ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คนจำนวนไม่น้อยน่าจะเข้าใจว่า การเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นการตัดสินพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเอง และไม่มีวาระแอบแฝง คือเสด็จไปทอดพระเนตรความเจริญของชาติตะวันตกเท่านั้น
แต่หลักฐานชิ้นหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นมีเหตุผลมากกว่าไป “ท่องเที่ยว” เพื่อความสำราญหรือเปิดหูเปิดตา แต่เป็นผลพวงจากความกดดันหลัง “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่แม้เหตุการณ์จะผ่านไประยะหนึ่งแล้ว แต่ฝรั่งเศสยังคงกองกำลังส่วนหนึ่งไว้ที่จันทบุรี ไม่กระตือรือร้นที่จะถอนตัว
บรรยากาศดังกล่าวทำให้ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน-ยัคมินส์) ขุนนางใหญ่ชาวเบลเยียมในราชสำนักสยาม ร่างจดหมายกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า
“…สัตรูทั้งหลายของกรุงสยาม กำลังที่จะคิดเอาประโยชน์ในเวลานี้ เพื่อที่จะอุดหนุน โดยเปนการเปิดเผยมากบ้างน้อยบ้าง ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศให้คนเหนว่าเปนการจำเปนที่จะให้ฝรั่งเสสฤๅอังกฤษมาบำรุงป้องกันเมืองนี้ แลเพื่อที่จะขยายความให้ประชาชนพลเมืองนี้ทราบเซงแซ่กันไปในความคิดที่ว่าคนพลเมืองนี้ มีประโยชน์ที่จะเปนคนอยู่ในป้องกันต่างประเทศ มีเปนคนในบังคับฝรั่งเศส เปนต้นนั้นว่าดีกว่าเปนคนอยู่ในบังคับฝ่ายสยาม
การอันนี้ก็เหนได้ชัดเจนว่าเปนภัยอันร้ายแรงสำคัญยิ่งนัก จะกระทำให้ถึงเปนการสูญสิ้นความเปนอิศรภาพของพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน แลสิ้นความเปนเอกราชของพระราชอาณาจักรนี้ด้วย…
…เหนด้วยเกล้าฯ ว่า ตามเหตุการณ์ที่เปนอยู่ในประจุบันนี้ เปนการที่ควรจะต้องจัดแก้ เพื่อจะได้รงับเหตุซึ่งเปนที่ถุ้สยามานุกูลกิจ มเถียงกับคนต่างประเทศอย่างหนึ่ง ฤๅเพื่อจะได้แก้ไขยความขัดข้องในกฎหมายให้ได้ทำการโยธาก่อสร้างต่างๆ นั้นบริบูรณ์ด้วยอย่างหนึ่ง ฤๅเพื่อจะได้สำแดงให้เหนความที่ทรงพระมหากรุณาเอาพระราชหฤทัยใส่ในความเจริญแลความประพฤติชอบของอาณาประชาราษฎรด้วย”
เป็นที่รู้กันว่า เจ้าพระยาอภัยราชาฯ คือคนที่เข้าใจนโยบายของชาติยุโรปเป็นอย่างดี เนื่องจากท่านเคยเป็นเสนาบดีในรัฐบาลประเทศเบลเยียม ก่อนมารับราชการในสยาม ยิ่งเมื่อท่านรู้ข่าวการลงนามในปฏิญญาให้สยามเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) จึงตระหนักได้ว่า สยามควรทำอะไรสักอย่างเพื่อประชาสัมพันธ์เอกราชของตน
เป็นที่มาของการกราบบังคลทูลรัชกาลที่ 5 เรื่องการเสด็จฯ เยือนยุโรป พ.ศ. 2440 นำไปสู่การเสด็จฯ เยี่ยม “พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2” แห่งรัสเซีย และการเยือนประเทศฝรั่งเศส
เรื่องนี้บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์)” (กรมศิลปากร : 2515) ความว่า
“เจ้าพระยาอภัยราชาเป็นผู้ถวายโครงการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จเยือนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและประเทศใกล้เคียง พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ เมษายน รศ ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม รศ ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) เป็นเวลาถึง ๘ เดือน
เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในยุโรป ทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองเพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงประเทศไทย และประการสำคัญเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้รู้จักและสนับสนุนประเทศไทยด้านการเมืองในกรณีที่ไทยเจรจาเรียกร้องดินแดนและหลุดพ้นจากการคุกคามของฝรั่งเศส ซึ่งการเสด็จประพาสครั้งนี้นอกจากผลประโยชน์มากมายที่ได้รับแล้วยังเป็นผลให้สัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาเป็นอย่างดี”
หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงไว้วางพระราชหฤทัยเจ้าพระยาอภัยราชาฯ คือ การได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 5 คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งท่านเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวในคณะ ขณะที่อีก 4 พระองค์ล้วนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ขุนนางฟาสต์แทร็ค พระราชทานบรรดาศักด์ครั้งเดียวถึงขั้น “เจ้าพระยา”
- ตามพิสูจน์พระปฏิญาณ 3 ประการของพระพุทธเจ้าหลวง ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ร.ศ. 116
- รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงเป็นที่ “ฮือฮา” ของชาวต่างชาติขนาดไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. วีรกรรมขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ไม่บันทึก. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2567.
กัลยา จุลนวล, เรียบเรียง. (2515). เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2567