จับพระสงฆ์ลาว สึก-บวชใหม่ เพียงเพราะออกเสียง สรณํ เป็น สะ ละ ณัง !?

พระสงฆ์ จิตรกรรมฝาผนัง หอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

เรื่องนี้เป็นพระราชปุจฉาและวิสัชนา ซึ่ง รัชกาลที่ 1 ทรงมีถวายไปถึงสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ โดยพระองค์ทรงมีเหตุสงสัยว่า ทำไมจึงให้ พระสงฆ์ ชาวลาว สึกแล้วบวชใหม่ ด้วยเหตุออกเสียงอักษรอ่านอักขระไม่ชัดอย่างนั้นหรือ?

โดยในปี พ.ศ. 2329 สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะได้ให้พระลาวสึกแล้วบวชใหม่ รัชกาลที่ 1 จึงรับสั่งให้หลวงวิเชียรปรีชา และหลวงเมธาธิบดี ไปถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่า

“…กิจบรรพชาเป็นสามเณรแลกิจอุปสมบทเป็นภิกษุนี้เป็นข้อใหญ่ อายุพระศาสนาย่อมมีในประเทศราชธานีต่าง ๆ คือเมืองเหนือ เมืองลาว เมืองมอญ เมืองพม่า ว่าอักขระตามประเทศภาษาผิดเพี้ยนกันกับสยาม เป็นต้นว่า พุทธังสระณัง พุทธังสละณัง อุปัชฌาอาจารย์แต่ก่อนในเมืองต่าง ๆ ก็บวชสงฆ์แลสามเณรสืบมา นับด้วยร้อยพันหมื่นแสนเป็นอันมาก ก็ถือว่าบาลีอักษรถูก มิได้วิปลาศเป็นบรรพชาอุปสมบทอยู่

แลพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมาชุมนุมพร้อมกันชำระพระศาสนาบวชภิกษุลาวครั้งนี้ ว่าอักขระ ระเป็นละ เป็นวิปลาศ มิเป็นบรรพชาอุปสมบทให้สึกเสียบวชใหม่นั้น มีพระพุทธบัญญัติตัดลงแท้ ว่าอักขระในประเทศภาษาอื่นผิดเพี้ยนมิต้องอักขระในสยามภาษา ไม่เป็นบรรพชาอุปสมบทหรือ มีพระพุทธบัญญัติไว้ว่า เหตุจะเป็นบรรพชาอุปสมบทได้นั้นมีกี่ประการ ที่จะเป็นบรรพชาอุปสมบทไม่ได้นั้นมีกี่ประการ ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงค้นหาพระบาลีตัดสินลงให้ขาด จะได้เป็นคติเยี่ยงอย่างสืบไปในพระศาสนา ขอให้พระคุณทั้งปวงวิสัชนามาให้แจ้ง…”

สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะปรึกษาหารือกัน แล้วถวายวิสัชนาเกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่ห้ามบรรพชาอุปสมบท แจกแจ้งเป็นข้อ ๆ ว่าบุคคลประเภทใดห้ามบวชบ้าง ส่วนประเด็นอ่านอักขระผิดเพี้ยนนั้น ถวายวิสัชนาไว้ว่า

“…แลซึ่งกุลบุตรในประเทศเมืองลาว เมืองมอญ เมืองเขมร จะบรรพชาอุปสมบท ตามภาษานอกกว่าภาษาไทยนั้น พระพุทธเจ้าอนุญาตให้สวดกรรมวาจาตามพระบาลีมคธภาษาอย่างเดียว อันท่านผู้เป็นนักปราชญ์ในประเทศต่าง ๆ แต่ก่อนรู้พระบาลีมคธภาษา แลอักษรมคธภาษาแน่ จะได้สวดให้ผิดอักขระนั้นหามิได้ บรรพชาอุปสมบทก็บริบูรณ์หาสงสัยมิได้

แลนานมากุลบุตรมิได้รู้บาลีแท้ ผู้บวชผู้สวดว่าให้ผิดอักขระอักษรไป บรรพชาอุปสมบทนั้นมิได้บริบูรณ์ จึงให้สึกเสียบวชใหม่ให้บริบูรณ์ อาตมาภาพทั้งปวงจะได้สงสัยติเตียนท่านผู้รู้แต่ก่อนนั้นหามิได้ สงสัยติเตียนกุลบุตรในทุกวันนี้ เห็นกุลบุตรรู้น้อยนักว่า อักขระอักษรเป็นทรุต กล่าวผิดดังพระบาลีว่า

ทุรุตฺตํ กโรติ เอตฺถปน อยํ วินิจฺฉโย โยหิ อญฺญสมิ อกฺขเร วตฺตพเพ อญฺญํ วทติ อยํ ทุรุตตํ กโรติ นามฺม ฯ

ผู้สวดกรรมวาจานั้น อักขระตัวอื่นสวดออกว่าอักขระตัวอื่นไป ผู้สวดนั้นชื่อว่าสวดผิดเป็นอนุสาวนวิบัติ ไม่เป็นอุปสมบทเลย อาตมาภาพทั้งปวงกลัวจะสวดผิดดังนี้ จึงให้สึกเสียบวชใหม่ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ขอถวายพระพรฯ…”

ครั้น รัชกาลที่ 1 ทราบดังนี้ จึงรับสั่งให้ถามสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะอีกว่า “…พระคุณเจ้าทั้งปวงถวายวิสัชนามาในกิจบรรพชาอุปสมบท โดยพุทธบัญญัติไว้ว่า บุคคล 11 จำพวก มีกะเทยเป็นต้น ห้ามบรรพชาอุปสมบท แลคน 2 จำพวกคือคนมีอายุยังไม่ครบ 20 ปี 1 ภิกษุต้องปาราชิก 1 สองจำพวกนี้ห้ามแต่อุปสมบท

มีกำหนดห้ามอุปสมบทขาดแต่ 13 จำพวก แลคน 32 จำพวกมีคนมือด้วนเป็นต้น แลคนผู้เดียวเป็นทั้ง ใบ้ บอด หนวก เป็นที่สุด ว่าบวชเข้าเป็นสามเณรภิกษุได้อยู่ แลคนอันบริบูรณ์ด้วยอาการ 32 ครบ ปากก็เจรจาได้ หูไม่หนวก จักษุก็เห็น แต่พูดภาษาไม่ชัด ว่าอักษรแต่วิปลาศผิดเพี้ยน เอา ระ เป็น ละ เอา ฉะ เป็น สะ จะดีกว่าคนเป็น ใบ้ บอด หนวก ทั้งสามประการ แลอันตรายิกธรรมอีกหรือ…”

กล่าวคือ รัชกาลที่ 1 ทรงชี้ว่า วิสัชนาที่ถวายมานั้นระบุว่า บุคคลที่ไม่ครบ 32 ประการ (เช่น ใบ้ บอด หนวก) นั้นให้บวชได้ แต่คนที่ครบ 32 ประการ เพียงแต่ออกเสียงอักษรไม่ชัด อ่านอักขระผิดเพี้ยน กลับบวชไม่ได้ ต้องสึกก่อนถึงจะให้บวชใหม่ นี่ย่อมเป็นปัญหา ดังนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้ราชบัณฑิตไปสืบค้นหาพระบาลีจนเจอในคัมภีร์เล่มหนึ่งก็ระบุไว้ว่า ห้ามไม่ให้คนใบ้บวช แล้วเหตุใดวิสัชนาที่ถวายมานั้นจึงบอกว่าให้คนใบ้ บอด หนวก บวชได้

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 1 ทรงชี้ว่า คนที่จะบวชแต่อ่านอักขระผิดเพี้ยนก็ไม่ได้จัดอยู่ในคน 13 จำพวก แล้วเหตุใดจึงบวชไม่ได้

“…ส่วนคนซึ่งว่าแต่อักขระวิปลาศ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาก็มิได้ถามกลับว่าบวชไม่ได้ ชั่วกว่าคนเป็นอันตรายิกธรรมใบ้บอดหนวกอีกหรือ แลอักขระซึ่งกุลบุตรว่าวิปลาศคือเอา ระ เป็น ละ เอา ฉะ เป็น สะ นั้น เป็นแต่วิปลาศอักษรในเศษวรรค มิได้วิปลาศในอักษร 25 ตัว อันจัดเป็นธนิตสิถิล อันต้องด้วยอักขระวิปลาศ 4 ที่ห้ามบรรพชาอุปสมบทนั้นหามิได้ แลซึ่งมีสูตรโททัศน์ว่า เอา ระ เป็น ละ เอา ยะ เป็น ชะ เอา วะ เป็น พะ มีอยู่ฉะนี้ จะจัดเข้าเป็นบรรพชาอุปสมบทหาได้ไม่หรือ สูตรนี้จะจำเพาะใช้ได้แต่ที่ไหน หรือว่าสูตรโททัศน์แลคัมภีร์จุลกันถีนี้ เอามิได้ก็ให้พระคุณทั้งปวงชำระเสีย…”

ต่อมา มีการถวายวิสัชนากลับคำเดิมว่า คนใบ้ บอด หนวก นั้นให้บวชไม่ได้ จากนั้นก็มีพระราชปุจฉาและวิสัชนาอีกหลายคำรบ จนท้ายที่สุด สมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ต่าง ๆ ถวายวิสัชนาถึงเรื่องนี้ว่า

“…ข้อซึ่งว่าสามเณรภิกษุลาว เขมร จีน ญวน ชาวเหนือประเทศต่าง ๆ บวชกันด้วยอักขระอักษรมิชัดตามภาษานั้นอาตมาภาพทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันแล้ว จึงถวายวิสัชนาตามวาระพระบาลีในพระวินัยว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณามีพระพุทธฎีกา โปรดอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยมคธภาษา ครั้นผู้ใดมาบวชในประเทศนี้แล้ว ก็ฝึกสอนให้ว่าอักขระให้ถูกมคธภาษาจึงบวชให้ ถ้าว่าไม่ถูกไม่บวชให้

อันพระสงฆ์ลาว เขมร บวชกันมาเป็นบรรพชาอุปสมบทสมมุติกันตามประเทศภาษา ซึ่งอาตมาภาพทั้งปวงจะพิพากษาว่าเป็นแล มิเป็นก็ดี จะเรียกชื่อเจ้ากูว่าเป็นอันใดก็ดี เหลือสติปัญญาพ้นวิสัยที่จะตัดสินได้ ถึงว่าไม่เป็นบรรพชาอุปสมบทก็ดี แลถือกันว่าเป็น สามเณรภิกษุนับวษาอยู่เท่าใด ๆ ก็ดี จะได้มีโทษในไถยสังวาสลักเพศหามิได้ เหตุเจตนาจะบวชแลมีผู้สมมุติให้ ไม่นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์เอาเอง ผู้นั้นสำคัญตัวว่าเป็นภิกษุอยู่หาเป็นโทษอาจิณกรรมไม่ ถ้าบวชใหม่บรรพชาอุปสมบทนั้นก็ขึ้นอยู่

เหตุฉะนี้อาตมาภาพทั้งปวงสงสัยในกิจบรรพชาอุปสมบทแลวัตรปฏิบัติฟั่นเฟือนต่าง ๆ แห่งพระสงฆ์ลาวให้สึกเสียบวชใหม่ จะได้เป็นสมานสังวาส กระทำสังฆกรรมด้วยกัน ให้บริสุทธิ์สืบไป ขอถวายพระพร ฯ…”

โดยสรุป คือ สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะยืนยันว่า หากออกเสียงอักษรอ่านอักขระไม่ชัดย่อมบวชไม่ได้ ส่วนเหตุที่ พระสงฆ์ เชื้อชาติอื่นอ่านอักขระผิดเพี้ยนแล้วให้บวชไม่ได้นั้น ก็ “เหลือสติปัญญาพ้นวิสัยที่จะตัดสินได้”

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ข้างต้นนี้จะเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ทำให้รัชกาลที่ 1 โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกในอีก 2 ปี ให้หลัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ล้อม เพ็งแก้ว. (ธันวาคม, 2530). “จดหมายเหตุฉบับเชลยศักดิ์ ครั้งรัชกาลที่ 1 ให้พระลาวสึกบวชใหม่ ด้วยเหตุออกเสียงอักษรไม่ชัด”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 9 : ฉบับที่ 2.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2564