ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คำพูดโลกสวยที่ว่า “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” หรือ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” เอาไว้สร้างความฮึกเหิมให้กับทีมงาน แต่ในความจริง “ผู้นำ” จำนวนไม่น้อยมักเกิดความระแวงต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะที่มีความสามารถเกินหน้านาย ซึ่งมักจบลงด้วยการ “ถอนฟืนจากใต้กระทะ” ตัวอย่างเช่นนี้ในประวัติศาสตร์จีนคงมีอยู่ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “หลิวปัง” ผู้นำที่ “ร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”
หลิวปัง หรือ จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น หลังราชวงศ์ฉินล่มสลาย อดีตข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างหลิวปัง สามารถเอาชนะเซี่ยงหยี่ (ฌ้อปาอ๋อง) ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะมีขุนพลและที่ปรึกษาคนสำคัญ 3 คน คือ เสียวเหอ, หานซิ่น, จางเหลียง
จักรพรรดิฮั่นเกาจู่มีรับสั่งในที่ประชุมขุนนางว่า “เรากระทำการใหญ่ได้สำเร็จครั้งนี้เพราะประกอบด้วยกำลังศึก 3 ประการ ประการ 1 คือ จางเหลียง รู้กลอุบายลึกซึ้ง คิดอ่านป้องกันภัยทั้งปวงไปถึงพันโยชน์ ก็เป็นกำลังประการ 1
ประการ 1 เซียวเหอ ซึ่งไปรักษาเมืองเสียนหยาง รู้เกลี้ยกล่อมคนให้ทำไร่ไถนา ได้ข้าวปลาอาหารไว้บริบูรณ์ เรากระทำศึกจึงไม่ขาดเสบียงอาหาร ก็เป็นกำลังศึก 2 ประการ
ประการ 1 คือ หานซิ่น ชำนาญในพิชัยสงคราม รู้ตั้งค่ายแลจัดแจงกองทัพ จึงมาตรว่าคนสัก 100 หมื่น 200 หมื่น หานซิ่นก็เป็นแม่ทัพคุมไว้ได้ อันคน 3 คนนี้คือกำลังศึกของเรา จึงทำการใหญ่ได้สำเร็จ”
ในชั้นต้น จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ทรงแต่งตั้งขุนพลที่มีความดีความชอบเป็นพิเศษในสงคราม และเชื้อพระวงศ์สําคัญ ๆ ให้เป็น “เจ้าเมือง” มีอํานาจปกครองดินแดนเขตแคว้นศักดินา ผู้มีความดีความชอบเป็นพิเศษก็ได้แก่ยอดขุนพลสามคนคือ หานซิ่น เผิงเย่ และอิ้นปู้
ขุนพลเหล่านี้มีความสามารถในการศึก เมื่อเป็นเจ้าเมืองมีอํานาจปกครองเขตแคว้นศักดินาอย่างเป็นอิสระ มีกองทัพของตนเอง มีอํานาจแต่งตั้งขุนนางที่ทําหน้าที่บริหารภายในเขตแคว้นโดยสิทธิ์ขาด ไม่ต้องขึ้นกับราชสํานักเมืองหลวง แต่ละแคว้นมีเนื้อที่กว้างขวาง เมืองที่อยู่ในปกครองโดยตรงมีตั้งแต่ 30-100 เมือง
นั่นทำให้จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ทรงมีความหวาดระแวง ไม่ไว้วางพระทัยในขุนพลเหล่านี้ตั้งแต่แรก
ยิ่งกว่านั้น หากแคว้นต่าง ๆ รวมกันแล้ว มีพื้นที่และอำนาจมากกว่าดินแดนและอำนาจที่พระองค์เองมีโดยตรงในอาณาจักรเสียอีก ยิ่งนานวันพระองค์ก็ยิ่งไม่ไว้วางพระทัยเหล่าเจ้าเมืองที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเองขึ้นทุกที จนกลายมาเป็นการวางแผนเพื่อกําจัด
เป้าหมายอันดับแรกก็ได้แก่ หานซิ่น-เจ้าผู้ครองแคว้นฉู่ ผู้มีความดีความชอบสูงสุดในการพิชิตเซี่ยงหยี่ คู่ต่อสู้สำคัญของพระองค์ หานซิ่นถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏในปีที่ 196 ก่อน ค.ศ. ต่อมาเผิงเย่-เจ้าผู้ครองแคว้นเหลียง กับอิ้นปู้-เจ้าผู้ครองแคว้นหวายหนาน ก็ต้องประสบชะตากรรมไม่ดีไปกว่าหานซิ่นเลย ส่วนเจ้าเมืองอีกคนอื่น ๆ ถ้าไม่หนีโดยยอมสละดินแดนเขตแคว้นที่ตนปกครองเสีย ก็ต้องถูกถอดยศถอดตําแหน่ง
เมื่อกําจัดเจ้าผู้ครองแคว้นที่ไม่ต้องการได้หมด จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ทรงโล่งพระทัยเป็นอันมากว่าคงไม่มีการก่อกบฏ จากนั้นก็ทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าแคว้น ทรงมีรับสั่งว่า “ให้อ้ายคนที่ไม่ใช่แซ่หลิวบังอาจตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มันจะต้องถูกรุมโจมตีจากทั่วทั้งสากลทีเดียว” แต่แล้ว เจ้าแคว้นแซ่หลิวที่เป็นเชื้อพระวงศ์ กลับกลายเป็นภัยคุกคามราชสํานัก ที่ก่อการกบฏขึ้นถึง 2 ครั้ง
หลังจากรัชกาลจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ประมาณ 1,500 ปี มีผู้ชื่นชมพระองค์เป็นอย่างมากเกิดขึ้น นั่นคือ “จูหยวนจาง”
จูหยวนจาง หรือ หมิงไทจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ผู้ล้มล้างราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล รัฐบุรุษผู้เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ทรงโหดร้ายทารุณกับขุนนางที่รับใช้พระองค์ด้วยความจงรักภักดี นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็บันทึกไว้ว่า
เมื่อขุนนางจะออกจากบ้านไปเฝ้าพระองค์ในวังนั้น ลาลูกเมียเสมือนลาตาย หากสามารถกลับมาโดยปลอดภัย ครอบครัวก็ยินดีมีการเลี้ยงฉลองประหนึ่งรอดตายกลับมาได้ราวปาฏิหาริย์
บุคลิกภาพ อุปนิสัย ตลอดจนความโหดร้ายอย่างเหลือเชื่อของปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงองค์นี้นั้นน่าสืบเนื่องจากชาติกําเนิดอันต่ำต้อยของพระองค์ จากครอบครัวชาวนาจนที่ต้องผ่านพบทุพภิกขภัยอันร้ายกาจ ที่เริ่มชีวิตทหารมาตั้งแต่เป็นไพร่พลจนถึงแม่ทัพใหญ่และจักรพรรดิ ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงต่อสู้และกำจัดผู้คนจำนวนมาก เพื่อความอยู่รอดและความเป็นใหญ่
ในบรรดาจักรพรรดิราชวงศ์ต่าง ๆ จักรพรรดิหมิงไทจู่ทรงยกย่องและชมชอบจักรพรรดิฮั่นเกาจู่มากที่สุด อาจเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ต่างมีชาติกําเนิดอันต่ำต้อย แต่สามารถก้าวขึ้นมาสู่ตําแหน่งจักรพรรดิโดยไม่มีพื้นฐานใด ๆ สนับสนุนเช่นเดียวกับพระองค์ ผิดกันเพียงหมิงไทจู่ทรงมีใบหน้าอัปลักษณ์ หน้าผากโหนกสูง จมูกใหญ่ ขากรรไกร ยื่นออกทั้งสองข้างเท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- เทียบ “ควีนวิกตอเรีย-ซูสีไทเฮา” ผู้นำ ยุคเปลี่ยนผ่านที่ต่างได้ทั้งคำสรรเสริญ-ประณาม
- “น้ำทำให้เรือลอยได้ น้ำก็ทำให้เรือจมได้” คำพูดอมตะของถังไท่จง มีที่มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2527
เสถียร จันทิมาธร. วิถีแห่งอำนาจจางเหลียง วิถีแห่งเสนาอำมาตย์ (1) ใน, หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556
หลี่เฉวียน (เขียน) เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีน ฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม พ.ศ. 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2563