รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงเป็นที่ “ฮือฮา” ของชาวต่างชาติขนาดไหน?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประทับรถม้าพระที่นั่งที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

“…ถ้าลงเดินเที่ยวหาเป็นไม่ได้ คนตอมกันแน่น มันจะดูเอานรกฤาสวรรค์ เพราะดูไม่รู้แน่…”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ขณะเสด็จประพาสยุโรป เป็นข้อความที่ทรงกล่าวถึงการต้อนรับ ของชาวเมืองอิตาลี ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวสยาม คือการมีอิสระเสรีจนทําให้ไม่มีระเบียบวินัย และยังเป็นการเสมือนลิดรอนเสรีภาพส่วนพระองค์ ทําให้มีพระอารมณ์หงุดหงิด

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 แม้จะเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ และมีพระราช ประสงค์สําคัญคือ การพักผ่อนในสถานที่ที่มีอากาศเหมาะสมกับพระพลานามัย ห่างไกลจากพระราชภารกิจทั้งปวง ตามคําแนะนําของแพทย์หลวงประจําพระองค์ จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จพระราชดําเนินเงียบ ๆ อย่างไม่เป็นทางการ โปรดเสด็จฯ โดยเรือเดินสมุทร ซึ่งเช่าจากบริษัทเอกชนเยอรมนี ชื่อเรื่อซักเซน เพราะไม่มีพระราชประสงค์จะทรงรบกวนให้มีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ

แต่การณ์กลับปรากฏว่า ประชาชนชาวเมืองที่ทรงกําหนดจะเสด็จประพาส พากันรู้ข่าวเสด็จฯ จากหนังสือพิมพ์ของแต่ละท้องถิ่นที่ลงข่าวการเสด็จฯ ของพระองค์อย่างครึกโครม ว่าทรงเป็นพระมหา กษัตริย์จากประเทศทางตะวันออกที่มีพระปรีชาสามารถในการรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ท่ามกลางการคุกคามของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงดําเนินพระราชวิเทโศบายอันชาญฉลาดและรู้เท่าทัน จนแม้ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญกลยุทธ์ในการเข้ายึดครองประเทศด้อยพัฒนาก็ยังไม่สามารถปฏิบัติการได้สําเร็จ จนทําให้สยามเป็นประเทศหนึ่งทางตะวันออกที่รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมตะวันตก

ประกอบกับขนบประเพณีของชาวตะวันออกที่เล่าลือกันถึงการมีพระมเหสีเทวีและราชโอรสธิดาเป็นจํานวนมาก แตกต่างตรงข้ามกับขนบประเพณีของชาวตะวันตก ยิ่งเป็นที่สนใจของชาวเมืองต่าง ๆ ทั้งปวงนี้เป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้ผู้คนชาวตะวันตกตื่นเต้นที่จะได้ชื่นชมพระบารมี ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า

“…ชาวเมืองเดนมาร์กรู้จักพ่อแลรู้จักเมืองไทยดี บรรดาหนังสือพิมพ์ทุก ๆ ฉบับได้ลงข่าวที่พ่อมาถึงเป็นอย่างดี…” โด เฉพาะก่อนการเสด็จฯ มาถึงก็มีพ่อค้าหัวใสนําพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์พิมพ์ออกเป็นโปสการ์ดวางจําหน่ายทั่วไป ก็ยิ่งทําให้ผู้คนตื่นเต้นที่จะได้ชมพระรูปโฉมองค์จริงของพระมหา กษัตริย์ไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะประทับที่วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพื่อรักษาพระอาการประชวร (ภาพจากหนังสือสมุดภาพ “ให้ดำรง ครั้งไกลบ้าน”, พ.ศ. 2540)

แต่ละท้องถิ่นเมื่อรู้ข่าวการเสด็จฯ ก็จะพากันมารับเสด็จอย่างเนืองแน่น การรับเสด็จนั้นก็มีกิริยาอาการต่าง ๆ กันตามวิสัยประจําชาติ ประจําท้องถิ่น มีทั้งการรับเสด็จที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตมีระเบียบ และการ รับเสด็จซึ่งทรงมีความรู้สึกว่าเสมือนเป็นการลิดรอนเสรีภาพส่วนพระองค์

ด้วยเหตุที่ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะประพาสชมชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชน จึงมักพอพระราชหฤทัยเสด็จฯ ทอดพระเนตรตามที่ชุมชน มีตลาด ห้างร้านที่ขายสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนบ้านเรือนทั้งในเมืองและ ชนบท ทําให้ชาวเมืองมีโอกาสชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ในลักษณะมุงดูบ้างดูห่าง ๆ บ้าง สุภาพเรียบร้อยบ้าง ดูอย่างไม่สุภาพบ้าง ดังที่ทรงเล่าไว้ ในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับดังนี้

“…มีคนตามดู แต่ดูอย่างเรียบร้อย คืออยู่ที่ร้านไหน คนก็เต็มอยู่น่าร้าน เมื่อออกไปก็เปิดหมวกคํานับ ยิ้มแย้มแจ่มใส จะเดินไปแห่งใดก็ไม่เฮเกรียวตาม ค่อย ๆ เดินเรื่อยตามไป…” และ

“…การต้อนรับของชาวเมืองนี้น่ารักมาก ถึงคนที่มาเที่ยวก็รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส เปิดหมวก โบกผ้า ฮูราให้ดอกไม้…”

ทรงเล่าถึงข้อสังเกตการต้อนรับพระเจ้าแผ่นดินของชาวเมืองคริสเตียเนีย ในประเทศนอร์เวย์ว่า “…สังเกตุดูท่าทางคนไม่สู้รู้จักเคารพนบนอบอะไรมากนัก กลุ้มรุมกันดูอยู่ตามธรรมดา เวลาพบปะตามทางก็คํานับบ้าง ไม่คํานับบ้าง เจ้าแผ่นดินเดินไปอย่างคนธรรมดา หลีกแทรกกันไปกับคนทั้งปวง…”

ทรงเล่าถึงคนมาดูที่เมืองฮอมเบิร์กว่า “…คนมาคอยดูเสียตั้งแต่สองโมงเช้าจนกระทั่งบ่าย แต่คนที่นี่เรียบร้อยดีมาก ดูอยู่ห่าง ๆ … จะดูก็อย่างมีอัทยาศรัย ยืนอย่างเรียบร้อยห่าง ๆ และคํานับ ผู้หญิงก็โบกผ้าฤาถอนสายบัว จนเด็ก ๆ ก็ถอนสายบัวคล่อง เดี๋ยวนี้เป็นบอกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จักพ่อสักคนเดียว…”

และเมื่อเสด็จฯ ออกจากเมืองหรือเสด็จฯ เข้าแต่ละเมือง ก็จะมีผู้คนคอยเฝ้าชมพระบารมี ส่งเสด็จรับเสด็จกันหนาแน่นไม่ว่าจะดึกดื่น ฝนจะตก หรืออากาศจะหนาวเย็นปานใด ดังที่ทรงเล่าว่า “…ได้ออกเรือเป็น 2 ทุ่ม แต่คนไม่ได้ซาเลย เต็มตลอดจนบนหลังคาก็ยั้วเยี้ยไปทั้งนั้น เห็นตัวพ่อเมื่อไรเป็นได้ฮูเรกันเมื่อนั้น…” และ “…ถึงเรือเป็นห้าทุ่มแต่คนยังแน่นทุกแห่ง โห่กันเกรียวกราวอยู่กลางฝน แลกลางหนาว…”

เมื่อครั้งเสด็จฯ ออกจากประเทศนอร์เวย์ก็ทรงประทับพระราชหฤทัย กับการส่งเสด็จอย่างมโหฬาร ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า “…มีดอกไม้มาโปรยปาเข้าไปในรถตลอดทาง มีคนเท่าใดเห็นจะได้มาหมด ดอกไม้มีเท่าใดเห็นจะได้เก็บหมด…” และที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงบรรยายความสบายพระราชหฤทัยเกี่ยวกับผู้คนที่มาเฝ้าชื่นชมพระบารมีว่า “…รู้สึกสบายดีจริง ๆ ดูเหมือนจะไม่มีใครเห็นเราขันอย่างไรเลย เท่ากับเป็นพวกเขาไปทั้งหมด ไม่จ้องไม่กระซิบ ดูก็ดูโดยเมตตาจิตร์ต่อกัน…”

พระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ประทับไม่ห่างกายของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงฉายในคราวตามเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450

แม้การรับเสด็จของชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นที่พอพระราชหฤทัย แต่มีบางที่บางแห่ง เช่น ในประเทศ อิตาลี ผู้คนที่มาเฝ้ารับเสด็จมีอิสระมากจนขาดความมีระเบียบถึงขั้นไม่สุภาพละลาบละล้วงและลิดรอนเสรีภาพส่วนพระองค์

ทรงเรียกลักษณะการเฝ้ารับเสด็จดังกล่าวว่า “มูมมาม” ดังที่ทรง บรรยายว่า “…คนดูช่างมากมายไม่ หยุดหย่อน ที่น่าโฮเตลเบียดรวนกันไปมาจนถึงต่อยกันขึ้น…” ทั้งๆ ที่ 4 “…ได้เห็นก็แต่ชั่วเวลาออกจากประตู ผลุดขึ้นรถ รถก็เป็นรถปิด สู้วิ่งตามดูจนหมดแรง…” ทําให้พระองค์ไม่สามารถ ที่จะเสด็จฯ ตามถนน ชมตลาดห้างร้าน ได้ดังพระราชประสงค์ เพราะ “…เป็นที่ประชุมคนจอแจ ถ้าขืนเข้าไปก็ยิ่งกว่ามีโนราห้าโรง จะรุมกันดูจนไม่แลเห็นอะไร…”

เช่นครั้งหนึ่งขณะเสด็จฯ ดูห้างร้านที่ขายเครื่องแก้ว พอดีฝนตก แต่ก็ยังมีคนเดินตามดู ดังที่ทรงเล่าว่า “…คนก็ค่อยมากขึ้น มากขึ้น ตามกราวมาข้างหลังแน่น หลบฝนเข้าไปที่ใด คนก็มาตอมอยู่น่าถนนทั้งฝนตกอยู่เช่นนั้น…” ทําให้ทรงได้รับทั้งความไม่สะดวกและความรําคาญ บางครั้งก็มีผู้ละลาบละล้วงในเรื่องส่วนพระองค์ เช่น ทรงเล่าว่าขณะเสด็จฯ เข้าไปในร้านขายของร้านหนึ่ง มีสตรีคนหนึ่ง พยายามจะเข้ามาใกล้พระองค์ และพยายามจะเล่าว่า พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์ทรงชอบพออยู่กับญาติสาวของนาง ถึงขั้นทรงซื้อของประทาน ทรงเล่าถึงผลการฟังว่า “…พ่อนิ่งฟัง หัวเราะ…”

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทรงได้ประสบพบเห็นในบ้านเมืองนี้ แม้จะทรงเข้าพระราชหฤทัยว่าเป็นเพราะขนบประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีอิสระเสรีมากจนกลายเป็นความไม่มีระเบียบวินัย ทําให้เกิดความไม่สะดวกและความขัดข้องในการเสด็จประพาสตามพระราชประสงค์ ดังที่ทรงเล่าว่า “…ไปร้านไหนก็ตอมอยู่น่าร้าน ประตูร้านก็ปิด เบ็ดเสร็จมายืนดูเสียสิบสี่สิบห้าชั่วโมง ได้เห็นสักสามเซกันต์ฤาสี่ เซกันต์…”

จึงเป็นที่มาของข้อความที่ว่า “…ถ้าลงเดินเที่ยวหาเป็นไม่ได้ คนตอมกันแน่น มันจะดูเอานรกฤา สวรรค์ เพราะดูไม่รู้แน่…”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2562