ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เจ้านครอินทร์” หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1952-1967) พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์หมิง เป็นความสนิทสนมเมื่อครั้งพระองค์ยังครองเมืองสุพรรณ กระทั่งได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา จึงมีส่วนทำให้อยุธยาเป็นรัฐทางการค้า และกอบโกยความมั่งคั่งจากการค้าทางทะเลกับนานาชาติ
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความเห็นว่า เจ้านครอินทร์เป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว (ครองราชย์ พ.ศ.1913-1931) จากจุลยุทธการวงศ์ ระบุว่า สมเด็จพระนครินทราธิราชเป็นพระมาตุลาในสมเด็จพระรามราชา (พระมหากษัตริย์อยุธยาลำดับที่ 5) แปลว่าพระองค์เป็นพระญาติวงศ์ชั้นเดียวกันกับสมเด็จพระราเมศวรแห่งวงศ์ละโว้ (พระราชบิดาของสมเด็จพระรามราชา)
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต และเอกสารหมิงสือลู่ของจีน ล้วนบ่งชี้ว่าเจ้านครอินทร์เป็นทายาทของเจ้านครสุพรรณ ผู้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาต่อจากพระราเมศวร หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 1
กรุงศรีอยุธยาในห้วงเวลาที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิกับราชวงศ์ละโว้แก่งแย่งอำนาจกันนั้น วงศ์สุพรรณมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์หมิงค่อนข้างแน่นแฟ้นและชัดเจน เอกสารหมิงสือลู่ระบุว่า วันที่ 5 เดือน 8 รัชศกหงหวู่ที่ 3 (26 สิงหาคม พ.ศ. 1913) ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 จักรพรรดิหมิงไท่จู่มีพระราชโองการให้หลู่จงจิ้นเดินทางไปสยาม เพื่อแจ้งข่าวการเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิ
จากนั้น คณะทูตจากกรุงศรีอยุธยาได้เดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหมิงไท่จู่ในวันที่ 22 เดือน 9 รัชศกหงหวู่ที่ 4 (30 ตุลาคม พ.ศ. 1914) โดยผู้นำคณะทูตคือ “เจาเอี้ยนกูหมาน” หรือ เจ้าอินทรกุมาร ผู้ต่อมาคือเจ้านครอินทร์ ทั้งนี้ “กูหมาน” หรือ กุมาร ท้ายพระนามเจ้านครอินทร์มีความหมายว่า “เจ้าชาย” หรือพระราชโอรสนั่นเอง
หมิงสือลู่ไม่ได้เจาะรายละเอียดว่า เหตุใดกรุงศรีอยุธยาส่งเจ้านายชั้นสูงระดับนั้นเป็นหัวหน้าคณะทูต แต่การไปเยือนราชสำนักจีนของพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นอยุธยาอย่าง “เจ้าอินทรกุมาร” ดูจะเป็นธรรมเนียมของวงศ์สุพรรณมาก่อน
เพราะปรากฏหลักฐานในพงศาวดารราชวงศ์หยวนว่า ในแผ่นดินพระเจ้าหยวนเฉิงจง รัชศกต้าเต๋อที่ 2 (พ.ศ. 1841) มีการส่งพระราชสาส์นไปยังแคว้นเสียน (สุพรรณบุรี) ให้ส่งรัชทายาทหรือเสนาบดีไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหยวนที่ราชธานี ปีต่อมา รัชทายาทแคว้นเสียนได้เดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิ พร้อมถวายบรรณาการแด่ราชสำนักจีน
พงศาวดารราชวงศ์หยวนระบุด้วยว่า รัชศกต้าเต๋อที่ 3 (พ.ศ. 1842) แคว้นเสียนส่งรัชทายาทเป็นหัวหน้าคณะทูตไปยังกรุงปักกิ่ง เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปี ก่อนเจ้าอินทรกุมารนำคณะทูตไปยังแผ่นดินจีนอีกครั้ง จึงเป็นไปได้ว่า หัวหน้าคณะทูตที่ไปราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์หยวนคงเป็นพระญาติวงศ์ลำดับพระอัยกา (ปู่) หรือพระปัยกา (ทวด) ของเจ้าอินทรกุมาร หรือเจ้านครอินทร์
ดูเหมือนว่า วงศ์สุพรรณของเจ้านครอินทร์จะมีความใกล้ชิดกับราชสำนักจีนมากกว่าวงศ์ละโว้ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา เอกสารหมิงสือลู่ บันทึกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 1917 ยังกล่าวถึงตำแหน่ง “นครอินทร์” ของเจ้าผู้ครองนครสุพรรณ ว่าคือรัชทายาทกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 รัฐประหารสมเด็จพระรามเมศวร เสวยราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา และส่งเจ้านครอินทร์ไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหมิงไท่จู่เมื่อ พ.ศ. 1914 ราชวงศ์หมิงก็เข้าใจว่าวงศ์สุพรรณภูมิคือกษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา พวกเขาไม่ทราบว่ามีวงศ์ละโว้ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรีก็มีสิทธิในราชบัลลังก์อยุธยาเช่นกัน
นอกจากนี้ การที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ไม่ได้กวาดล้างฝ่ายละโว้หลังพระองค์ขึ้นครองราชย์ ทำให้วงศ์ละโว้สามารถส่งทูตไปยังราชสำนักจีนได้เช่นกัน จึงเกิดการติดต่อกับราชสำนักจีนเพื่อช่วงชิงสิทธิธรรมในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา มีการส่งทูตไปติดต่อราชวงศ์หมิงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พ.ศ. 1916 เอกสารจีนระบุว่า คณะทูตเสียมหลอ (สยาม-ละโว้) หรือกรุงศรีอยุธยา มาเข้าเฝ้าจักรพรรดิติดต่อกันถึง 4 คณะเฉพาะ 3 เดือนสุดท้ายของปี
นี่คือภาพสะท้อนของการช่วงชิงอำนาจระหว่างวงศ์ละโว้กับวงศ์สุพรรณภูมิ ทั้งนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์ เชื่อว่าท่ามกลางความวุ่นวายจากการชิงราชสมบัติ ผลัดแผ่นดิน เปลี่ยนราชวงศ์นั้น ราชสำนักจีนน่าจะเชื่อข้อมูลทางฝั่งสุพรรณภูมิมากกว่า กว่าจีนจะเข้าใจสถานการณ์ภายในกรุงศรีอยุธยาและให้การรับรอง ประทานตรา และเครื่องทรงแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ล่วงเลยไปถึง พ.ศ. 1920
สำหรับการเดินทางไปราชสำนักจีนของคณะทูตวงศ์สุพรรณนั้น เจ้านครอินทร์ขณะทรงเป็นราชกุมาร ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากการเดินทางใน พ.ศ. 1914 แล้ว พระองค์ยังเสด็จไปเมืองจีนอีก 2 ครั้ง (อาจมากถึง 3 ครั้ง) ก่อนการรับรองวงศ์สุพรรณอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1920
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา (วงศ์สุพรรณ) จึงเป็นอ๋องรัฐบรรณาการของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง แต่เป็น “อ๋องต่างด้าว” ลำดับศักดิ์ต่ำกว่าอ๋องลูกเธอของจีน ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น จีนมีรัฐอื่น ๆ ที่หมั่นเข้ามาถวายบรรณาการในยุคต้นราชวงศ์หมิงได้แก่ เวียดนาม จามปา เขมร และริวกิว
จากเรื่องราวในหมิงสือลู่ ช่วงเจ้านครอินทร์เสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระนครินทราธิราชนั้น ใน พ.ศ. 1950 มีพระราชสาส์นจากจักรพรรดิหย่งเล่อส่งมาตำหนิกษัตริย์อยุธยาที่จับทูตจามปา และยกทัพไปตีสุมาตรากับมะละกา เนื่องจากอาณาจักรเหล่านี้ต่างเป็นรัฐบรรณาการของจีนเช่นกัน ปีถัดมา สมเด็จพระนครินทราธิราชจึงส่งพระราชสาส์นไปขอพระราชทานอภัยจากพระจักรพรรดิจีน แสดงให้เห็นว่าพระองค์ยังยอมรับในความเป็นเจ้าอธิราชของราชวงศ์หมิงอยู่นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- เทคนิค “รัฐประหาร” ฉบับกรุงศรีอยุธยา วงศ์สุพรรณภูมิยึดบัลลังก์วงศ์อู่ทอง
- “ฮ่องเต้หย่งเล่อ” ขู่ “เจ้านครอินทร์” ให้ส่งตัวราชทูตจัมปาคืนเมือง
- มหาสมบัติเจ้านครอินทร์ ทองเหลือใช้ (?) แห่งกรุวัดราชบูรณะ
อ้างอิง :
รุ่งโรจน์ ภิรมณ์อนุกูล; สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. (2565). เจ้านครอินทร์ [พระนครินทราธิราช] เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566