ไม้ตรี ไม้จัตวา : อิทธิพลภาษาจีนในภาษาไทย

แบบเรียน ภาษาไทย คำยืมภาษาจีน ไม้ตรี ไม้จัตวา
แบบเรียนภาษาไทยยุคหนึ่งของไทย (ภาพจาก www.matichonweekly.com)

ไม้ตรี ไม้จัตวา ใน “คำยืมภาษาจีน” อิทธิพลภาษาจีนในภาษาไทย

คำยืมภาษาจีน มีการนำมาใช้ทับศัพท์จนเป็นคำคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น ยืมคำศัพท์ฮกเกี้ยน ได้แก่ ฮ่องเต้, ฮองเฮา, ก๊ก (แคว้น, ประเทศ) ฯลฯ ศัพท์แต้จิ๋ว ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว, กงสี, กังฉิน ฯลฯ ศัพท์กวางตุ้ง ได้แก่ ปักกิ่ง, ปาท่องโก๋, เย็นตาโฟ  เป็นต้น

Advertisement

เหตุจากการยืม คำยืมภาษาจีน มาใช้นี้เอง ทำให้ไทยต้องคิดเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี (  ๊ ) และจัตวา (  ๋ ) ขึ้นเพื่อใช้เขียนคำยืมภาษาจีนเป็นหลัก ต่อมาจึงใช้เขียนคำยืมภาษาอื่นด้วย ส่วนคำไทยนั้นใช้กับคำเลียนเสียงธรรมชาติหรือเสียงอุทาน เช่น ฮ้า ฮื้อ

แม้คำไทยจะมีวรรณยุกต์ 5 เสียง แต่ระบบอักษรกลาง สูง ต่ำ ทำให้เราใช้ไม้เอก (  ่ )  ไม้โท (  ้ ) ก็สามารถเขียนคำไทยได้ครบ 5 เสียง เช่น คา ข่า ค่า ค้า ขา, นา หน่า หน้า น้า หนา  อักษรกลางเสียงตรีและจัตวาเป็นพยางค์ที่ไม่มีความหมาย เช่น ก๊า ก๋า ตี๊ ตี๋ ปู๊ ปู๋  แต่คำยืมภาษาจีนต้องใช้อักษรกลางไม้ตรีและจัตวามาก เช่น เกี๊ยะ (รองเท้าไม้) ก๋ง เก๋ง เจ๊ง  ฉะนั้นอักษรพ่อขุนรามคำแหงจึงมีแต่รูปวรรณยุกต์เอก (  ่ ) และโท (  ้ ) แต่รูปจัตวา (  ๋ ) นี้ เมื่อเขียนเร็วหวัดติดเป็นเส้นเดียวกันค่อย ๆ กลายเป็นรูปโท (  ้ ) รูปจัตวา (  ๋ ) จึงใช้กำกับเสียงจัตวาอักษรกลาง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำราชานุภาพประทานคำอธิบายเรื่อง ไม้ตรี (  ๊ ) และ ไม้จัตวา (  ๋ ) ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องอธิบายวรรณยุกต์ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นำลงพิมพ์ในวาสารศิลปากร ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2544 ว่า

“ไม้ตรี (  ๊ ) กับไม้จัตวา (เอากากบาทไม้โทเดิมมาใช้) (  ๋ ) เมื่อครั้งสุโขทัยยังหามีไม่ แม้แต่มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีข้อนี้รู้ได้ ด้วยในหนังสือจินดามณีตำราสอนหนังสือไทยที่พระโหราธิบดีแต่งในรัชกาลนั้น มีโคลงบอกวรรณยุกต์ไว้บทหนึ่งว่า

สมุหเสมียนเรียนอรบรู้   วิสันช
พิณเอกพิณโททัณ   ฑฆาตคู้
ฝนทองอีกฟองมัน   นฤฆหิต นั้นนา
แปดสิ่งนี้ใครรู้   จึ่งให้เป็นเสมียน

ถ้าไม้ตรีไม้จัตวามีอยู่ในสมัยเมื่อแต่งโคลงบทนี้ก็คงบอกไว้ในโคลงด้วยแต่โคลงบทนี้อาจมีผู้แต่งเพิ่มเข้าในหนังสือจินดามณีเมื่อภายหลัง  ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งแสดงว่าไม้ตรีไม้จัตวามีช้าเข้ามาอีก ได้ให้ตรวจดูหนังสือลายมือเขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมีอยู่ในหอสมุดสำหรับพระนครหลายเรื่องก็ไม่เห็นใช้ไม้ตรีหรือไม้จัตวา

มาพบหนังสือที่มีไม้จัตวาในบทละครเขียนครั้งกรุงธนบุรี และที่มีทั้งไม้ตรีและไม้จัตวามมาพบในหนังสือกฎหมายฉบับหลวงที่ประทับตราสามดวงเขียนในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเก่าแก่ที่สุดนี่ว่าด้วยเอาลายมือเขียนเป็นหลักพิสูจน์

แต่ยังมีหลักอย่างอื่นปรากฎอยู่ในกฎหมาย ‘ศักดินาพลเรือน’ (ฉบับพิมพ์) ตอนทำเนียบพวกสำเภาในกรมท่ามีชื่อเรียกตามภาษาจีนและผันด้วยไม่ตรีไม้จัตวาหลายชื่อ เช่น จุ้นจู๊ นายสำเภา และปั๋นจู๊ พนักงานซ่อมแปลงสำเภา เป็นต้น ส่อให้เห็นว่าไม้ตรีไม้จัตวาเกิดขึ้นแต่ก่อนสมัยกรุงธนบุรี น่าจะมีเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา คิดขึ้นสำหรับเขียนคำภาษาจีนเป็นมูลเหตุ”

ปัจจุบันนี้ ถึงเราจะลองตัดไม้ตรีไม้จัตวาออกก็สามารถเขียนคำไทยที่จำเป็นต้องใช้ได้โดยไม่มีปัญหา จึงเชื่อได้ว่าไม้ตรีไม้จัตวาเกิดจากอิทธิพล ภาษาจีน อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. “ภาษาจีน: เส้นทางสร้างชาติและวัฒนธรรม”, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2561