“ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว

อนุสาวรีย์ เจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทน์ ศึกเจ้าอนุวงศ์
อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว

ศึกเจ้าอนุวงศ์ หรือ สงครามเจ้าอนุวงศ์ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2369-2371 ต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (2367-2394) เป็นประวัติศาสตร์ตอนที่สำคัญมากทั้งในประวัติศาสตร์ไทย และในประวัติศาสตร์ “ลาว”

ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามของ พวกกบฏ” หัวหน้ากบฏคือ เจ้าอนุวงศ์เป็นคนไม่ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรง Promote เจ้าอนุวงศ์ที่ทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย่) ของเจ้าอนุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ เพราะเชื่อในความจงรักภักดีในเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเคยช่วยไทยรบกับพม่ามาหลายครั้ง แต่เมื่อเจ้าอนุวงศ์ทรงเป็นกบฏในต้นรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงทรงแค้นพระทัยมาก ทรงสั่งให้ทำลายเวียงจันทน์มิให้เป็นเมืองอีกต่อไป

Advertisement

ในประวัติศาสตร์ลาวถือว่า ศึกเจ้าอนุวงศ์ เป็นสงครามที่ควรยกย่อง เพราะเป็นสงครามปลดแอกลาวให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย ผลของสงครามใหญ่หลวงนักโดยเฉพาะการกวาดต้อนประชากรจากเวียงจันทน์และลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเอามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคอีสาน จนเป็นเหตุให้ประชากรลาวเหลือน้อยมาจนทุกวันนี้ (ปัจจุบันประเทศลาวมีประชากร 5.7 ล้านคน ภาคอีสาน 21.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2546)

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเสนอในบทความนี้ ประเด็นที่จะนำเสนอคือ วิเคราะห์สาเหตุของความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์เพื่อให้หายสงสัยว่า กองทัพเจ้าอนุวงศ์แพ้เพราะอะไร เพราะฝ่ายไทยมีอาวุธดีกว่าหรือเพราะฝ่ายไทยมีกำลังมากกว่า หรือเพราะฝ่าย ลาว ประเมินกำลังพันธมิตรและศัตรูผิด หรือเพราะหลาย ๆ ปัจจัย โดยจะกล่าวถึงสาเหตุของสงครามและสงครามโดยสังเขปเสียก่อน

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ วาดโดย เดอ ลาปอร์ท คราว ศึกเจ้าอนุวงศ์
หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อ ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

สาเหตุของ “ศึกเจ้าอนุวงศ์” โดยสังเขป

หลักฐานที่เป็นทางการที่สุดของฝ่ายไทยคือประชุมจดหมายเหตุเรื่อง ปราบกบฏเวียงจันทน์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงไว้ สรุปได้ดังนี้

1. ไทยปกครองลาวและภาคอีสานทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2322 ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไทยปกครองลาวเป็น 3 ส่วน คือ แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ และแคว้นจำปาศักดิ์ แต่ละแคว้นไม่ขึ้นแก่กันขึ้นกับกรุงเทพฯ ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 เกิด กบฏสาเกียดโง้ง ใน พ.ศ. 2362 เป็นกบฏของชาวข่าในพื้นที่ภาคใต้ของลาว กองทัพของเวียงจันทน์โดยการนำของ เจ้าราชบุตรโย่ (ราชบุตรองค์ที่ 3 ของเจ้าอนุวงศ์) ปราบกบฏข่าลงได้

เจ้าอนุวงศ์ ทรงเสนอให้รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่ให้เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้าอนุวงศ์ทรงมีอำนาจมากเกินไป แต่รัชกาลที่ 2 ทรงเชื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า ถ้าลาวเข้มแข็งจะช่วยป้องกันมิให้ญวนขยายอำนาจเข้ามา

การที่รัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเจ้าราชบุตรโย่เป็นเจ้าครองแคว้นจำปาศักดิ์ ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์มีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก เพราะสามารถจะบังคับบัญชาว่ากล่าวบ้านเมืองทางชายพระราชทานอาณาเขตได้ตั้งแต่ด้านเหนือลงมาตลอดด้านตะวันออกจนต่อแดนกรุงกัมพูชา เจ้าอนุวงศ์ก็มีใจกำเริบขึ้น”

2. เจ้าอนุวงศ์ทูลขอแบ่งพวกครัวชาวเวียงจันทน์ที่กวาดต้อนมาสมัยกรุงธนบุรีกลับเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยอมก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่ไทยกวาดต้อนมา พากันกำเริบ” เอาอย่างบ้าง เมื่อไม่พระราชทานตามประสงค์เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศกลับขึ้นไปเวียงจันทน์ก็ตั้งต้นคิดกบฏ

3. เจ้าอนุวงศ์ทรงเห็นว่าการที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในเขมรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยก็ยอมเพราะไทยเกรงจะเกิดศึกกระหนาบทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์ทรงเอาใจออกห่างจากไทยไปฝักใฝ่ญวน หากเวียงจันทน์แยกตัวจากไทยก็คงได้ญวนเป็นที่พึ่งไทยก็อาจไม่กล้าทำศึกหลายด้าน

4. มีข่าวลือถึงเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2369 ว่าไทยวิวาทกับอังกฤษ อังกฤษจะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เวียงจันทน์จะออกหน้าก่อการกบฏ

เพื่อความเป็นธรรมต่อเจ้าอนุวงศ์ จึงนำเหตุผลฝ่ายลาวมาเปรียบเทียบกับหลักฐานฝ่ายไทย นักประวัติศาสตร์ลาวที่เด่นที่สุดเป็นที่ยอมรับของลาวในสมัยสังคมนิยมก็คือ ดร. มยุรี และ ดร. เผยพัน เหง้าสีวัทน์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของ สงครามเจ้าอนุวงศ์ ไว้ดังนี้

1. เพราะนโยบายของ บางกอก” ที่พยายามทำให้ ลาว” กลายเป็น สยาม” ทำให้ ลาว กลายเป็นแขวงหนึ่งของสยาม โดย ดร. มยุรี – ดร. เผยพัน ตีความจากการสักเลกในภาคอีสานในต้นรัชกาลที่ 3 ว่า “เป็นความพยายามที่จะกลืนชาติลาว”

2. ไทยกดขี่ลาวมาก โดยดอกเตอร์ทั้งสองได้ยกกรณีไทยใช้ให้คนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรี แล้วขนไปสมุทรปราการ กับเกณฑ์ชาวลาวไปตัดไม้ไผ่ 5,000 ลำ เพื่อเอาไปปิดขวางปากน้ำ เพื่อป้องกันการโจมตีของอังกฤษ

3. เจ้าอนุวงศ์ถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาและทำกิริยาดูหมิ่น-ดูถูก เจ้าราชวงศ์ โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ และเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีขนไปปากน้ำไม่พอใจเรื่องที่คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว”

4. ประเด็นเศรษฐกิจ ไทยพยายามปิดล้อมในการส่งสินค้าออกไปทางเขมร ซึ่งขุนนางไทยผูกขาดการค้าอยู่ การขูดรีดส่วยจากลาวก็เป็นสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้ด้วย

ระเบียงหอพระแก้ว เวียงจันทน์ วาดโดย เดอ ลาปอร์ท
ระเบียงหอพระแก้ว เวียงจันทน์ เต็มไปด้วยชิ้นส่วนประติมากรรมที่หักพัง ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อ ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2509) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

ศึกเจ้าอนุวงศ์โดยสังเขป

สงครามในยุค 180 ปีก่อนของไทยต่างจากสงครามในสมัยปัจจุบันที่เราเห็นในข่าวโทรทัศน์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในยุคนั้นสงครามมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเก็บทรัพย์จับเชลยกลับมาไว้ที่เมืองหลวงของตน ส่วนการยึดครองพื้นที่เป็นเป้าหมายรอง หากมีกำลังมากก็ยึดครองพื้นที่ของศัตรูด้วย หากมีกำลังไม่มากพอก็ตั้งเจ้าพื้นเมืองปกครองในฐานะประเทศราช ซึ่งวิธีหลังนี้ไทยใช้กับล้านนา ล้านช้าง เขมร และหัวเมืองมลายู

สำหรับ เจ้าอนุวงศ์” เป้าหมายในการทำสงครามคือ การปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย สำหรับวิธีการปลดแอกที่เจ้าอนุวงศ์ทรงวางแผนเอาไว้คือ ระดมพลจากเมืองที่เวียงจันทน์บังคับบัญชามาไว้ที่เวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์ เพื่อฝึกทหารให้พร้อมรบยิ่งขึ้น แล้วส่งขุนนางพร้อมทหารส่วนหนึ่งออกไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน ให้เข้าร่วมกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ส่วนการเข้าตีกรุงเทพฯ ถ้าตีได้ก็ตี ถ้าดูท่าทีกรุงเทพฯ มีการป้องกันที่เข้มแข็งก็ไม่ตี แต่จะกวาดต้อนประชากรตามหัวเมืองรายทางที่กองทัพลาวผ่านกลับเอามาไว้ที่เวียงจันทน์และจำปาศักดิ์

นอกจากนี้ เจ้าอนุวงศ์ยังได้ส่งทูตไปชักชวนเกลี้ยกล่อมให้ ญวน หลวงพระบาง หัวเมืองล้านนา มี น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยพระองค์ด้วย เพราะลำพังเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กำลังน้อยกว่าฝ่ายไทยมาก ทูตที่ส่งไปญวน ไปก่อนการระดมพลที่เวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ แต่แคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่งที่กล่าวข้างบนส่งไปหลังจากมีการระดมพล หมายความว่า เจ้าอนุวงศ์ทรงตัดสินพระทัยทำสงครามก่อนที่จะรู้ผลว่าอาณาจักรญวน แคว้น และหัวเมืองอีก 6 แห่ง จะเข้าร่วมสงครามกับพระองค์หรือไม่

อันนี้เป็นการตัดสินพระทัยที่รีบร้อนเกินไป เพราะปรากฏภายหลังจากสงครามดำเนินไปแล้วว่าอาณาจักรญวน กับแคว้นและหัวเมืองอีก 6 แห่ง มิได้เข้าช่วยในสงครามครั้งนี้ แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

แผนที่แสดงเมืองที่อยู่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์

สำหรับการสงครามกล่าวโดยย่อก็คือ กองทัพฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ตอนแรก (ช่วง 6 เดือนจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2369 – มีนาคม พ.ศ. 2369) (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) มีกำลังประมาณ 17,660-35,000 คน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2370 มีกำลังประมาณ 40,000-50,000 คน กองทัพลาวยกเข้ามา 2 สายหลัก คือ สายแรกยกจากเวียงจันทน์เข้ามาทาง 2 ทาง คือ หนองบัวลำภู กับสกลนคร จากหนองบัวลำภูตรงมายึดเมืองโคราช ส่วนทางสกลนคร ยกมาทางกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ตามลำดับ

สายที่สองยกมาจากจำปาศักดิ์เข้ามาทางอุบลราชธานีแล้วแยกเป็นสองทาง ทางหนึ่งยกไปทางสุวรรณภูมิ อีกทางยกไปทางศรีสะเกษ ขุขันธ สังขะ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ประโคนชัย นางรอง

การปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กับเมืองรายทางมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายกู้ชาติ แต่เจ้าเมืองกรมการเมืองส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกบฏ และเกรงจะต้องเผชิญกับการตีโต้ของฝ่ายไทย แต่เจ้าเมืองไม่มีกำลังจะต่อต้านกองกำลังของฝ่ายกู้ชาติจึงต้องทำเป็นเออออเห็นด้วยกับฝ่ายกู้ชาติ

กองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาดต้อนประชากรจากพื้นที่เขตโคราช-ลุ่มน้ำชีตอนต้น 11 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางถึงตอนปลาย 7 เมือง พื้นที่ตอนใต้ 9 เมือง พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 8 เมือง รวม 35 เมือง เมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดคือเมืองสระบุรี เมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของฝ่ายกรุงเทพฯ ในภาคอีสานและลาวคือ เมืองโคราช ก็ยึดอยู่ 37 วัน ก็ถูกกวาดต้อนประชากรราว 18,000 คน หากรวมประชากรทั้ง 35 เมืองที่ถูกกองทัพฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ กวาด ต้อนไปรวมประมาณ 54,320-95,216 คน

แผนที่ แสดง เมือง ที่ ประชากร ถูกฝ่าย เวียงจันทน์ กวาดต้อน ใน ศึกเจ้าอนุวงศ์
แผนที่แสดงเมืองที่ประชากรถูกฝ่ายเวียงจันทน์กวาดต้อน

การกบฏของเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ครั้งนี้ ประกาศการกู้ชาติ” ในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2369 ระดมพลและฝึกทหารราว 3 เดือน ระหว่างกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2369 (นับอย่างปัจจุบัน พ.ศ. 2370) แล้วจึงเคลื่อนกำลังมายึดเมืองโคราชในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 (2370) รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จึงทราบข่าวกบฏ หลังจากที่ฝ่ายกบฏได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 5 เดือน วันที่รัฐบาลทราบข่าวกบฏยกกำลังมาถึงเมืองสระบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 110 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทัพเพียง 3-4 วัน แสดงให้เห็นว่าการข่าวของไทยล้าหลังมาก

โชคดีของฝ่ายไทยที่กองทัพฝ่ายกบฏมิได้บุกกรุงเทพฯ แต่ตัดสินใจยกทัพกลับพร้อมกับเก็บทรัพย์จับเชลยกลับเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์

ลาวถอนทัพ ไทยโต้กลับ

กบฏครั้งนี้ใหญ่หลวงมากในสายตาของรัฐบาลไทย เห็นได้จากการออกคำสั่งเกณฑ์กำลังจากหัวเมืองทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ขึ้นไปจนถึงหลวงพระบาง แม้กระทั่งภาคใต้เกณฑ์ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช แต่อย่างไรก็ตาม กำลังหลักที่รัฐบาลไทยได้ใช้ในการรบจริง ๆ เป็นกำลังจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิชัย ตาก เชียงทองเดิน)

กองทัพไทยเดินทัพเข้าสู่ภาคอีสาน 5 ทาง คือ เข้าอีสานใต้ทางประโคนชัย บุรีรัมย์ ตีค่ายมูลเค็งที่พิมาย สุวรรณภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ จากจำปาศักดิ์ตีขึ้นไปตามแม่น้ำโขงผ่านเขมราฐ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร ทัพนี้มีบทบาทเด่นที่สุด แม่ทัพคือ พระยาราชสุภาวดี หรือ “เจ้าพระยาบดินทร์เดชา” ในเวลาต่อมา

ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางปากช่องโคราช มุ่งเข้าตีหนองบัวลำภู ทัพที่ 3 ผ่านสระบุรี ด่านขุนทด แล้วไปทางเดียวกับทัพที่ 2 ทัพที่ 4 ผ่านสระบุรี เข้าตีเพชรบูรณ์ หล่มสัก ทัพที่ 5 จากพิษณุโลก เข้าตีหล่มสัก แล้วแบ่งส่วนหนึ่งยกขึ้นไปทางด่านซ้าย เมืองเลย มีเป้าหมายที่เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งจากหล่มสัก เข้าตีเมืองหนองบัวลำภู

รูปปั้น เจ้าพระยาบดินทร์เดชา แม่ทัพฝ่ายไทย สงครามเจ้าอนุวงศ์
รูปปั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา แม่ทัพฝ่ายไทยคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ขนาดเท่าคนจริง หล่อด้วยโลหะ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2441

กองกำลังหลักของฝ่ายเวียงจันทน์-จำปาศักดิ์ มี 5 แห่ง ตั้งรับอยู่ที่ค่ายมูลเค็ง ยโสธร หล่มสัก หนองบัวลำภู และเวียงจันทน์ การรบที่ดุเดือดที่สุดคือการรบที่หนองบัวลำภู ซึ่งฝ่ายลาวต่อต้านอย่างเหนียวแน่นในการรบวันที่ 3-4 พฤษภาคม และ 10-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2370 ในที่สุดฝ่ายไทยก็ตีแตกทุกแห่ง เจ้าอนุวงศ์เมื่อทรงทราบว่าหนองบัวลำภูแตกก็เสด็จหนีไปเมืองญวน กองทัพยึดเมืองเวียงจันทน์ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2370

หลังจากรัฐบาลไทยทราบข่าวกบฏประมาณ 3 เดือน กับ 1 สัปดาห์ นับว่ากองทัพไทยมีประสิทธิภาพสูงทีเดียว แต่การกบฏมิได้ยุติเพียงนั้น เพราะภายหลังจากฝ่ายไทยเก็บทรัพย์จับเชลยกลับมาแล้ว เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยการเมืองอยู่ในเมืองญวน 1 ปี 78 วัน ก็เสด็จกลับเข้าเมืองเวียงจันทน์อีก พร้อมกับคณะทูตญวนซึ่งเดินทางเข้ามาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าอนุวงศ์

ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2371 หลังจากมาถึงเวียงจันทน์ได้ไม่ถึง 2 วัน ทหารลาวก็ฆ่าฟันทหารไทย 300 คน ที่รักษาการณ์ในเวียงจันทน์ตายเกือบหมด เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รวบรวมกำลังทหารแถวเมืองเสลภูมิ ยโสธรยกกลับมาตีโต้กองกำลังของฝ่ายลาวซึ่งนำโดยราชวงศ์ที่บ้านบกหวานใต้เมืองหนองคายลงมาเล็กน้อย สู้กันจนแม่ทัพทั้งสองบาดเจ็บ แต่ในสุดกองทัพลาวก็แตก ทัพไทยเข้ายึดเวียงจันทน์ได้เป็นครั้งที่สองในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2371

ส่วนเจ้าอนุวงศ์เสด็จหนีไปเมืองญวนเหมือนครั้งก่อน แต่ไปไม่รอด เจ้าน้อยเมืองพวนได้แจ้งที่ซ่อนของเจ้าอนุวงศ์ให้ฝ่ายไทยทราบ ฝ่ายไทยจึงจับเจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ส่งกรุงเทพฯ พร้อมทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียราบ เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ถูกขังประจานที่ท้องสนามหลวง 7-8 วัน ก็ป่วยเป็นโรคลงโลหิตพิราลัยเมื่อชันษาได้ 61 ปี ครองราชย์จาก พ.ศ. 2347-70 รวม 23 ปี เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเวียงจันทน์…

อ่านต่อ “ความปราชัยของ ‘เจ้าอนุวงศ์’ วิเคราะห์เหตุความพ่ายแพ้ของมหาราชชาติลาว” (คลิก)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “ทำไมเจ้าอนุวงศ์ จึงต้องปราชัย” เขียนโดยสุวิทย์ ธีรศาศวัต ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2566