“เหลียงอู่ตี้” ฮ่องเต้ผู้ออกบวชถึง 4 ครั้ง ขุนนางต้อง “ไถ่ตัว” ให้กลับมาว่าราชการ

ฮ่องเต้ เหลียงอู่ตี้ จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ พระเจ้าเหลียงอู่ตี้
พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“พระเจ้าเหลียงอู่ตี้” ฮ่องเต้จีนในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ผู้ “ออกบวช” หลายครั้ง ลำบากขุนนางต้องคอย “ไถ่ตัว” ให้กลับไปครองราชย์ ด้วยการบริจาคเงินมหาศาลแก่วัด

ตลอดประวัติศาสตร์ร่วมพัน ๆ ปีของจีน เราเห็นจักรพรรดิผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาหลายองค์ เช่น พระเจ้าฮั่นหมิงตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น หรือพระเจ้าถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง แต่เห็นจะมีเพียงพระเจ้าเหลียงอู่ตี้แห่งราชวงศ์เหลียงเท่านั้น ที่เลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาจนถึงขั้นออกบวชทั้งที่อยู่ในราชสมบัติ

พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ คือปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียง มีนามเดิมว่า “เซียงเหยี่ยน” เป็นผู้โค่นล้มราชวงศ์ฉี แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิที่นครเจี้ยนคัง (หนานจิง) เฉลิมพระนามว่า “เหลียงอู่ตี้”

Advertisement

ราชวงศ์เหลียง อยู่ในห้วงสมัยที่เรียกว่า ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (Northern and Southern dynasties) คือระหว่าง ค.ศ. 420-589 (พ.ศ. 963-1132) ซึ่งแผ่นดินจีนช่วงนี้แตกออกเป็นฝั่งเหนือและใต้อย่างชัดเจน มีราชวงศ์ต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครอง โดยราชวงศ์เหลียงอยู่ในกลุ่มราชวงศ์ใต้ ลำดับที่ 3 ปกครองตอนใต้ของจีนระหว่าง ค.ศ. 502-557 (พ.ศ. 1045-1100)

(ภาพจาก Wikimedia Commons)

เหลียงอู่ตี้ครองราชย์ด้วยบทเรียนจากราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์ฉีที่ล่มสลายไปก่อนหน้านั้น จึงระมัดระวังเรื่องการปกครองแผ่นดินอย่างสูง พระองค์ปลดปล่อยบรรดาสาวงามและนางบำเรอในวังหลวงตั้งแต่ยุคราชวงศ์ก่อน รวมถึงสตรีในสถานเริงรมย์ให้เป็นอิสระ ทั้งดำรงตนอย่างสามัญชน สวมฉลองพระองค์ตัวเดิมซ้ำ ๆ จนเก่า มีเตียงบรรทมเพียงเตียงเดียว พระกระยาหารก็เสวยแต่พืชผัก ละเว้นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

ในแง่ของการดำรงตนอย่างมัธยัสถ์ กล่าวได้ว่าพระองค์คือฮ่องเต้องค์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่มีบันทึกว่าปฏิบัติตนเช่นนี้

ด้านการเมืองการปกครอง เหลียงอู่ตี้ออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจหลายอย่าง พาผู้ลี้ภัยกลับถิ่นฐานเดิม ฟื้นฟูชุมชนชาวฮั่น บุกเบิกพื้นที่รกร้างให้ประชาชนเข้าไปทำกินเพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยาก และเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงอาหารหล่อเลี้ยงกองทัพ เลือกขุนนางคุณภาพเข้ามาในราชสำนัก และขับขุนนางกังฉินพ้นราชการ ที่สำคัญคือทรงศึกษาประวัติศาสตร์ วรรณคดี และคัมภีร์ศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนศาสตร์อย่างลึกซึ้ง

แต่ดูเหมือนความ “หลงใหล” ในพุทธศาสนาของเหลียงอู่ตี้จะมีผลต่อพฤติกรรม “เกินพอดี” ในทางธรรมของพระองค์ในวัยชรา จนส่งผลกระทบต่อราชการแผ่นดินอย่างที่เจ้าตัวนึกไม่ถึง

นั่นเพราะหลังรบทัพจับศึกต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อราชวงศ์เหลียงปักหลักมั่นคงแล้ว เหลียงอู่ตี้เริ่มหมกมุ่นอยู่กับพระพุทธศาสนา ค.ศ 527 พระองค์รับสั่งให้สร้าง “วัดถงไท่” ขึ้นติด ๆ กับพระราชวัง พร้อมทำประตูเชื่อมระหว่างวังกับวัดเพื่อความสะดวก ไม่กี่เดือนหลังสร้างวัดเสร็จ พระองค์ตรัสกับเหล่าขุนนางว่า ตนรู้ซึ้งทางโลกแล้ว อยากศึกษาทางธรรมด้วยการ “ออกบวช” ในวัดถงไท่นี้

ว่าแล้วจักรพรรดิก็ถอดเครื่องทรง โกนศีรษะ ห่มจีวร ไม่ฟังคำทัดทานของเหล่าขุนนาง แล้วเข้าไปอยู่กินในวัด มุ่งมั่นอยู่กับการอ่านคัมภีร์พุทธศาสนา เก็บกวาดวิหาร ทำทุกอย่างประหนึ่งพระภิกษุ แม้ขุนนางจะแห่แหนกันมาคุกเข่าอ้อนวอนทุกวันเพื่อขอให้กลับวังไปว่าราชการก็ไม่เปลี่ยนใจ

ผ่านไป 4 วัน เหล่าขุนนางวิเคราะห์พฤติกรรมของจักรพรรดิ แล้วลงความเห็นกันว่าเห็นทีต้องลงเงินกันจำนวนสักหนึ่งร้อยล้านแล้วไปทำบุญกับวัดถงไท่ เพื่อ “ไถ่ตัว” จักรพรรดิออกมา ซึ่งก็ได้ผลตามนั้น เหลียงอู่ตี้ยอมกลับมาว่าราชการดังเก่า

ปรากฏว่านั่นไม่ใช่ครั้งเดียว ความปรารถนาในการออกบวชติดอยู่ในใจเหลียงอู่ตี้ 2 ปีผ่านไป จักรพรรดิหันมาห่มจีวรเข้าวัดถงไท่อีกครั้ง แถมจัดชุมนุมทางพระพุทธศาสนาอย่างเอิกเกริก ทรงเทศนาธรรมเรื่อง “นิพพาน” แก่พระสงฆ์จากทั่วทุกสารทิศจำนวนกว่า 50,000 รูป ฝ่ายขุนนางที่ตามอ้อนวอนให้กลับไปครองราชย์นั้น พระองค์ตรัสว่าต้องสั่งสมคุณธรรมและทำบุญให้มาก ๆ ก่อน จึงจะยอมกลับวัง 

ขุนนางได้ฟังก็รู้ทันทีว่าต้องบริจาคเงินให้วัดอีก จึงบริจาคเงินหนึ่งร้อยล้านให้แก่วัดถงไท่ จักรพรรดิจึงเสด็จกลับเข้าวังอย่างอาลัยอาวรณ์ ครั้งนี้บวชอยู่นาน 1 เดือน

หลังจากนั้นอีก 15 ปี เหลียงอู่ตี้อุทิศตนต่อพระพุทธศาสนา (อีกแล้ว) คราวนี้ลำบากผู้คนในวังหลวงตั้งแต่องค์รัชทาทายาทตลอดจนขุนนางน้อยใหญ่ต้อง “ไถ่ตัว” พระองค์กลับวังอย่างเคย

ค.ศ. 547 เหลียงอู่ตี้ในวัย 84 พรรษา เข้าวัดเป็นครั้งสุดท้าย ปฏิบัติกิจของสงฆ์ไม่ว่างเว้น เทศนาสอนธรรมะแก่ทุกคน และเช่นเคย… ขุนนางดำเนินการเหมือนทุกครั้งเพื่อให้พระองค์กลับมาว่าราชการ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุคของฮ่องเต้พระองค์นี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของจีนตอนใต้อย่างแท้จริง จะเห็นว่าเฉพาะนครหลวงเจี้ยนคังเมืองเดียวยังมีวัดมากกว่า 500 แห่ง พระสงฆ์และแม่ชีรวมกันกว่าแสนรูป

แต่การอุทิศตนเข้าวัด 4 ครั้ง ที่ต้องแลกมาด้วยเงินหลายร้อยล้านเพื่อไถ่ตัวเหลียงอู่ตี้ ทำให้เงินทองเข้าไปอยู่ในวัดแทนที่จะถูกนำไปพัฒนาด้านอื่น ๆ ผู้คนในยุคราชวงศ์เหลียงก็เข้าไปพัวพันอยู่แต่กับวัดซึ่งมั่งคั่งด้วยเงินบริจาค รัฐจึงขาดแคลนกำลังและแรงงานด้านความมั่นคง ราชวงศ์เหลียงจึงเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ หลังจากนั้น

ในคืนที่เหลียงอู่ตี้เสด็จออกจากวัดถงไท่รอบที่ 4 นั้น เกิดเหตุไฟไหม้ผลาญเจดีย์สำคัญของวัดได้รับความเสียหาย จักรพรรดิจึงระดมเงินทองจำนวนมากมาสร้างเจดีย์ใหม่สูง 12 ชั้น แต่ไม่ทันได้สร้างเสร็จ พระองค์ถูกคุมขังโดย “โหวจิ่ง” ผู้นำทัพกบฏที่บุกยึดนครหลวงเจี้ยนคัง จากนั้นถูกปล่อยให้อดพระกระยาหารจนสวรรคตเมื่อปี 549 ด้วยพระชนมายุ 85 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

หลี่เฉวียน ; เขมณัฏฐ์  ทรัพย์เกษมชัย แปล. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2567