“พระสงฆ์” ไทย กับคิ้วที่หายไป พระสงฆ์ (ไทย) เริ่มโกนคิ้วตั้งแต่เมื่อไหร่?

พระสงฆ์ ตาลปัตร
พระสงฆ์ถือตาลปัตร ภาพพิมพ์ปลายศตวรรษที่ 17 ภาพจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส

เคยมีกระแสเรื่อง “เอาคิ้วเราคืนมา” ในหมู่ “พระสงฆ์” ไทยบางส่วน ทำให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างว่า พระสงฆ์โกน “คิ้ว” กันตั้งแต่เมื่อไหร่ พระสงฆ์ปัจจุบันควรโกนคิ้ว (ต่อไป) หรือไม่ เพราะการโกนคิ้วไม่มีปรากฏในพระธรรมวินัย

สาเหตุของการโกนคิ้วมี 2 กระแส หนึ่งคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โกนคิ้วเพื่อแยกพระสงฆ์ไทยกับพม่า ที่ปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าว สองคือ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ลักลอบเข้าไปพระพฤติมิงามกับนามสนมนางในในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ยักคิ้วหลิ่วตาให้ผู้หญิง

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “พระภิกษุข้ามถิ่นอัตลักษณ์ข้ามแดน : ศึกษาเปรียบเทียบพระภิกษุพม่าและพระภิกษุไทใหญ่ในภาคเหนือของประเทศไทย” โดย ศุภสิทธิ์ วนชยางค์กูล (วิทยานิพนธ์ มานุษยวิทยามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) ได้อธิบายถึงเรื่องพระสงฆ์ไทยกับการโกนคิ้วว่า

“เรื่องเล่าเกี่ยวกับการโกนคิ้วของพระภิกษุไทยนั้นถูกเล่าผ่านต่อกันมา มีอยู่สองเรื่องราวด้วยกัน ในเรื่องแรกนั้นได้กล่าวถึง การทำสงครามระหว่างพม่ากับไทยในสมัยอยุธยาแล้วนั้น ได้มีทหารพม่าแอบปลอมตัวเป็นพระภิกษุสงฆ์เพื่อที่จะมาหาข่าวในฝั่งของประเทศไทยเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำสงครามระหว่างประเทศไทย

เมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีชาวพม่าที่ปลอมเป็นพระภิกษุเข้ามาหาข่าวจึงหากลวิธีที่ต้องการแยกระหว่างพระไทยและพระพม่า จึงมีการออกกฎให้พระภิกษุไทยต้องทำการโกนคิ้ว เมื่อมีพระภิกษุพม่าปลอมตัวมาก็จะสามารถแยกแยะและสามารถกุมจับตัวได้

ส่วนในเรื่องเล่าที่สองนั้นเกิดขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นมีนางสนมอยู่เป็นจำนวนมาก และก็มีจำนวนมากที่ชอบพอกับบุรุษภายนอกวัง หรือมีบุรุษที่ต้องการเข้าไปหานางสนม ซึ่งการที่ผู้ชายเข้าไปในพระราชวังนั้น หากไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่า ผิดกฏในราชสำนักอย่างร้ายแรง

ดังนั้น จึงมีผู้อาศัยผ้าเหลืองห่มเข้าไปเพื่อลอบเข้าไปหานางสนมของพระมหากษัตริย์ เพราะพระภิกษุสงฆ์สามารถเข้าวังได้โดยไม่มีกฎเคร่งครัดมากนัก เมื่อความรู้ถึงพระมหากษัตริย์จึงมีคำสั่งให้พระภิกษุต้องโกนคิ้ว เพื่อให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นพระจริงหรือพระปลอม ถ้าไม่ใช่พระภิกษุแล้วทำไมถึงไม่มีคิ้ว”

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์นี้ก็ไม่ได้ระบุถึงที่มาของ “เรื่องเล่า” ดังกล่าว คงจะเป็นที่ถกเถียงและยังหาข้อยุติไม่ได้ แล้วการโกนคิ้วเกิดขึ้นในสมัยไหนกันแน่?

เท่าที่ผู้เขียนจะสามารถสืบค้นหลักฐานได้ พบการโกนคิ้วระบุไว้ใน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์” ที่ระบุว่า “พระภิกษุโกนหนวดเครา ผมบนศีรษะและขนคิ้วเกลี้ยง” ตรวจสอบกับฉบับแปลภาษาอังกฤษ ก็กล่าวไว้ตรงกันว่า “They shave all their Beard, Head, and Eyebrows”

ลา ลูแบร์ เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงว่า พระสงฆ์ในสมัยนี้โกนคิ้วกันแน่นอนแล้ว กระแสที่ว่า การโกนคิ้วเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงเป็นอันตกไป แล้วกระแสที่ว่า โกนคิ้วเพื่อแยกพระสงฆ์ไทยกับพม่า ที่ปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าวนั้น มีความเป็นไปได้มากเท่าไหร่?

จากการสืบค้นเท่าที่ผู้เขียนจะหาได้ ทั้งจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่พบการกล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด (หากผู้เขียนไม่อ่านข้ามไป) ทั้งนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานจาก “เรื่องเล่า” เรื่องนี้ มีความเป็นไปได้ว่า การโกนคิ้วเพื่อป้องกันพม่าปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าว อาจจะเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร หรืออาจย้อนไปถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้

ผู้เขียนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การโกนคิ้วเกิดขึ้นเพราะเหตุผลนี้ อย่างไรเสีย หากพม่าประสงค์จะปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าว เขาก็เพียงแค่โกนคิ้วให้เหมือนกับพระสงฆ์กรุงศรีอยุธยา เท่านี้ก็สามารถเข้ามาสืบข่าวได้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบหลักฐาน 2 ชิ้น ที่ได้กล่าวถึง “การโกน” ของพระสงฆ์ไว้ คือหนึ่ง “จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น” และสอง “พรรณาเรื่องอาณาจักรสยาม” ของ วัน วลิต

“จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น” คือบันทึกของ โยส เซาเต็น (Joost Schouten) ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บันทึกชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2179 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

โยส เซาเต็น กล่าวถึงพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาว่า “สงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระเถระ เจ้าอาวาสมหาวิหารในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่พระสังฆราชวงฆ์ทุกองค์ (โดยเฉพาะในกรุงศรีอยุธยามีจำนวนกว่า 30,000 รูป) ห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าฝ้ายสีเหลืองและต้องโกนศีรษะ สงฆ์ที่คงแก่เรียนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าอาวาส และได้รับการเคารพนับถือจากประชาชน”

ส่วน “พรรณาเรื่องอาณาจักรสยาม” ของ วัน วลิต (Jeremias van Vliet) ซึ่งเขาเข้ามารับงานต่อจากโยส เซาเต็น กล่าวถึงพระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาว่า

“พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนนุ่งห่มด้วยผ้าลินินสีเหลืองเนื้อเลว พระสงฆ์สำคัญ ๆ จำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่มีผ้าสีแดงพาดที่บ่าข้าวขวา พระสงฆ์โกนศีรษะเกลี้ยง พวกผู้คงแก่เรียนที่สุดได้กลายมาเป็นพระสงฆ์ และเจ้าอาวาสของวัดทั้งหลายถูกเลือกมาจากพระสงฆ์เหล่านี้ เจ้าอาวาสได้รับการเคารพจากประชาชน”

หลักฐานทั้งสองชิ้นอธิบายว่า “พระสงฆ์” ต้องโกนผม แต่ไม่ได้กล่าวถึงการโกนคิ้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทั้ง โยส เซาเต็น และวัน วลิต อาจจะกล่าวข้ามเกี่ยวกับการโกนคิ้วไป? หรือเป็นไปได้หรือไม่ ที่พระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น (สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ยังไม่โกนคิ้ว?

ข้อน่าสังเกตคือ ในปัจจุบัน พระสงฆ์ไทย ลาว และกัมพูชา ต่างก็โกนคิ้ว แล้วพระสงฆ์ลาวกับกัมพูชาโกนคิ้วเมื่อใด? หากรับอิทธิพลมาจากกรุงศรีอยุธยา แล้วมีเหตุผลอันใดที่ต้องรับเอาอิทธิพลนี้ไป ทั้งที่การโกนคิ้วไม่มีปรากฏในพระธรรมวินัย เป็นไปได้หรือไม่ที่สาเหตุการโกนคิ้วไม่ได้มาจากเรื่องการศึกสงคราม?

นอกจากนี้ พระสงฆ์ในศรีลังกาก็โกนคิ้วเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะรับอิทธิพลมาจากนิกาย “สยามวงศ์” ที่แพร่เข้ามาในยุคหลัง ซึ่งนั่นก็เป็นยุคหลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ล่วงไปนานแล้ว

สรุป การโกนคิ้วมีกระทำกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างแน่นอน แต่จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อแยกพระสงฆ์ไทยกับพม่า ที่ปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้ามาสืบข่าวหรือไม่นั้น คงต้องรบกวนท่านผู้รู้ผู้อ่านช่วยกันสืบค้นหลักฐานต่อไป เพราะยังมีหลักฐานอีกมากที่ผู้เขียนยังไม่ได้ค้น

ต่อคำถามที่ว่า “พระสงฆ์” ไทยเริ่มโกน “คิ้ว” กันตั้งแต่เมื่อไหร่? โกนคิ้วเพราะป้องกันพม่ามาสืบข่าวจริงหรือไม่? จึงยังไม่เป็นที่ยุติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563