เผยแพร่ |
---|
พระนางซูสีไทเฮา (ค.ศ.1835-1908) กับพระราชินีวิกตอเรีย (ค.ศ.1819-1901) พระองค์หนึ่งทรงเป็น “พระพันปีหลวงของจักรวรรดิแห่งตะวันออก” อีกองค์หนึ่งทรงเป็นราชินีแห่ง “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตก” ทั้งสองคือสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกยุคนั้น แต่เมื่อก้าวข้ามธรณีประตูศตวรรษที่ 20 กลับประสบชะตาชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
พระราชินีวิกตอเรียทรงสร้างยุคสมัยแห่งความสำเร็จ พระองค์เป็นตัวแทนของอารยธรรมทุนนิยมที่รุ่งเรืองและมีชีวิตชีวา แต่สิ่งที่พระนางซูสีไทเฮาทรงทิ้งไว้กลับเป็นอาณาจักรที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และเป็นสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันล้าหลัง และหดหู่
ทว่าสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่เบื้องหลังสตรีทั้งสองคืออะไร?
1 พฤษภาคม 1851 เป็นวันเปิดนิทรรศการเวริด์เอ็กซ์โป ที่กรุงลอนดอน ผู้คนจาก 25 ประเทศทั่วโลกมาร่วมงาน เพื่อแสดงและชม อารยธรรม ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติผ่านสิ่งที่นำมาจัดแสดงกว่า 14,000 รายการจากทั่วโลก แน่นอนว่ากว่าครึ่งมาจากประเทศอังกฤษ เช่น เครื่องปั่นด้ายอัตโนมัติ, เครื่องจักรไอน้ำพลังสูง, เครื่องปั๊มลม, เครื่องกลึงและวิธีหลอมเหล็กที่ล้ำสมัย ฯลฯ
พระราชินีวิกตอเรียทรงพระอักษรลงในบันทึกประจำวันว่า “วันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และรุ่งโรจน์ที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า พระนามของเจ้าชายอัลเบิร์ตอันเป็นที่รักของข้าพเจ้าก็จะเป็นอมตะเฉกเช่นเดียวกันวันนี้สำหรับตัวข้าพเจ้า วันนี้คือวันที่ควรค่าแก่การภาคภูมิและปีติยินดีอย่างถึงที่สุด เวลานี้ภายในจิตใจของข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความซาบซึ้งอย่างหาที่สุดมิได้…”
ขณะที่พระราชินีวิกตอเรียได้รับเสียงแซ่ซ้องจากประชาชนชาวอังกฤษ บริเวณลานใหญ่ของพระตำหนักที่ประทับซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในพระราชวังต้องห้ามแห่งอาณาจักรต้าชิง สาวงามจากครอบครัวขุนนางราชสำนักกำลังเข้า ร่วม “การคัดเลือกพระสนม” มีสาวงามจำนวนไม่มากนักที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งรวมถึง เย่เฮ่อน่าลา หลันเอ๋อร์(พระนางซูสีไทเฮา)
แต่หลังจากนั้น 10 ปี ชะตาของทั้งสองผกผันอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
ชะตาชีวิตของพระนางซูสีไทเฮาและพระราชินีวิกตอเรีย มิใช่ใครจะตัดสินใจว่าดีร้ายได้ง่ายๆ ในฐานะสตรีผู้หนึ่ง ชีวิตส่วนพระองค์ของพระนางซูสีไทเฮาก็มีความโชคร้ายอยู่มากเช่นกัน อายุ 27 พรรษาต้องสูญเสียพระสวามี ยังไม่ถึง 40 พรรษาพระโอรสก็ด่วนจากไป ไม่อาจได้รับความรักหนุ่มสาวอย่างสตรีทั่วไป และไม่ได้รับความสุขของการมีลูกหลานเหมือนแม่ทั่วไป
แต่ก็มีคนกล่าวว่าพระนางซูสีไทเฮาทรงโชคดี นางเป็นลูกสาวทหารธรรมดาสังกัดแปดกองธง ได้เข้าวังหลวงและยังโชคดีที่ให้กำเนิดพระโอรสเพียงหนึ่งเดียวกับจักรพรรดิเสียนเฟิง จากนั้นก็ “สูงส่งด้วยบารมีลูก” จนกระทั่งขึ้นเป็นไทเฮา
ทว่าเมื่อวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ชะตาของพระนางก็ยังเป็นโศกนาฏกรรม เรื่องที่พระนางโชคร้ายที่สุดคือทรงเผชิญกับยุคสมัยที่ลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ยุคปลายราชวงศ์ชิงภายใต้การปกครองของพระนางเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่หนักหน่วงและน่าอัปยศอดสู
ในฐานะผู้ปกครองต้องเผชิญกับการระรานจากเหล่าประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ก็ต้องรับมือกับสถานการณ์ภายในประเทศที่ใกล้สิ้นใจ พระนางพยายามทุกวิถีทางแต่ก็ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จนในที่สุดประชาชนไม่อาจอยู่เป็นสุข บ้านเมืองลุกเป็นไฟ แทบไม่อาจรักษาประเทศชาติให้คงอยู่ต่อไปได้ เมื่อคนรุ่นหลังพูดถึงพระนางซูสีไทเฮาก็ใช้พระนางเป็นสรรพนามแทนความเสียหายของประเทศชาติ
ภาพลักษณ์ของพระนางซูสีไทเฮาหลังจากสวรรคตแล้วจะตกต่ำจนมีกลายเป็น “ไทเฮาชั่วร้าย” ที่โง่งมล้มเหลวและโหดเหี้ยมทารุณ พระสุสานก็ยังหนีความโชคร้านไม่พ้น ถูกนายพลซุนเตี้ยนอิงปล้นสุสานตะวันออก ขุดหมู่ฮวงซุ้ย ทำลายโลงศพ
ขณะที่จักรวรรดิชิงกำลังประคับคองตนเองท่ามกลางลมมรสุมที่ถาโถม จักรวรรดิอังกฤษกลับกำลังเชิดหน้าชูตาก้าวเข้าสู่ยุควิกตอเรียนอันรุ่งโรจน์สูงสุด เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอังกฤษเจริญรุ่งเรืองอย่างเป็นประวัติการณ์ วิทยาศาสตร์และศิลปะพัฒนาถึงขีดสุด การปกครองระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญมุ่งหน้าสู่ความมั่นคงและสุกงอม จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินโดดเด่นเหนือนานประเทศ มองทั่วโลกด้วยแววตาหยิ่งผยอง
พระราชินีวิกตอเรียที่ขึ้นครองราชย์ขณะยังไม่ประสีประสาด้วยวัยเพียง 18 พรรษา จนกระทั่ง 82 พรรษา เป็นราชินีที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษพระองค์นี้ นอกจากทรงเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดา 9 พระองค์ ทรงรำลึกถึงพระราชสวามีผู้ล่วงลับก่อนวยอันควร และทรงให้เหล่าราชนิกุลทั่วทั้งยุโรปเรียกขานพระองค์ว่า “สมเด็จย่าแห่งยุโรป” เมื่อเปรียบเทียบกับพระนางซูสีไทเฮาผู้โชคร้ายด้านชีวิตครอบครัว พระราชินีวิกตอเรียทรงทุ่มเทและใสพระทัยอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นอย่างมาก ครอบครัวใหญ่ที่รักใคร่กลมเกลียวกันทำให้พระนางได้รับความสุขในวัยชรา
ในความรู้สึกของผู้คน มงกุฎบนพระเศียรของพระราชินีวิกตอเรียคือสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศและความงามของจักรวรรดิ พระนางทรงกลายเป็นที่พึ่งทางใจที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประชาชน
เมื่อเผชิญกับประวัติศาสตร์ที่ไร้เมตตา พระนางซูสีไทเฮาเป็นผู้นำที่รักอำนาจปานชีวิต ทุ่มเทความคิดทั้งหมดทั้งปวง และเคยยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตการณ์ทั้งหลายในประเทศและระหว่างประเทศ พยายามล้างความอัปยศสร้างความรุ่งเรือง
แต่ท้ายที่สุดกลับมีจุดจบอันโดดเดี่ยวอ้างว้าง ตกต่ำจนผู้คนก่นด่าว่าเป็นผู้ทำลายชาติ แต่พระราชินีวิกตอเรียกลับรับบทบาทเป็น “ประมุขเพียงนาม” ได้อย่างสบายใจ น้อยนักที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่พระนางกลับได้รับความเคารพและความระลึกถึงอย่างจริงใจจากประชนชาวอังกฤษ กระทั่งแม้แต่พระนามยังกลายเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์
นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องชะตาชีวิตของสตรี 2 ท่านนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบสร้างเป็นประวัติศาสตร์แสนอัปยศยาวนานกว่าร้อยปี การย้อนรอบวงโจรแห่งโชคชะตาของสตรี 2 ท่านนี้ แท้จริงแล้วก็คือการวิเคราะห์มูลเหตุแห่งความสำเร็จและล้มเหลว ความเจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมของทั้ง 2 ประเทศ
เหตุใดมาตรฐานการปกครองของ 2 พระนางจึงต่างกันราวฟ้ากับดิน เราสามารถพิจารณาได้จากความรู้ความสามารถของทั้ง 2 พระองค์
พระราชินีวิกตอเรียเริ่มศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่พระชนมายุ 5 ชันษา จนกระทั่ง 11 ชันษา พระองค์สามารถสนทนากับผู้คนด้วยภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน พระราชมารดาของพระองค์ตั้งเป้าหมายสูงสุดในพระชนม์ชีพว่า จะต้องอบรมให้พระนางเป็นราชินีผู้มีความรู้ลึกซึ้งกว้างขวาง บิชอบ 2 ท่านที่ได้รับเชิญมาตรวจสอบผลการเรียนของพระนางรายงานว่า
พระนางเข้าพระทัยสาระสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิลแห่งคริสต์ศาสนา รวมถึงหลักธรรมและข้อห้ามที่สำคัญของศาสนาคริสต์อันเป็นศาสนาประจำชาติของอังกฤษ พระองค์ทรงจำประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย และประวัติศาสตร์อังกฤษได้แม่นยำ ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ การใช้ลูกโลก รวมถึงไวยากรณ์ภาษาละติน อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ การออกเสียงภาษาอังกฤษและภาษาละตินถูกต้อง ไพเราะน่าฟัง นั้นคือความสามารถทางการศึกษา ในวัย 11พรรษา
หลังขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระราชินีวิกตอเรียทรงแสดงความสามารถทางการเมืองออกมาอย่างรวดเร็ว เมื่อลอร์ดเมลเบริน์ นายกรัฐมนตรี แนะนำให้พระราชินีเปลี่ยนตัวนางสนองพระโอษฐ์ 2 นาง เพราะสามีของพวกเธอจงรักภักดีกับรัฐบาลชุดก่อน พระองค์กลับตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่เปลี่ยนตัวใครทั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่สนใจทัศนะการเมืองของพวกนาง เพราะข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องถกปัญหาการเมืองกับพวกนาง”
พระราชินีวิกตอเรียเข้าพระทัยภารกิจที่พระนางต้องรับผิดชอบในฐานะราชินีอย่างถ่องแท้ พระนางไม่เคยมีพระดำริจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มพูนอำนาจกษัตริย์ และไม่เคยมองข้ามมติรัฐบาลเพียงเพราะพระนางมีฐานะเป็น “ประมุขเพียงนาม” แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้าราชการในคณะรัฐมนตรีจะมาสามารถทำงานให้พระนางอย่างขายผ้าเอาหน้ารอดได้ พระราชินีทรงรู้ชัดเจนว่าพระนางมีอำนาจในพระราชโองการที่ประกาศต่อรัฐบาล พระราชินีวิกตอเรียทรงแจ้งต่อรัฐบาลอย่างชัดเจนว่า หากรัฐบาลไม่เคารพต่ออำนาจกษัตริย์ เช่นนั้นเหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง
“ยุควิกตอเรียน” กว่า 60 ปีที่พระนางครองราชย์ ระบบทุนนิยมเสรีอังกฤษก็เริ่มก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน จากช่วงริเริ่มสู่จุดรุ่งโรจน์และข้ามมาสู่ระบบทุนนิยม ภายใต้การปกครองของพระนาง อังกฤษเปลี่ยนจากประเทศธรรมดาๆ ในยุโรปเป็นจักรวรรดิอันเกรียงไกร
เหตุที่พระราชินีวิกตอเรียมีความสามารถด้านการปกครองยอดเยี่ยมเช่นนี้ เป็นเพราะพระนางได้รับการศึกษาที่เปิดกว้างทุกด้านของโลกตะวันตก แต่พระนางซูสีไทเฮาทรงถูกผูกมัดด้วยแนวคิดของสำนักขงจื่อที่ว่า “สวรรค์ไม่เปลี่ยน กฎเกณฑ์ก็ย่อมไม่เปลี่ยน” ทำให้ไม่สามารถเบิกตามองโลกกว้างและยิ่งไม่สามารถลงมือกระทำได้ ดูเหมือนการขาดแคลนความรู้และทัศนะที่คับแคบลิขิตให้พระนางได้แต่ทรงยอมรับชะตากรรมหรือ
สภาพครอบครัวของพระนางซูสีไทเฮาในวัยเยาว์ไม่ได้ดีนัก สังคมยุคนั้นมีค่านิยมว่า “สตรีไม่มีความสามารถคือผู้มีคุณธรรม” จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดี หากพระนางซูสีไทเฮาเอาแต่งดูแลผิวพรรณประทินโฉม ก็คงไม่อาจเป็น “นางพญามังกร” แต่ไหนแต่ไรมาพระนางซูสีไทเฮาทรงเห็นว่าสตรีควรรู้หนังสือ พระนางจึงสามารถอ่านเขียนภาษาฮั่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้น้อยมากในหมู่สตรีสมัยนั้น
การที่พระนางซูสีไทเฮาทรงอ่านเขียนภาษาฮั่นได้ จักรพรรดิเสียน เฟิงจึงทรงให้พระนางซูสีไทเฮาทอดพระเนตรฎีกาแทน พระนางซูสีไทเฮาทรงใช้ความปราดเปรียวและเฉลียวฉลาดที่มีอยู่ เข้าพระทัยงานราชสำนักและขอบเขตของเจ้ากับขุนนางอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้เองเป็นรากฐานอันมั่นคงให้พระนางกุมอำนาจการเมืองไว้ได้ในเวลาต่อมา “บันทึกเรื่องเล่าจากสุสานฉงหลิง” กล่าวว่า “เวลานั้นการก่อกบฏหงซิ่วเฉวียนและหยางซิ่วชิงรุนแรงมาก การทหารยุ่งเหยิงวุ่นวาย ฮ่องเต้ทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ลายพระหัตถ์ในเวลาต่อมาอ้วนและตรง มักรับสั่งให้พระนางเขียนตอบอนุมัติฎีกาแทน ฮ่องเต้เพียงตรัสให้เขียนตามแล้วทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น”
เมื่อครั้งที่กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง จักรพรรดิเสียนเฟิงทรงลังเลไร้พลังจะตัดสินพระทัยเรื่องใหญ่ของชาติ พระนางซูสีไทเฮาทรงพระดำเนินออกมาอย่างอาจหาญ มีพระราชโองการเฉียบขาด รับสั่งให้รวบรวมกำลังพล และขุนนางชั้นผู้ใหญ่เปิดศึกชี้ชะตากับชาวต่างชาติ
เย่เฮ่อน่าลา หลันเอ๋อร์ (พระนางซูสีไทเฮา) ถูกช่วงชิงสิทธิทางการศึกษาในวัยเด็ก แต่พระนางก็ทรงแสดงความสามารถและอัจฉริยะทางการเมืองได้อย่างเหนือความคาดหมาย พระนางทรงเข้มแข็งเด็ดขาดและฉลาดเฉียบแหลมยิ่งกว่าบุรุษส่วนใหญ่ เทคนิคการใช้คนของพระนางซูสีไทเฮาสีไทเฮายอดเยี่ยมไม่มีข้อบกพร้อง หลังปราบกบฏไท่ผิแงละความวุ่นวายอื่นๆ สำเร็จ อำนาจทหารที่ควรยึดคืนพระนางซูสีไทเฮาก็ทรงยึดคืนกลับมาอย่างเด็ดเดียว เวลาที่ควรมอบอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ทรงไว้พระทัยอย่างแท้จริง ทรงจัดการความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นได้ดีเยี่ยม
ความสามารถจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดความแตกต่างระหว่างพระนางซูและพระราชินีวิกตอเรีย หากสาเหตุหลักที่พระนางซูสีไทเฮาสีไทเฮาถูกประณาม คือการพยายามรักษาอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นอันดับแรกเฉกเช่นเดียวกับฮ่องเต้หลายพระองค์ในประวัติศาสตร์จีน
ในจังหวะที่ประเทศจีนกำลังเผชิญ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” พระนางซูสีไทเฮาไม่สามารถเป็นดังพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย และจักรพรรดิเมจิแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งล้วนยอมกัดฟันตัดสินใจโออ่อนตามกระแส ปลุกเร้าจิตใจทุ่มเทกำลังบริหารประเทศ มุมานะบากบั่น ปฏิรูปวัฒนธรรมของจีน ให้ประเทศชาติสามารถหลอมรวมเข้าสู่กระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่
นี่เป็นทั้งโศกนาฏกรรมของพระนางและความน่าเสียดายของชนชาติจีน แต่ก็ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทฤษฎีชนชั้นอีกต่อไป ไม่ควรตราหน้าพระนางในฐานะ “ผู้อยู่สูงสุดของชนชั้นเจ้าของที่ดิน” เปลี่ยนให้พระนางมีด้านเดียว หรือเปลี่ยนพระนางให้เป็นภูตผีปีศาจ
ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ พระนางซูสีไทเฮาก็ไม่ทรงยอมให้ผู้อื่นรุกรานไปเสียทั้งหมด หากวิเคราะห์ประเมินตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ตอนฝรั่งเศสบุกเวียดนามแล้วข้ามสอดแนมในมณฑลยูนาน พระนางทรงช่วยเหลือกองทัพธงดำต่อต้านฝรั่งเศสในทางลับ ประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ท้ายที่สุดก็ยอมให้ฝรั่งเศสดูแลประเทศเวียดนามแต่ไม่ยอมยกดินแดนให้เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม “สนธิสัญญาจีน-ฝรั่งเศส”เป็นสนธิสัญญาที่จีนได้รับความเสียหายน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า พระนางซูสีไทเฮามิได้ “ตื้นเขินไร้การศึกษา” เสียทีเดียว
ภาพรวมของภูมิหลังประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นตัวตัดสินสามารถและวิสัยทัศน์ของนักการเมือง ประเทศอังกฤษในเวลานั้นผ่านการตื่นรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยามาแล้ว ไม่เพียงประดิษฐ์ปืนใหญ่และเรือรบขนาดมหึมากระแสความคิดหัวก้าวหน้าต่างๆ ปรากฏไม่ขาดสาย เสรีภาพ ความเสมอภาพ และประชาธิปไตยกลายเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความก้าวหน้า ทางการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมล้วนก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองถึงขีดสุด
แต่ทัศนะทางชนชั้นของจีนอย่าง “หลักความสัมพันธ์ทั้งสามและหลักศีลธรรมทั้งห้า” [1] และ “เมื่อแยกแยะฐานะสูงต่ำ ก็จะรู้ว่าสูงค่าหรือต่ำต้อย” ยังคงทำให้ผู้คนกลัวจนตัวสั่นราวกับยืนบนแผ่นน้ำแข็งบางๆ ไม่มีแนวโน้มจะก้าวไปข้างหน้า เมื่อเผชิญหน้ากับเรือรบอันแข็งแกร่งและปืนใหญ่ทรงอานุภาพของตะวันตก วัฒนธรรมทางความคิดที่เสื่อมโทรมก็ไร้เรี่ยวแรงจะต่อสู้
พระนางซูสีไทเฮาทรงเป็นบุคคลทางการเมืองที่แข็งแกร่ง แต่ไม่ใช่นักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ ความเสื่อมถอยทางการเมืองยุคปลายราชวงศ์ชิงนั้นสะท้อนความล้มเหลวทางการปกครองของแมนจูทั้งระบบ มิใช่เพราะพระนางซูสีไทเฮาเพียงพระองค์เดียว
ในทางตรงกันข้าม พระนางซูสีไทเฮาทรงเผชิญหน้ากับตะวันตก พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พระนางฝ่าฝืนกฎบรรพชน กล้าให้ขุนนางฮั่นรับตำแหน่งสำคัญ ยกเลิกการสอบเข้ารับราชการ ส่งคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ สนับสนุนการสร้างโรงเรียนและการจัดตั้งกองทัพรูปแบบใหม่ พระนางทรงทุ่มเทผลักดันให้ปฏิรูปการเมืองเตรียมจะใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ขอบเขตการปฏิรูปของพระนางกว้างขวางกว่าความคิดของคังโหย่วเหวย [2] ในตอนแรกเสียอีก
แต่ในทัศนะของสังคมจีนโบราณ สตรีทำงานด้านการเมืองล้วนถูกมองเป็น “ปีศาจ” หรือ “ภัยพิบัติ”
ถังเต๋อกังนักประวัติศาสตร์ชาวจีน กล่าวถึงพระนางซูสีไทเฮาว่า “ไทเฮาตะวันตกเป็นหญิงปากร้ายไร้เหตุผล หน้าเนื้อใจเสือ จิตใจคับแคบ และโหดเหี้ยมทารุณ”
แต่แบลนด์ (J.O.P. Bland)และเซอร์เอ็ดมันด์ ทรีลอว์นีย์ แบ็กเฮาส์ ชาวอังกฤษ กล่าวในหนังสือ “China Under the Empress Dowager” ว่าบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างพระนางซูสีไทเฮานั้น ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานทางศีลธรรมทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากลองมองบุคคลในยุคเดียวกับพระนาง รวมทั้งความคิดเห็นภาพรวมของประชาชนชาวจีน พระนางซูสีไทเฮากลับไม่ใช่จักรพรรดิที่เหี้ยมโหดทารุณ เขาเสนอทัศนะที่น่าสนใจไว้ว่า “ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ในอังกฤษยุคปัจจุบัน หากมีเหตุการณ์ช่วงชิงอำนาจของประเทศ วิธีประหารคนของอังกฤษเองก็ยากจะกล่าวถึงคุณธรรมและความเมตตา”
ภาพลักษณ์ที่พระราชินีวิกตอเรียทรงทิ้งไว้ให้แก่ผู้คนดูจะมีเพียงความอบอุ่นสง่างาม และไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญ ยินดีปิดทองหลังพระโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงนั้นผิดทั้งหมด แท้จริงแล้วพระราชินีวิกตอเรียเป็นบุคคลที่ซับซ้อน บางครั้งทรงอ่อนโยนเมตตา บางครั้งก็ทรงเย็นชาแข็งกร้าว บางทีก็ทรงปรับตัวตามกระแส แต่บางทีกลับต่อต้านอย่างดื้อรั้น ต่อภายในประเทศ พระนางพยายามรักษาภาพลักษณ์ที่ดูเมตตาโอบอ้อมอารี แต่ต่อภายนอกกลับสนับสนุนการขยายอาณานิคมอย่างไม่รู้จักพอ
ทว่าระหว่างปี 1868-1874 ภายหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย การยกเลิกระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสและเกิดการก่อตั้งสาธารณรัฐ ส่งผลต่อแนวคิดสาธารณรัฐนิยมแบบสุดโต่งภายในประเทศอังกฤษเติบโตมากขึ้น หนังสือพิมพ์โจมตีราชวงศ์และระบอบกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง มีการเสนอให้ถอดพระราชินีและก่อตั้งสาธารณรัฐในประเทศต่างๆ ฯลฯ
จนถึงปลายทศวรรษ 1860 ในที่สุดพระราชินีวิกตอเรียจึงเข้าพระทัยว่า การล้มล้างระบอบกษัตริย์ ลดทอนอำนาจกษัตริย์ รวมถึงการแสดงเสรีภาพ และความเสมอภาคกลายเป็นกระแสที่ครองใจผู้คนได้มากที่สุดในยุคนั้น หากพระนางไม่ปรับตัว แม้แต้ตำแหน่งในปัจจุบันก็ยากจะรักษาไว้
สุดท้ายคําถามที่ตั้งไว้ในตอนแรกว่า เหตุใดความเผด็จการของพระนางซูสีไทเฮาจึงประสบความสําเร็จ แต่พระราชินีวิกตอเรีย ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าแผ่นดินเช่นเดียวกันกลับต้องจํายอมลดทอนอํานาจกษัตริย์ ทําไมความกล้าแบกรับภารกิจของพระนางซูสีไทเฮากลับกลายเป็น “ยิ่งทํายิ่งยุ่ง” จนจักรวรรดิต้าชิงซึ่งรับศึกทั้งภายในภายนอกย่ำแย่เกินเยียวยา ส่วนพระราชินีวิกตอเรียตอเรียกลับถอนตัวออกมาได้อย่างสมบูรณ์ มีชีวิตสะดวกสบายไม่ต้องสนใจสิ่งใดแต่จักรวรรดิอังกฤษกลับนับวันยิ่งเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
นั่นเป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่าง
ชาวอังกฤษเริ่มจากใช้กลไกการจัดการของสังคมสมัยใหม่ ระบอบประชาธิปไตยมีกลไกการแก้ไขที่แข็งแกร่งอยู่ภายในตัว จึงรักษาความสงบสุขและเสถียรภาพของชาติไว้ได้ยาวนาน แต่ประเทศจีนอํานาจ เผด็จการ เป็นวัฒนธรรมโบราณซึ่งหยั่งรากลึก ไม่มีพละกําลังชนิดใดจะสามารถควบคุมผู้ครองแผ่นดินไม่ให้พวกเขากระทําสิ่งใดตามใจชอบ
ในเมื่อยากจะสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยอันสมเหตุสมผล ก็ย่อมยากจะก่อเกิดเป็นกลไกกําหนดนโยบายที่ถาวร และเป็นวิทยาศาสตร์ หลายพันปีมานี้ประเทศชาติและสังคมจึงต้องสูญเสียต้นทุน การดําเนินงานไปมหาศาลด้วยเหตุนี้
เมื่อลองสืบสาวไปถึงมูลเหตุ ความหมายแฝงของคําว่า “ศักดินา” ในยุโรปกับจีนนั้นแตกต่างกัน ในจีนนั้นมีความหมายแฝงว่า “ใต้หล้าล้วนเป็นแผ่นดินของจักรพรรดิ ทั่วทุกหนแห่งล้วนเป็นขุนนางของราชัน” แสดงให้เห็นการรวมศูนย์อำนาจรัฐและความเผด็จการ ส่วนในยุโรประบอบศักดินาคือระบบคฤหาสน์ (Manorialism) และคฤหาสน์ก็มิใช่แค่ที่ดินผืนเดียว แต่เป็นหน่วยอํานาจปกครองชนิดหนึ่ง ภายในคฤหาสน์ ตระกูลขุนนางเองที่ดินไม่เพียงมีอํานาจตุลาการ แต่ยังมีอํานาจบริหาร และอำนาจการปกครองด้วย ราวกับเป็นประเทศเอกราชก็ไม่ปาน ดังนั้นระบบศักดินา-ของยุโรปจึงมีนัยยะของการแบ่งอํานาจ และมีนัยยะว่ากษัตริย์ไม่ได้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว
จากข้อสรุปข้างต้นเห็นได้ชัดเจนว่า สาเหตุที่แนวทางการบริหารประเทศของซูสีไทเฮากับพระราชินีวิกตอเรียสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติส่วนบุคคลจะสูงหรือต่ำ และไม่ได้ขึ้นกับว่ามีหรือไม่มีคุณธรรม แต่กุญแจสำคัญคือระบบวัฒนธรรมซึ่งอยู่เบื้องหลังพวกเขามีบทบาทต่อการตัดสินชี้ชะตา
เชิงอรรถ :
[1] แนวความคิดของขงจื่อ หลักความสัมพันธ์ทั้งาม ได้แก่ กษัตริย์เป็นหลักของขุนนาง บิดาเป็นหลักของบุตร และสามีเป็นหลักของภรรยา หลักศีลธรรมทั้งห้า ได้แก่ เมตตาธรรม, มโนธรรม,จริยธรรม, ปัญญาธรรม และสัตยธรรม
[2] คังโหย่วเหวย นักปฏิรูปคนสำคัญของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง
ข้อมูลจาก :
หวังหลง(เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง (แปล). ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา, สำนักพิมพ์มติชน, 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562