ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
เมื่อกล่าวถึงนามบรรดาศักดิ์ของผู้นำแห่ง “กัมพูชา” คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา) หลายคนคงมีคำถามว่า คำว่า “สมเด็จ” ที่ประเทศกัมพูชาใช้นั้นปัจจุบันหมายถึงอะไร ใครใช้ได้บ้าง?
นอกจากนี้ยังอาจมีคำถามว่านามบรรดาศักดิ์ที่ค่อนข้างยาวนั้นมีความหมายว่าอะไร มีที่มาอย่างไร และผู้นำประเทศกัมพูชานำนามบรรดาศักดิ์นี้มาใช้ด้วยเหตุใด?
การใช้คำว่า “สมเด็จ” ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน
คำว่า “สมเด็จ“ เป็นคำภาษาเขมรโบราณที่แผลงมาจากคำว่า “สฺตจ (เสด็จ)” ดังปรากฏหลักฐานการใช้มาตั้งแต่ศิลาจารึกของเขมรโบราณสมัยพระนคร โดยมีการใช้อักขรวิธีตามศิลาจารึกว่า “สํตจ” และ “สํเตจ” มีความหมายว่า พระนามศักดิ์สิทธิ์สำหรับกษัตริย์, เทพเจ้า, นักบวช
ในศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครก็ปรากฏการใช้คำว่า “สมเด็จ” เช่นเดียวกัน เช่น ในจารึก มีกล่าวการใช้คำว่าสมเด็จนำหน้าพระนามของกษัตริย์ในจารึก IMA.3 ซึ่งกล่าวถึง “สมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชโองการ” และใช้นำหน้าพระนามของพระราชวงศานุวงศ์ชั้นสูง ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครยังนำคำว่าสมเด็จมาใช้นำหน้าสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ผู้ใหญ่
นอกจากนี้นามบรรดาศักดิ์ขุนนางสำรับโท ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพระมหาอุปโยราช ของกัมพูชาในสมัยหลังพระนคร มีตำแหน่งเสนาบดีนายก ยศเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา“ หรือ “สมเด็จเจ้าพญา” แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งสมเด็จได้มีการนำมาใช้กับตำแหน่งขุนนางชั้นสูงตั้งแต่ในกัมพูชาสมัยหลังพระนครด้วย
การนำสมเด็จมาใช้เป็นยศของขุนนางกัมพูชาสมัยหลังพระนคร คล้ายคลึงกับการใช้คำว่า “สมเด็จ” ของกัมพูชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายในหนังสือ “ประชุมลิขิต“ ของ ออกญามหามนตรี จางวางกรมพระราชมณเฑียร (ญึก นูว) ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2513 ว่า “…พระสงฆ์ และคฤหัสถ์ ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นที่สมเด็จ ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ ‘เสวย’ ว่า ‘บรรทม’ ต้องพูดตามคำธรรมดา ถ้าจะใช้คำราชาศัพท์ได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เปลี่ยนเป็น ‘เสด็จ‘…“
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้ผู้นำของกัมพูชาในปัจจุบันจึงสามารถมีคำนำหน้านามบรรดาศักดิ์ว่า “สมเด็จ“ ได้ทั้งที่เป็น “สามัญชน“
ที่มาของนามบรรดาศักดิ์ในทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาสมัยหลังพระนคร
อาณาจักรกัมพูชาสมัยหลังพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 21 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24) เป็นสมัยที่ราชสำนักกัมพูชาได้ย้ายศูนย์กลางจากตอนเหนือของบริเวณทะเลสาบเขมรไปตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ บริเวณเมืองละแวก และเมืองอุดงค์ฦๅชัย ในสมัยนี้วัฒนธรรมเขมรโบราณในบริเวณที่ราบลุ่มของทะเลสาบใหญ่เขมรคลายกำลังความเข้มแข็งศักดิ์สิทธิ์ลงและเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอาณาจักรกัมพูชาหลายด้าน
ตำแหน่งยศและนามบรรดาศักดิ์ของขุนนางกัมพูชาในสมัยหลังพระนครมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้ว่า “กัมรเตงอัญ“ “เสตงอัญ“ ฯลฯ มาใช้ตำแหน่งยศและนามบรรดาศักดิ์ชุดเดียวกับกรุงศรีอยุธยา คือ มีตำแหน่ง “เจ้าพญา“ “ออกญา“ “ออกพระ” “ออกหลวง” “ขุน” เป็นต้นยศตำแหน่งและนามบรรดาศักดิ์ของขุนนางกัมพูชาสมัยหลังพระนครเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับยศตำแหน่งและราชทินนามของกรุงศรีอยุธยา
นามบรรดาศักดิ์ “เดโช” ในทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชา
นามบรรดาศักดิ์ “เดโช” เดิมเป็นนามบรรดาศักดิ์ของ “เจ้าเมืองกำพงสวาย“ ดังปรากฏในทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชาว่า “เมืองกพงสวาย พระยาเดโช เจ้าเมือง“ นอกจากนี้ยังปรากฏในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครหลักที่ IMA.9 ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2160-70 กล่าวถึง เจ้าพญาเดโชชัย และในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครหลักที่ IMA.39 จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2290 มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “…พระราชทานออกญาวงศษาอัครราชเป็นออกญาเดโชกินเมืองกำพงสวายนั้น…“
รวมทั้งยังมีการกล่าวถึงนามบรรดาศักดิ์ “ออกญาเดโช” ในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา พงศาวดารพระมหากษัตริย์ และเอกสารมหาบุรุษเขมรด้วย ดังความตอนหนึ่งในพงศาวดารพระมหากษัตริย์ฯ ว่า “ออกญายมราชแบนเป็นข้าสมเด็จพระรามาราชาธิราชไปอยู่กับออกญาเดโชแทนที่เมืองกำพงสวาย แล้วออกญายมราชแบนหนีเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา“ แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งนี้น่าจะมีใช้มาตั้งแต่ในกัมพูชาสมัยหลังพระนคร
ต่อมาในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส ตำแหน่ง “ออกญาเดโช“ ได้เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งของเจ้าเมืองกำพงธม (จังหวัดกำพงธม) เมื่อฝรั่งเศสได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองนี้จากเมืองกำพงสวายมาไว้ที่เมืองกำพงธม ดังปรากฏนามบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งมนตรีรัฐบาลเขตว่า “ออกญาเดโชบุราราชธรณินท นรินทบริรักษ์ สมุหาธิบดี อภัยเภรีปารากรมพาหุ”
ตำแหน่ง “ออกญาเดโช” เป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะเป็นเจ้าเมืองเอก มีอำนาจมากและมักมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพในการทำสงครามด้วย
นามบรรดาศักดิ์ “เดโช“ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า นามบรรดาศักดิ์นี้เป็นนามบรรดาศักดิ์ของ ออกญาเดโชบุราราช (มาศ) หรือ เดโชกรอฮอม และออกญารามราชเดโช (ยต) ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เป็น วีรบุรุษของกัมพูชาที่มีคุณูปการทั้งในด้านการปราบกบฏ และในด้านการสงครามต่อต้านการรุกรานจาก เสียม (สยาม)
อ่านเพิ่มเติม :
- มรสุมชีวิตการเมืองของ “เจ้ารณฤทธิ์” ผู้พ่ายแพ้ให้กับเกมการเมืองของ “ฮุน เซน”
- เจ้าในการเมือง กัมพูชา เมื่อ “ฮุน เซน” ไม่ใช่เจ้า แต่รัฐสั่งให้เรียกสมเด็จนำหน้านายกฯ
- รัชกาลที่ 4 ให้จำลอง “นครวัด” ไว้ในวัดพระแก้วอยู่มา 100 กว่าปี ฮุนเซนมาเยือนไทยก็ยังขอแวะไปชม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สามสมเด็จแห่งกัมพูชา : เจีย ซีม, ฮุน เซน และ เฮง สัมริน ที่มาและความหมายของนามบรรดาศักดิ์” เขียนโดย รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2552
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในออนไลน์เมื่อ 4 เมษายน 2562 / แก้ไขเพิ่มเติม 21 กุมภาพันธ์ 2567