ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 พ.ท.อันโตนิโอ เตเฮโร (Antonio Tejero) และสมาชิกกองกำลังรักษาความมั่นคงอีก 200 นายได้บุกไปยังอาคารรัฐสภาคอร์เตสของสเปน โดยได้ตัวจับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภากว่า 350 คนเป็นตัวประกัน เพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเรือนและจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นอีกครั้ง หลังผู้นำเผด็จการฟรังโก (Francisco Franco) ได้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5 ปี และประเทศกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
ฟรังโก ผู้ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1936-1939 ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1975 เขาวางแผนที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยฟรังโกได้วางตัวให้เจ้าชายฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos) จากราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ขึ้นเป็นประมุขของประเทศในฐานะกษัตริย์ หลังระบอบกษัตริย์ของสเปนขาดช่วงไปจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธารณรัฐในปี 1931
ภายหลังจากกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสขึ้นครองราชย์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1975 พระองค์ได้แต่งตั้งให้ อดอลโฟ ซัวเรซ (Adolfo Suárez) นักการเมืองสายปฏิรูปเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมผ่อนปรนความเข้มงวดในการปกครอง และเปิดโอกาสให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ตามกฎหมายอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วทำให้สถานะของกลุ่มอำนาจเก่าสั่นคลอน ทหารกลุ่มหนึ่งจึงพยายามทวงอำนาจคืน ซึ่ง พ.ท.เตเฮโร ผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ (1981) เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพยายามล้มล้างรัฐบาลพลเรือนในปี 1979 มาแล้ว (Operation Galaxia) และผลจากการในครั้งนั้นทำให้เขาถูกสั่งกักบริเวณเป็นเวลาหนึ่งปี
แม้จะพ้นโทษมาหมาดๆ แต่ พ.ท.เตเฮโร ยังไม่ละความพยายาม เขาและพวกได้บุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาและควบคุมตัวคณะรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎรที่กำลังประชุมการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการลาออกของนายกรัฐมนตรีซัวเรส
อย่างไรก็ดี การก่อการของเขาขาดการสนับสนุนจากวงกว้าง และกษัตริย์คาร์ลอสเองได้ออกมาประกาศต่อต้านความพยามก่อรัฐประหารด้วยพระองค์เอง
“สถาบันไม่อาจยอมรับการกระทำใดๆ อันเป็นการแทรกแซงรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการรับรองจากประชาชนชาวสเปนได้” กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ซึ่งปรากฏกายในเครื่องแบบทหารออกประกาศทางโทรทัศน์ พร้อมรับสั่งให้ทุกภาคส่วนทำทุกทางเพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้ได้ (The Guardian)
หลังการบุกยึดรัฐสภาผ่านไปได้ 22 ชั่วโมง กลุ่มผู้นำรัฐประหารได้ยอมมอบตัว และปล่อยตัวประกันเป็นอิสระ ทำให้สเปนหลุดพ้นวงจรอำนาจเผด็จการมาได้
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2012 เป็นเวลากว่า 30 ปี หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไป มีรายงาน (The Telegraph) อ้างถึงเอกสารทางการทูตที่ถูกลดชั้นความลับและถูกนำมาเปิดเผย แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกในใจของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น
“องค์กษัตริย์มิได้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกต่อต้านหรือแค้นเคืองพระทัยต่อผู้ก่อการ กลับกันพระองค์ได้แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจอย่างมาก หากจะไม่ถือว่าเป็นความเห็นอกเห็นใจ (ในการกระทำดังกล่าวของผู้ก่อการ)” โลธาร์ ลาห์น (Lothar Lahn) ทูตเยอรมนีตะวันตกระบุในบันทึกหลังได้สนทนากับกษัตริย์คาร์ลอสเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังการรัฐประหารที่ล้มเหลว
ทูตเยอรมันกล่าวว่า กษัตริย์คาร์ลอส “แทบจะออกตัวแทน” ผู้ก่อการที่ “เพียงต้องการเดินหน้าสู่เป้าหมายเดียวกันของทุกคนคือการจัดตั้งระบบระเบียบและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองขึ้นใหม่อีกครั้ง”
นอกจากนี้ กษัตริย์คาร์ลอสยังทรงกล่าวโทษรัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรีซัวเรสที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่า “ล้มเหลวในการสร้างสัมพันธ์กับกองทัพ และปฏิเสธที่จะรับฟังความปรารถนาดีซึ่งมีเหตุอันสมควร (ของกองทัพ) อย่างจริงจัง”
ทั้งนี้มีการอ้างกันมานานว่า กลุ่มผู้ก่อการได้พยายามทำรัฐประหารในครั้งนั้นก็เพื่อสนับสนุนการกระชับอำนาจของกษัตริย์คาร์ลอสเอง แต่การตัดสินใจอันเด็ดขาดของกษัตริย์คาร์ลอสและการต่อต้านจากประชาชนทำให้ความพยายามของเผด็จการฟาสซิสต์ล้มเหลว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Cemlyn-Jones, Bill. “King Orders Army to Crush Coup” . The Guardian, <https://www.theguardian.com/world/1981/feb/23/spain.fromthearchive> Accessed 23 Feb 2016.
Mclean, Renwick. “Spain Takes a Proud Look Back at Failed Coup”. The New York Times, <http://www.nytimes.com/2006/02/23/world/europe/spain-takes-a-proud-look-back-at-failed-coup.html> Accessed 23 Feb 2016.
Govan, Fiona. “Juan Carlos was ‘Sympathetic’ to 1981 Coup Leaders”. The Telegraph, <http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/spain/9072122/Juan-Carlos-was-sympathetic-to-1981-coup-leaders.html> Accessed 23 Feb 2016
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559