ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
บ้านนรสิงห์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ทำเนียบรัฐบาล นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นทรัพย์สินของ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยพระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขายืนยันการพระราชทานที่ดินแปลงนี้ไว้ มีความดังนี้
“ที่ดินซึ่งได้ทำเปนสวนเพาะปลูกพรรณไม้ต่างๆ อันอยู่หลังโรงทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตำบลสวนดุสิตแปลงหนึ่งนี้เปนที่ของพระคลังข้างที่ มีจำนวนกว้างยาวคือ ทิศเหนือยาวไปตามถนนคอเสื้อ 4 เส้น 15 วา 2 ศอกคืบ ทิศใต้ยาวไปตามถนนลูกหลวง 4 เส้น 11 วา ทิศตวันออกยาวไปตามถนนฮก 6 เส้น 7 วา 2 ศอกคืบ ทิศตวันตกจดคลองแลยาวไปตามคลอง 6 เส้น 3 วาศอก…
ข้าพเจ้าเห็นว่าพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เปนผู้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดกราดกรำมาด้วยความจงรักภักดีอันมั่นคงต่อข้าพเจ้ามาช้านาน บัดนี้สมควรจะให้ที่บ้านอยู่เพื่อความศุขสำราญจะได้เปนกำลังที่จะรับราชการสืบไป จึงทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ยกที่ดินอันกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) สืบไป
พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) จะปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงในที่รายนี้ ฤๅจะซื้อขายให้ปันแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามแต่ใจพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ทุกประการ แต่ข้าพเจ้าขอคงอำนาจไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ประพฤติตนไม่สมควรจะปกปักรักษาที่นี้ได้เมื่อใด ฤๅข้าพเจ้าเห็นสมควรจะแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้ามีอำนาจจะเรียกคืนที่รายนี้ฤๅแลกเปลี่ยนได้ทุกเมื่อทุกเวลา เว้นแต่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาถือเอาอำนาจอันนี้ เพื่อคืนฤๅแลกเปลี่ยนเอาที่รายนี้จากพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ฤๅจากผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับทรัพย์มรฎกของพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ไม่ได้เปนอันขาด
ถ้าพระเจ้าแผ่นดินฤๅผู้ใดผู้หนึ่งที่มีอำนาจจะต้องประสงค์ที่รายนี้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ก็ขอให้พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้รับพระราชทานราคาตามสมควรแก่ที่นี้เถิด
หนังสือสำคัญฉบับนี้ ได้ลงชื่อแลประทับพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินแลสำหรับตัวข้าพเจ้ามอบให้ พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) รักษาไว้ แลได้คัดสำเนาความต้องกันมอบให้เจ้าพนักงานกรมพระคลังข้างที่รักษาไว้เปนพยานด้วยฉบับหนึ่ง”
ภายหลังที่ดินดังกล่าวได้ตกมาเป็นของรัฐบาลไทย โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ้างว่า เมื่อครั้งที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นได้มาขอเช่าบ้านหลังนี้ก่อน
ต่อมา ในเดือนมีนาคม “ปีเดียวกัน” เจ้าพระยารามราฆพจึงได้มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งเอกสารของสำนักเลาขาธิการคณะรัฐมนตรีระบุว่าเป็น “ปรีดี พนมยงค์” แสดงความจำนงที่จะขายที่ผืนนี้ให้กับรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าบ้านใหญ่โตเกินฐานะ ค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ ครั้นถึงเดือนกันยายน “ปีเดียวกัน” จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าควรซื้อที่ผืนนี้ไว้เพื่อทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง
แต่ในบทความ “พลิกตำนานบ้านนรสิงห์ และบ้านบรรทมสินธุ์” โดย วรชาติ มีชูบท (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558) ชี้ว่า ข้อมูลของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้น “ขัดแย้งกันเอง” โดยตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องญี่ปุ่นขอเช่า “บ้านนรสิงห์” เป็นสถานทูตนั้นน่าจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง คล้ายกับกรณีที่กระทรวงการคลังประสงค์จะซื้อที่ดินสถานทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2464 ก็มีการอ้างว่า ต้องรีบซื้อเพราะ “ญี่ปุ่น” สนใจอยู่ ซึ่งเมื่อพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ไปสืบความตามรับสั่งของรัชกาลที่ 6 กลับไม่พบหลักฐานว่า ญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวจริง
และเงื่อนเวลาก็เป็นปัญหา เพราะสงครามมหาเอเชียบูรพา เริ่มขึ้นเมื่อญี่ปุ่นบุกถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 (เวลาท้องถิ่น) และได้ยกพลขึ้นบกที่ไทยเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ถัดมาอีกแปดวัน สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติตั้งให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ด้วยเหตุนี้ การที่สำนักเลขาธิการฯ อ้างว่า เจ้าพระยารามราฆพทำหนังสือเสนอขายที่แปลงดังกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมปี 2484 ต่อ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเดือนมีนาคม ยังมิได้เกิดสงครามแต่อย่างใด หรือหากข้อความดังกล่าวเกิดจากการระบุปีผิด ที่ถูกควรเป็น มีนาคม “2485” ถึงอย่างนั้น ปรีดี ก็มิได้อยู่ในฐานรัฐมนตรีฯ แล้ว แต่เป็นผู้สำเร็จราชการฯ
เรื่อง “ราคา” ก็เป็นอีกประเด็นที่ วรชาติ เห็นว่าผิดสังเกต เนื่องจาก สำนักเลขาธิการฯ ระบุว่า รัฐบาลได้ซื้อ “บ้านนรสิงห์” และ “บ้านบรรทมสินธุ์” (ปัจจุบันคือบ้านพิษณุโลก เดิมรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ พระยาอนิรุทธเทวา [หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ]) มาจากเจ้าของเดิมในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมที่ดิน 2 แปลงเป็นเนื้อที่กว่า 50 ไร่ พร้อมตึกใหญ่โอ่อ่าถึงสองหลัง และอาคารบริวารอีกจำนวนมากด้วยราคาเพียง 1.5 ล้านบาทเท่านั้น
แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงไม่นาน พระยาอนิรุทธเทวาสามารถขายที่ดินส่วนที่เหลือในบริเวณบ้านบรรทมสินธุ์ซึ่งเป็น “ที่เปล่า” ราว 25 ไร่ กับเรือนหลังเล็กอีกไม่กี่หลังให้แก่นายแพทย์ชาวตะวันตกเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลมิชชั่นในราคา “หลายล้านบาท”
นอกจากนี้ วรชาติ ยังสันนิษฐานว่า “การซื้อขายบ้านนรสิงห์และบ้านบรรทมสินธุ์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลนั้นคงจะมิได้เกิดขึ้นจริง” แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้นคงจะใช้อำนาจเรียกคืนบ้านทั้งสองหลังคืน ด้วยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 โดยอ้างสิทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินที่ว่า
“ข้าพเจ้าขอคงอำนาจไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ประพฤติตนไม่สมควรจะปกปักรักษาที่นี้ได้เมื่อใด ฤๅข้าพเจ้าเห็นสมควรจะแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้ามีอำนาจจะเรียกคืนที่รายนี้ฤๅแลกเปลี่ยนได้ทุกเมื่อทุกเวลา”
วรชาติ สันนิษฐานว่า การเรียกคืนในครั้งนั้น “คงจะไม่มี ‘การพระราชทานราคาตามสมควรแก่ที่นี้’ ให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ ดังที่ระบุไว้ ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินดังกล่าว เจ้าพระยารามราฆพจึงคงจะไปร้องขอให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 อีกคนหนึ่ง เข้าซื้อบ้านนรสิงห์และบ้านบรรทมสินธุ์ไว้เป็นสมบัติของรัฐบาล
เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีบัญชาให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จ่ายเงินให้แก่เจ้าพระยารามราฆพและพระยาอนิรุทธเทวา เป็นจำนวน 1 ล้านบาท และ 500,000 บาท ตามลำดับ”
ด้วยเหตุนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังข้อสันนิษฐานของวรชาติแล้ว การ “ขาย” ที่ดินของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา จึงอาจมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ หากแต่ด้วยทั้งคู่ตกอยู่ภายใต้สภาพจำยอม จึงต้องยอมรับเงินจากรัฐอันมีลักษณะคล้ายกับค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเป็นอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติม :
- บ้านบรรทมสินธุ์ ร.6 พระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา สู่บ้านพิษณุโลก มีเรื่องลี้ลับหรือ?
- ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง
- พระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”
อ้างอิง :
วรชาติ มีชูบท. “พลิกตำนานบ้านนรสิงห์ และบ้านบรรทมสินธุ์” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2558)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2560