พบสุสาน “ขุนนางสยาม” ที่ไปติดต่อกับจีนสมัยราชวงศ์ชิง ที่เมืองกวางตุ้ง?!?

ขุนนางสยาม ทูตสยาม ไป เมือง จีน สมัย ราชวงศ์ชิง

พบสุสาน “ขุนนางสยาม” ที่ไปติดต่อกับจีนสมัย “ราชวงศ์ชิง” ที่ เมืองกวางตุ้ง ?!?

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับบทความภาษาอังกฤษสั้นๆ เรื่อง Guild in which Siamese tribute-bearers are lodged during their stay at Canton ที่เพื่อนได้ถ่ายเอกสารส่งมาให้จากประเทศจีน บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ Walks in the City of Canton เขียนโดย Henry Gray พิมพ์ที่ฮ่องกง เมื่อ ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418)

Advertisement

ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี เพราะเป็นเรื่องที่เขาได้พบจารึกภาษาไทยและภาษาจีนคู่กันบนหลุมฝังศพขุนนางสยามจำนวน 5 หลัก ที่ เมืองกวางตุ้ง

แต่ด้วยเหตุที่ผู้เขียน (H. Gray) คงไม่รู้จักภาษาไทย (แน่ๆ) จึงได้แปลเฉพาะจารึกภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ดังชื่อบทความดังกล่าวข้างต้น ผมจึงได้แปลบทความนั้นเป็นภาษาไทย

รูปทูตจากนานาประเทศที่มาถวายบรรณาการจีน สมัยราชวงศ์ชิง หนึ่งในนั้นมีทูตจากสยาม (มุมขวาล่าง) ภาพนี้ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังปักกิ่ง

ภาพขยายคณะทูต มีทูตจากสยามโบกธงที่เขียนว่าเสียนหลอ (ธงสีแดง คนใส่เสื้อเขียว)

ร่องรอย “ขุนนางสยาม” ในจีน

ผมต้องขอย้ำว่าจารึกภาษาไทยจริงๆ นั้น ก็มีอยู่ และมีข้อความตรงกันกับภาษาจีน หากใครได้มีโอกาสไปเมืองกวางตุ้ง และไปยังสุสานแห่งนี้ (อยู่ที่ถนนไหวหยวนยิก) ได้ถ่ายภาพหรือทำสำเนาจารึกภาษาไทยทั้ง 5 หลักนี้มาเผยแพร่ก็จะดีไม่น้อย (แต่ที่แน่ๆ คือดีกว่าที่ได้อ่านคำแปลจากจีนเป็นอังกฤษ และแปลจากอังกฤษเป็นไทย)

หลุมฝังศพขุนนางสยามที่เมืองกวางตุ้งมีจำนวน 5 ศพ ศพแรกฝังใน พ.ศ. 2211 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งอาณาจักรอยุธยา ส่วนศพสุดท้ายฝังใน พ.ศ. 2415 ตรงกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งตรงกับราชวงศ์ชิงของจีน พ.ศ. 2187-2455)

ผมต้องขอขอบคุณ Dr. Chui Mei Ho ผู้ส่งบทความนี้มาให้

สมาคมที่ใช้เป็นที่ฝังศพขุนนางสยามผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการระหว่างพำนักอยู่ที่เมืองกวางตุ้ง ตั้งอยู่ที่ถนนไหวยวนยิก (Hwai Uen Yik) ชานเมืองกวางตุ้งด้านตะวันตก เป็นอาคารที่สกปรกและทรุดโทรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของชานเมืองแถบนี้ บริเวณที่ติดกับสมาคมมีสุสานเล็กๆ ของชาวสยามอยู่ด้วย และในความรู้สึกอันต้อยต่ำของเราที่มีต่อที่ตั้งหลุมฝังศพชาวสยามนั้น กล่าวได้ว่า ดูแล้วมิได้มีความยิ่งใหญ่ใดๆ เลย

คำจารึกเบื้องหัวนอนหลุมฝังศพ 

ชาวสยามจำนวน 5 ศพ ถูกฝังอยู่ที่ในสุสานแห่งนี้ และที่เบื้องหัวนอนของหลุมฝังศพแต่ละหลุมมีแท่งหินปักอยู่ บนแท่งหินนี้มีจารึกภาษาไทยและภาษาจีนควบคู่กัน คำอ่านจารึกภาษาจีนหลักแรกคือ

เจ้าเสือไหว้หมื่น (Ye Tso Hwai Mun) ขุนนางสยาม เป็นชาวเมืองเซียงกี [1] (Cheung Ki) มาถึงเมืองกวางตุ้ง โดยเป็นผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการจากกษัตริย์สยามมาสู่จักรพรรดิจีน มรณกรรมในตอนบ่ายของวันที่ 22 ในเดือนที่ 6 ของปีที่ 6 ของรัชกาลพระเจ้าคังซี (ตรงกับ พ.ศ. 2211) อายุได้ 62 ปี และได้ฤกษ์นำมาฝัง ณ ที่นี้ในเดือนที่ 5 ของปีที่ 7 ของรัชกาลดังกล่าว (ตรงกับพ.ศ. 2212) [2]

คำอ่านจารึกภาษาจีนบนแท่งหินของหลุมฝังศพหลักที่ 2 คือ

หัวหน้าคณะผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการชาวสยามมีชื่อว่า พระยาสุนทรอภัยโกษา? (Pe Nga Sun Tan A Tai Ngo Tat) ได้ฤกษ์นำศพฝังไว้ ณ ที่นี้ในฤดูใบไม้ร่วง ในปีที่ 42 ของรัชกาลพระจักรพรรดิเฉียนหลง (ตรงกับ พ.ศ. 2321) [3]

ประโยคที่อ่านได้จากจารึกภาษาจีนบนแท่งหินของหลุมฝังศพหลักที่ 3 คือ

พระหัวหมื่นสุเมรุญโหปเทศ? (Pa Wo Mun Sun Men Yik Ho Pat Tat) ผู้มีตำแหน่งที่ 2 ในคณะผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการชาวสยาม ได้เดินทางมาถึงเมืองกวางตุ้ง ในปีที่ 6 ของรัชกาลจักรพรรดิจาชิ่ง (ตรงกับ พ.ศ. 2350) [4] ได้ถึงแก่มรณกรรมเมื่ออายุได้ 42 ปี ในเวลา 5 โมงเย็น ในวันที่ 8 ของเดือนที่ 8 ของปีที่ 6 ของรัชกาลนี้ และได้ถูกนำมาฝังไว้ ณ ที่นี้ ในเดือนที่ 8 ของปีที่ 6 ของรัชกาล”

คำจารึกของจารึกหลักที่ 4 อ่านได้จากภาษาจีนคือ

หลวงหัวหมื่นสุเรนทรโหปเทศ? (Long Wo Mun Sun Nen A Ho Poot Tat) ได้เดินทางมาถึงเมืองกวางตุ้งในฐานะผู้มีตำแหน่งเป็นที่ 2 ในคณะผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการชาวสยาม ชาตะในปีแรกของรัชกาลจักรพรรดิจาชิ่ง (พ.ศ. 2339) มรณกรรมเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 17 ในเดือนที่ 3 ปีที่ 12 ของรัชกาลพระเจ้าเต้ากวง (ตรงกับ พ.ศ 2376) [5] ศพได้ถูกนำมาฝังในช่วงหลังของเดือนที่ 4 ของปีที่ 12 ของรัชกาลนี้”

คำจารึกบนหลุมฝังศพภาษาจีนหลักที่ 5 อ่านได้ว่า

ศพผู้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการชาวสยาม ถูกฝังไว้ ณ ที่นี้หรือใต้หินแท่งนี้ในปีที่ 11 ของรัชกาลพระเจ้าถงซี่ (ตรงกับ พ.ศ. 2415)” [6]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เมืองเซียงกี คือชื่อเรียกเมืองนางาซากิ (ในประเทศญี่ปุ่น) ที่เป็นภาษาจีน ฉะนั้นขุนนางผู้นี้เป็นชาวญี่ปุ่น

[2] ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

[3] ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน

[4] ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

[5] ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[6] ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าออยู่หัว


หมายเหตุ : คำอ่านชื่อขุนนางสยามในที่นี้ พยายามอ่านจากภาษาอังกฤษให้ใกล้เคียงกับภาษาไทย แต่อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ผู้เขียนจะตรวจสอบให้ถูกต้องอีกครั้ง เมื่อมีโอกาสได้สำเนาจารึกภาษาไทยจากเมืองกวางตุ้ง

หมายเหตุ 2 : คัดเนื้อหาจากบทความ “สุสานขุนนางสยามที่เมืองกวางตุ้ง” เขียนโดย ภูธร ภูมะธน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2533


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563