“ตราด” ชื่อนี้มาจากไหน เมืองตราดพบในบันทึกตั้งแต่เมื่อใด

ต้นกราด ต้นยาง ต้นใหญ่ ดอกไม้สีแดง
ต้นกราด หรือ ต้นยาง ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองตราด (ที่มา : ผศ.ดร. เภสัชกรหญิงสุดารัตน์ หอมหวล)

ตราด เป็นชื่อของจังหวัดสุดเขตแดนตะวันออกของประเทศ ที่ครั้งหนึ่งถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส (หลังจากที่ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี) และทางการไทยต้องสละสิทธิ์ในดินแดนมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับ “ตราด” ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเลเมืองหนึ่งของชาติกลับมา

ชื่อว่า “ตราด” มาจากไหน

แม้ชื่อจังหวัด “ตราด” ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือ ที่คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ เรียบเรียงไว้ใน “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตราด” (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2543) ดังนี้

พระครูคุณสารพิสุทธิ์ [พระวิมลเมธาจารย์ (เจ้ง จันทสโร)] สันนิษฐานไว้ว่า ตราด เพี้ยนมาจากคำว่า ‘กราด’ เนื่องจากที่ตั้งเมืองในปัจจุบันเป็นท่าราบว่างเปล่า แม่น้ำบางพระได้พัดพาเอาต้นกราดมาติดที่ดอนนี้ จึงมีผู้นำมาตั้งเป็นชื่อเมือง เรียกว่า เมืองกราด [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

ส่วนพระราชเขมากร (ปกรณ์ เขมากโรทัย) เจ้าคณะจังหวัดตราด ได้สันนิษฐานว่า ได้รับคำบอกเล่าจากพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า คำว่า ‘ตราษ’ เป็นภาษาเขมร หมายถึงไม้ยาง ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองที่มีขึ้นอยู่ทั่วไป ในสมัยก่อนในท้องที่ของจังหวัดตราดมีไม้ยางอยู่มาก [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

เมื่อสืบค้นในพจนานุกรม Dictionaire Vieux Khmer-Francais-Anglais on old Khmer-French-English Dictionary ปรากฏคำว่า “ตฺราจ” ในภาษาเขมรโบราณ และภาษาเขมรปัจจุบันว่า “ตฺราจ” เป็นชื่อต้นไม้ที่มีน้ำยางเรียกว่าต้นตราจ

พบชื่อเมืองตราด เมื่อใด

ชื่อเมือง “ตราด” ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใน “พระทำนูน (พระธรรมนูญ)” ซึ่งเป็นพระไอยการหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายพระทำนูนนี้ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อมหาศักราช 1544 ตรงกับพุทธศักราช 2167 ระบุว่า

ตราเจ้าพญาธรรมราชเดชชาติอำมาตยานุชิดพิพิทวรวงษพงษภักตยาธิเบศวะราธิบดี ศรีรัตนราชโกษาธิบดีอไภยพิริยบรากรมภาหุได้ใช้ตราบัวแก้ว ถ้ามีพระราชโองการให้ข้าราชการผู้มีความชอบไปรั้ง ไปครองเมืองณะหัววเมืองขึ้นแก่โกษาธิบดี คือ เมืองจันทบูรรณ เมืองตราด เมือง ระยอง เมืองบางลมุง เมืองนนทบุรี เมืองสมุทประการ เมืองสมุทสงคราม เมืองสาครบุรี มีตราไปตั้งเจ้าเมืองปะหลัดรองปะหลัดณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลมีตราไปเอากิจราชการ แลกิจศุขทุกขถ้อยความณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลนำตราเจ้าพนักงานไปตั้งกรมการ แลตั้งนายอากอรนายขนอนทังปวง[เน้นโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

ต่อมาสมัยธนบุรี เมืองตราดปรากฏนามในเอกสารว่า “บ้านบางพระ” หรือบางครั้งเรียกว่า “เมืองทุ่งใหญ่” ซึ่งยังจะปรากฏการใช้ชื่อนี้ในเอกสารบางฉบับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อ “เมืองตราษ” ปรากฏครั้งแรกใน “จดหมายเหตุปูมบำเหน็จรัชกาลที่ 1” ว่า

แลข้าทูลอองธุลีพระบาท ซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินทำการสงครามมีความชอบมาแต่หลังนั้น อนึ่งขนบบูระราชประเพณีแต่ก่อนหัวเมือง 1, 2, 3, 4, ฝ่ายเหนือขึ้นแก่สมุหนายก ฝ่ายหัวเมือง 1, 2, 3, 4, ปากใต้ขึ้นแก่สมุหพระกระลาโหม แลว่าสมุหกระลาโหม แต่ก่อนเปนโทษจึงยกหัวเมืองปากใต้มาขึ้นแก่กรมท่า ก็ล่วงโทษล่วงกษัตราธิราชเนิ่นนานมาแล้ว ครั้งนี้สมุหพระกระลาโหมมีความชอบ ฝ่ายกรมท่าก็มีความชอบ แลจะแบ่งหัวเมืองปากใต้ให้ขึ้นกระลาโหมบ้างคงอยู่กรมท่าบ้าง

ให้คงขึ้นกรมท่า เมืองนนทบุรีย์ 1 เมืองสมุทปราการ 1 เมืองสาครบุรีย์ 1 เมืองชลบุรีย์ 1 เมืองระยอง 1 เมืองบางลมุง 1 เมืองจันทบุรีย์ 1 เมืองตราษ 1 รวม 8 หัวเมือง เมืองขึ้นมหาดไทยยกมาขึ้นกรมท่า เมืองสมุทสงคราม 1 รวม 9 หัวเมือง [เน้นโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏชื่อ “เมืองตราษ” ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) เรื่อง “หนังสือไปถึงเมืองตราษว่าด้วยเกลือไม่ส่งไปเมืองพนมเปน” และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1207 (พ.ศ. 2388) เรื่อง “ใบบอกเรื่องราชการลับเมืองเขมร” โดยเรียกว่า “เมืองตราษ”

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏการใช้คำว่า “ตราษ” และ “ตราด” ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ 4 ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2401-2402 และในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อของ “เมืองตราด” ยังคงมีการใช้ว่า “เมืองตราด” หรือ “เมืองกราด”

จนถึงปี พ.ศ. 2470 ในสมัยที่พระยาอินทราบดีเป็นสมุหเทศาภิบาล จึงใช้ชื่อ “เมืองตราด” เพียงชื่อเดียว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “จังหวัดตราด” และใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :


สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์เมืองตราด, เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้อำนวยการจัดทำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ, จัดทำโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม บมจ.มติชน, พ.ศ. 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลนครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566