
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมืองในยุโรป ที่ รัชกาลที่ 5 โปรดเสด็จฯ ไปเยือน ถึงกับทรงเห็นด้วยว่า “เปนเมืองสวรรค์”
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ พระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดเสด็จประพาสประเทศและสถานที่ต่าง ๆ ตามความพอพระราชหฤทัย โดยมีเมืองหนึ่งที่เสด็จพระราชดำเนินไปถึง 3 ครั้งเลยทีเดียว
เมืองนั้นคือ “กรุงปารีส” เมืองหลวงของฝรั่งเศส
การเสด็จประพาสฝรั่งเศสแต่ละครั้ง พระองค์จะโปรดการเสด็จทอดพระเนตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปารีสอย่างมาก ถึงกับทรงเล่าว่า “เรียกได้ว่าพ่อได้เห็นเมืองปารีสทั่วยิ่งกว่าไทยๆ ด้วยกันที่เคยมา…”
นอกจากจะเพื่อความสำราญพระราชหฤทัยเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทอดพระเนตรความเจริญรุ่งเรืองด้านวิทยาการ อันทำให้ปารีสเป็นนครที่ทั้งงดงามและทันสมัย มีภูมิอากาศเหมาะสม สาธารณูปโภคครบครัน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาท่องเที่ยว

สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผู้นิยามว่ากรุงปารีสยุคนั้นคือ “เมืองสวรรค์” ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นด้วย ดังทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า
“…เมืองปารีสเปนเมืองบริบูรณ์ด้วยอาหารแลด้วยความสนุก แลบริบูรณ์ด้วยเข้าของสารพัดที่จะต้องการอะไรได้ เพราะเหตุฉนั้นคนที่ไปมาเที่ยวเตร่ถึงเห็นเปนเมืองสวรรค์…”
ทั้งยังทรงชมสภาพอากาศที่นั่นว่ากำลังพอดี ไม่ร้อนไม่หนาว ดังว่า “อากาศแจ่มใสร้อนเย็นพอสบาย…ขึ้นรถปิดฝากระจกก็ไม่ร้อนใน กลางแดดแลเห็นสว่างแจ๋ก็ไม่ร้อนกลับสบาย
นั่งกลางแจ้งก็ไม่หนาว ที่ว่านี้เฉพาะในเดือนมิถุนายนที่พ่อมา ไม่กล้าพูดถึงเดือนอื่นซึ่งไม่เคยเห็น…มิน่าใครๆ เขาชอบกันนัก มันสบายจริงๆ การที่จะเที่ยวเตร่อย่างหนึ่งอย่างใดเที่ยวได้หมด”
ทั้งยังทรงเปรียบเทียบอากาศของฝรั่งเศสกับอังกฤษว่า “แต่อากาศดีรู้สึกได้ชัดว่าเปลี่ยนเปนอากาศเมืองฝรั่งเศสเบาแลโปร่ง ผิดกันกับในลอนดอนจริงๆ ที่นั่นมันรู้สึกหนักขุ่นชื้น…”
นอกจากอากาศกรุงปารีสจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว ยังชื่นชมความงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงปารีส ทรงบรรยายถึงผังเมืองและการตัดถนนว่า “…เมืองปารีสเปนเมืองที่นับว่างามที่หนึ่งในยุโรปจริงๆ ของเขา ถนนคงจะตัดเป็น ๘ แพร่ง ๖ แพร่ง ออกจากวงกลมฤๅวงเหลี่ยม… ถนนที่ทำเหมือนใยแมงมุมเหลือที่ผู้มาใหม่จะจำได้”

นอกจากนี้ ยังทรงบรรยายถึงบรรยากาศของกรุงปารีสในหลากหลายมิติ ตั้งแต่รถราสารพัดที่วิ่งบนถนน การเดินทางสัญจร การพักผ่อนบริเวณสวนและใต้ร่มไม้ของผู้คน หรือการนั่งรับประทานอาหารตามร้านริมถนนของชาวปารีเซียง และทรงชมเชยด้วยว่าอาหารฝรั่งเศสเป็นอาหารเลิศรส มีกรรมวิธีการปรุงที่ประณีต
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครคือบุคคลซึ่งรัชกาลที่ 5 “ฝันถึงร่ำไป” เมื่อเสด็จประพาสยุโรป
- ใครทูลแนะนำให้รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสยุโรป เยือนพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย?
- อาหารโปรด? และไม่โปรด? ของรัชกาลที่ 5 ระหว่างเสด็จประพาสยุโรป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2553). เรื่องส่วนพระองค์ใน “ไกลบ้าน”. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2568