ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประวัติศาสตร์จีนหลายพันปี เกิดการแย่งชิงอำนาจ ผลัดเปลี่ยนราชวงศ์และผู้ปกครองนับไม่ถ้วน แต่มีครั้งหนึ่งที่การเปลี่ยนแปลงบัลลังก์เป็นไปอย่างสงบ ไร้การนองเลือด เพราะมีการวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างแนบเนียน บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังคือ หวัง หมั่ง ที่ต่อมาขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์ซิน
สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ฮ่องเต้หลายพระองค์เป็นเด็กอายุน้อย จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการเป็นพระญาติหรือบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และคอยชักใยฮ่องเต้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์
พระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ (33-7 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา อำนาจการปกครองจึงตกอยู่ในมือของหวังเจิ้งจวิน ไทเฮาของพระองค์ คนในตระกูลหวังหลายคนได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญในราชการ ลูกหลานตระกูลหวังล้วนเย่อหยิ่ง ฟุ่มเฟือย ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ มีเพียง หวัง หมั่ง หลานน้าของพระนางหวังเจิ้งจวินเท่านั้นที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ในตระกูล
หวัง หมั่ง เป็นคนพากเพียรเรียนหนังสือ มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง ใช้ชีวิตเรียบง่าย สุภาพเรียบร้อย ให้ความเคารพต่อผู้อื่น ไม่ถือตัวว่ามาจากตระกูลใหญ่ที่เกี่ยวดองกับฮ่องเต้ ทำให้มีผู้คนรักและให้ความเคารพจำนวนมาก
ด้วยความนิยมและชื่อเสียงของเขา ไม่นานนักก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หวงเหมินหลาง หรือองครักษ์จักรพรรดิ เวลานั้นขุนนางและบุคคลผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากได้ถวายหนังสือชื่นชมในคุณธรรมอันสูงส่งของหวัง หมั่ง ทำให้พระเจ้าฮั่นเฉิงตี้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่ง ต้าซือหม่า หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด
แม้ตอนนี้จะได้รับความไว้วางใจจากฮ่องเต้และคนมากมาย มีอิทธิพลบารมีเพิ่มขึ้น แต่หวัง หมั่ง ก็ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตน ประหยัดมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำให้ยิ่งได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คนจำนวนมาก
แต่ความจริงแล้วเขาเป็นคนทะเยอทะยาน แม้จะทำเป็นถ่อมตัวก็ตาม เป้าหมายของเขาคือต้องการแสวงหาอำนาจ และกระตือรืนร้อที่จะแย่งชิงอำนาจจากฮ่องเต้ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เขาจึงวางแผนช่วงชิงอำนาจอย่างแนบเนียน โดยการสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนและคนรอบข้าง
ค.ศ. 1 หวัง หมั่ง แจ้งคนสนิทให้ติดสินบนเผ่าเยว่ฉางซื่อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้ ให้ส่งบรรณาการมาให้ จากนั้นก็ประโคมข่าวใหญ่โต จนขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าการที่ชนกลุ่มน้อยยอมสวามิภักดิ์นี้เป็นคุณงามความดีของหวัง หมั่ง แล้วกล่าวว่ามีเพียงเขาผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถรับประกันความสุขสงบของราชวงศ์ฮั่นได้ และขอให้เลื่อนตำแหน่ง เป็น อันฮั่นกง หรือขุนนางสูงสุด แต่หวัง หมั่ง ทำทีเป็นปฏิเสธ ขุนนางที่เป็นพรรคพวกของเขาจึงปลุกระดมมวลชนในที่ต่าง ๆ ถวายหนังสือสรรเสริญคุณธรรมของหวัง หมั่ง ท้ายสุดเขาจึงทำทียอมรับตำแหน่งขุนนางสูงสุด
ปีต่อมาเขาใช้เงินตนเองในจำนวนมหาศาล ช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ประสบภัย สร้างโรงเรียนตามที่ต่าง ๆ และแจกที่ดินอีกจำนวนมาก การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้เขาได้รับคำชื่นชมและการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองและชาวบ้านมากขึ้นไปอีก
เมื่อได้เสียงสนับสนุนมากมายขนาดนี้ ก็ถึงเวลาที่จะลงมือตามแผนการที่วางไว้อย่างเต็มรูปแบบ
ค.ศ. 6 พระเจ้าฮั่นผิงตี้ ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฮั่นไอตี้ (ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ และสวรรคตเมื่อ 1 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เริ่มไม่พอใจที่หวัง หมั่ง มีอิทธิพลบารมีและอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ตัวเขารู้สึกถึงความไม่พอใจดังกล่าวจึงลอบวางยาพิษพระเจ้าฮั่นผิงตี้จนสวรรคต ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากขอให้หวัง หมั่ง ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ซึ่ง หวังเจิ้งจวิน ไทเฮา ก็ยอมทำตาม เพราะทราบถึงอิทธิพลของหวัง หมั่ง ในเวลานี้ว่ามีมากมาย ไม่อาจขัดขืนได้
หวัง หมั่ง จึงเลือก หลิวอิง เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ฮั่นที่มีพระชันษาเพียง 2 ปี ขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ใหม่ นามว่า หรูจื่ออิง โดยมีเขาบริหารราชการอยู่เบื้องหลัง
บัดนี้ เขาครองอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่เขาก็ยังไม่พอใจ เพราะเป้าหมายต่อไปคือบัลลังก์ฮ่องเต้ ใน ค.ศ. 9 จึงแสร้งให้คนของเขาสลักคำลงบนภาชนะหินและภาชนะทองแดง และนำไปกระจายตามที่ต่าง ๆ เป็นคำทำนายของฟ้าดินว่า
“อันฮั่นกงหมั่งเป็นจักรพรรดิ ฮั่นเกาจู่ (ฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์ฮั่น) หลีกทางให้หวัง หมั่ง”
คนจำนวนมากจึงเชื่อว่าสวรรค์ได้เลือกหวัง หมั่ง เป็นฮ่องเต้พระองค์ใหม่ เมื่อทำให้คนเชื่ออย่างนี้ได้แล้ว เขาจึงปลดฮ่องเต้หรูจื่ออิงออกจากบัลลังก์ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิพระนามว่า ซินเกาจู่ โดยเรียกชื่อราชวงศ์ว่า “ซิน” เป็นสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
จะเห็นได้ว่า เขาใช้กลอุบายทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง ดำเนินการอย่างรอบคอบ ซื้อใจผู้คนรอบข้างอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีก็ยอมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ ขึ้นสู่บัลลังก์ฮ่องเต้ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม หลังขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิซินเกาจู่ บริหารประเทศด้วยความผิดพลาดหลายประการ ใช้อำนาจกดขี่ราษฎรอย่างหนัก จนกระทั่งประชาชนที่เดือดร้อนจากความทุกข์ยากพากันก่อกบฏไปทั่วทั้งแผ่นดิน พอถึง ค.ศ. 23 กองทัพกบฏได้บุกเข้าเมืองหลวงฉางอัน และปลงพระชนมชีพจักรพรรดิซินเกาจู่ ปิดฉากชีวิตขุนนางผู้มีความทะเยอทะยานมากที่สุดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน
อ่านเพิ่มเติม :
- วรรณกรรม “สามก๊ก” ภาพสะท้อนความเป็น “อนิจจัง” ของประวัติศาสตร์จีนที่ต้อง “แตกแยก”
- ไฉน “หลิวปัง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้นำแบบ “ร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลี่เฉวียน. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. (ผู้แปล เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย). กรุงเทพฯ : มติชน.
ทวีป วรดิลก. (2565). ประวัติศาสตร์จีน เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
Hans H.A. Bielenstein, Wang Mang emperor of Xin dynasty. Access 7 April 2023 from https://www.britannica.com/biography/Wang-Mang
Mike Dash. Emperor Wang Mang: China’s First Socialist? . Access 7 April 2023 from https://www.smithsonianmag.com/history/emperor-wang-mang-chinas-first-socialist-2402977/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2566