียง) เพื่อถวายอารักขา ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงตื่นบรรทมจะมีรับสั่งว่า “ฟื้น พ่อตื่นแล้ว” นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมโต๊ะเสวยกับรัชกาลที่ 6 อีกด้วย
การจะเป็นคนโปรดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พระยาอนิรุทธเทวาจำเป็นต้องศึกษางานหลายด้านที่ต้องเพียบพร้อมด้วยความสามารถอันจะถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์โดยมิให้ขาดตกบกพร่อง ท่านทราบเสมอว่ารัชกาลที่ 6 โปรดสิ่งใด ไม่โปรดสิ่งใด ท่านถวายงานตลอดทั้งกลางวันกลางคืนโดยมิเหน็ดเหนื่อย “ถวายพระราชปรนนิบัติยิ่งเสียกว่าพระมเหสี” จนทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 6 อย่างมาก
รัชกาลที่ 6 โปรดให้พระยาอนิรุทธเทวาถวายงานรับใช้ใกล้พระองค์อยู่เสมอ ตามที่พระธรรมราชนิเทศบันทึกว่า “…ติดสอยห้อยตามพระยุคลบาทเหมือนเงาตามพระองค์ ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ ที่ใด จะเป็นในห้องพระบรรทมก็ดี ห้องพระอักษรก็ดี ในโรงละครก็ดี ในสนามเล่นก็ดี ในสนามเสือป่าก็ดี ในการเสด็จออกขุนนางก็ดี… เราเป็นต้องเห็นท่านเจ้าคุณอนิรุทธเทวาโดยเสด็จใกล้ชิดพระยุคลบาทอยู่เสมอ” จนพระธรรมราชนิเทศกล่าวว่า รัชกาลที่ 6 “ทรงชุบเลี้ยงท่านเจ้าคุณเสมือนหนึ่งเป็นพระราชบุตรบุญธรรม”
คนโปรด
การเป็นคนโปรดนี้เห็นได้จากสิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เช่น ซองบุหรี่ ทรงเซ็นว่า “ให้ ม.ล. ฟื้น ในวันเกิด”, นาฬิกาพก ทรงเซ็นว่า “ให้ฟื้น” และพระบรมฉายาลักษณ์ ทรงเซ็นว่า “ให้ฟื้นเป็นรางวัลในการที่ได้สำแดงความตั้งใจปฏิบัติให้ได้รับความพอใจ” เป็นต้น นอกจากนี้ พระยาอนิรุทธเทวายังได้รับเงินพระราชทานตามพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ปีละ 18,000 บาท เมื่อหักเงินบำนาญออกแล้วจะได้รับเงินตามพระราชพินัยกรรม ปีละ 11,896 บาท
แม้จะเป็นคนโปรดมากคนหนึ่ง แต่พระยาอนิรุทธเทวาก็มิได้มักใหญ่ใฝ่สูง ดังที่ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกถึงท่านว่า “…ส่วนพระยาอนิรุทธเทวาน้องช
ครั้นเมื่อเปลี่ยนสู่รัชกาลใหม่ รัฐบาลพยายามตัดทอนค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ราว 4-5 ล้านบาท อันก่อจากรายจ่ายท่วมรายรับมาตั้งแต่รัชกาลก่อน เจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์เห็นควรให้ปรับลดเงินในพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ลง คือหากผู้ใดได้รับเงิน 2,000 บาท ก็ให้ลดลงเหลือ 1,200 บาท
กระนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้ผู้ที่มีสิทธิ์ตามพระราชพินัยกรรม เช่น พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) และเจ้าพระยารามราฆพ ถึงขั้นรวมกันฟ้องเรียกเงินตามพระราช
ชายหนุ่มรูปงาม
พระยาอนิรุทธเทวาเป็นคนที่มีลักษณะและอุปนิสัยเรียบร้อย ตามที่พระธรรมราชนิเทศอธิบายว่าท่านมีนิสัยเยือกเย็น สุขุม มีจริตกิริยาแช่มช้อย เมื่อมีโอกาสปราศรัยด้วยก็เป็นคนน่ารักน่านับถือ นอกจากนี้ท่านยังมี “หัว” ในทางสวยงาม มองเห็นอะไร ๆ ในแง่สวยงาม
ส่วนคุณหญิงเฉลาอธิบายว่า พระยาอนิรุทธเทวามีนิสัยใจคอละเอียดอ่อน ละมุนละไม เมตตาปรานีทุกคนที่คบหาสมาคม หวังดีต่อทุก ๆ คน เป็นคนอ่อนน้อม และน่าเคารพบูชา ด้วยกิริยาต่าง ๆ เหล่าจึงนี้ทำให้เกิดเสียงนินทาว่าท่านมิใช่ผู้ชาย
คำครหานินทาเหล่านั้นคงจะมีที่มาจากเหตุหนึ่งคือ พระยาอนิรุทธเทวามักแต่งกายคล้ายผู้หญิง ตามบันทึกของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปงานฤดูหนาวที่วังสราญรมย์ ท่านได้ไปเจอ “ชายงาม” ที่ทำให้ท่านติดตาติดใจ หลับตาก็ยังเห็นภาพของชายผู้นั้น ทุกคนต่างชมว่าชายผู้นั้นงาม “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์ ผู้ชายใส่เครื่องเพชรทั้งตัวงามวูบวาบไปหมด มองดูกลับไม่น่าเกลียด กลับเห็นเป็นน่ารัก แม้จะใส่สร้อยเพชรที่ข้อเท้า ก็ดูเก๋ดีออกจะตาย หน้าท่านก็ขาวสวย ผมก็ดำสนิทหยักศกสวย ลูกตาใสแวววาว ดูไปทั้งตัวสวยไปทั้งนั้น สมแล้วที่ท่านชื่ออนิรุทธเทวา แสดงว่าเทวดาจุติมาจากสวรรค์”
ขณะที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงบันทึกไว้ว่า “พวกที่ไม่ชอบก็ไม่มีอะไรจะต
บั้นปลาย
ภายหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต พระยาอนิรุทธเทวาได้ลาออกจากราชการ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านบรรทมสินธุ์ บ้านพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ท่านไม่มุ่งแสวงหาโชคลาภเงินทอง และยังคงแนวพระราชนิยมหรือพระราโชบายของรัชกาลที่ 6 นำมาปฏิบัติเสมอมา เช่น การจัดตั้งคณะนาฏศิลป์เรียกว่า “คณะละครบรรทมสินธุ์” และการหัดระบำให้กับเด็กรุ่นใหม่ ท่านได้ช่วยอุปถัมภ์นาฏศิลป์และให้การสนับสนุนกรมศิลปากรเริ่มฟื้นฟูการแสดงนาฏศิลป์ไทย ช่วยวิจารณ์ชี้แนะในฐานะผู้ที่มีความสามารถด้านศิลปกรรมแขนงนี้มากคนหนึ่งของชาติ
พระยาอนิรุทธเทวาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สมรสพระราชทานกับคุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา เมื่อ พ.ศ. 2467 มีบุตร-ธิดา ร่วมกัน 3 คน คือ งามเฉิด พึ่งบุญ ณ อยุธยา, งามฉลวย พึ่งบุญ ณ อยุธยา และ เฟื่องเฉลย พึ่งบุญ ณ อยุธยา
เมื่อพระยาอนิรุทธเทวาเสียชีวิต พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมีจดหมายถึงเจ้าพระยารามราฆพเกี่ยวกับข่าวเสียชีวิตของพระยาอนิรุทธเทวา ความตอนหนึ่งทรงอธิบายว่า “ฉันนับถือเธอในฐานเป็นมหาดเล็กที่ซื่อสัตย์ยิ่งคนหนึ่งของทูลหม่อมลุง (รัชกาลที่ 6 – ผู้เขียน) นับถือที่เป็นนักระบำอันรำอย่างสวยงามยิ่ง…” ซึ่งได้สร้างความประทับพระทัยแด่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นอย่างมาก
พระยาอนิรุทธเทวาป่วยด้วยโรคหัวใจพิการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2494 สิริอายุ 58 ปี ท่านเสียชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 6 และตลอดช่วงชีวิตของพระยาอนิรุทธเทวา “ท่านเจ้าคุณหนักแน่นด้วยความจงรักภักดีอย่างไม่มีเสื่อมคลาย”
อ่านเพิ่มเติม :
- บ้านบรรทมสินธุ์ ร.6 พระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา สู่บ้านพิษณุโลก มีเรื่องลี้ลับหรือ
- “บ้านนรสิงห์” ญี่ปุ่นไม่เคยขอเช่า เจ้าของไม่ได้อยากขาย แต่รัฐบาลอยากจะได้เอาไว้เอง
- บทบาท-ความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) นายในคนโปรดของร.6ที่สตรีหลง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. (2494). ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.
ชานันท์ ยอดหงษ์. (2556). นายในสมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน.
เนื่อง นิลรัตน์, หม่อมหลวง. (2550). ชีวิตในวัง 1. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2561). พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน.
วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562