ทำไม รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินในสิงคโปร์ ?

ที่ดิน รัชกาลที่ 5 สิงคโปร์
หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ "รวมประชาชาติธุรกิจ" เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2524

เมื่อปี 2524 ได้มีข่าวออกมาว่า ไทยเตรียมขาย “ที่ดิน” สถานทูตไทยในสิงคโปร์ แลกเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งมีการซื้อไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร จึงได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสาเหตุของการซื้อที่ดินในต่างแดนของกษัตริย์ไทยครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 สืบเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 เอาไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ปีเดียวกัน

อาจารย์ล้อมได้เล่าถึงเหตุการณ์ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าเคยเกิดเหตุประหารเจ้านาย อย่างหม่อมไกรสร ที่ถูกกล่าวหาว่ามักใหญ่ใฝ่สูงหวังตั้งตนเป็นกษัตริย์ ทำให้สมัยนั้นไม่มีเจ้านายพระองค์ใดกล้าสะสมกำลัง อำนาจและอิทธิพลที่แท้จริงจึงไปตกกับขุนนางใหญ่ในสกุลบุนนาค

เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนของสองพี่น้องสกุลบุนนาค พระองค์จึงไม่อาจทรงจัดการประการใดที่จะเป็นการขัดประโยชน์ของขุนนางกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันพระปิ่นเกล้า พระเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์ได้ทรงสะสมกำลัง และอาวุธไว้เป็นอันมาก จนเป็นที่ระแวงกับวังหลวง ภายหลังพระปิ่นเกล้ามีโอกาสก็ได้ทรงอธิบายกับพระเชษฐาว่า พระองค์ทรงเตรียมการไว้ “เพื่อป้องกันผู้อื่นเท่านั้น” ซึ่ง อาจารย์ล้อมกล่าวว่า พระองค์ทรงหมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เมื่อสถานะสถาบันกษัตริย์ต้องขึ้นอยู่กับการค้ำจุนสนับสนุนของขุนนาง กษัตริย์จึงทรงต้องหาทางเพื่อรับมือกับสถานการณ์อันไม่แน่นอนในอนาคต ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึงกรมพระยาบำราบปรปักษ์เมื่อ 17 สิงหาคม 2419 มีความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อครั้งทูลกระหม่อมยังมีพระชนม์อยู่นั้น ท่านได้ทรงพระราชดำริการเรื่องที่จะสิ้นวาสนาไปนี้มากได้รับสั่งๆ สอนชี้แจงการกับหม่อมฉันอยู่เนืองๆ จึงได้ทรงซื้อที่ตึกเมืองสิงคโปร์เป็นบ้านๆ หนึ่ง เงิน ๒๐๐ ชั่งเศษ พระราชทานหม่อมฉันกับท่านใหญ่ให้เป็นเจ้าของ ถ้าสิ้นวาสนาแล้วให้ไปอยู่ในที่นั้น ถ้ายังมีวาสนาพอจะอยู่ในเมืองไทยได้ก็ให้เก็บค่าเช่ากินไป เพราะที่ซื้อดังนี้แล้วจะเป็นสิทธิกับเราไปถึง ๙๙๙ ปี เว้นแต่ซื้อขายเสียแล้วผู้ใดจะมาต๋งเอาเป็นของแผ่นดินเสียมิได้”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

และเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ยังทรงซื้อที่ดินในสิงคโปร์เพิ่มเติมอีก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันว่า

“ครั้งนี้ก็คิดว่าจะไปหาซื้อที่ที่นอกให้พอเป็นทุนลงอีก เพราะที่ที่ทูลกระหม่อมทรงซื้อไว้นั้นน้อยนัก เป็นแต่การทรงทดลอง รับสั่งไว้ว่า จะซื้ออีกที่ก็พอดีสวรรคตเสีย ครั้งนี้จะต้องซื้อเพิ่มเติมอีกไว้เป็นเสบียงของตัวหม่อมฉันและญาติพี่น้องต่อไปบ้าง ถ้าไม่คิดไว้เลยฉวยพลาดพลั้งลงพี่น้องลูกหลานนับร้อยจะไม่มีอะไรจะกิน เห็นจะยับเยินนัก การที่กราบทูลนี้เป็นความในพระทัยของทูลกระหม่อมและเป็นความในใจของหม่อมฉันแท้ซึ่งจะอิ่มเอิบว่าราชสมบัติเป็นของตัวมีถมไปไม่ได้เป็นแท้ ถ้าอับจนแล้วจะหาติดตัวทั้งยากไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งหลาย”

ความในพระราชหัตถเลขาจึงตอบคำถามได้ชัดเจนแล้วว่า เหตุใดทั้งรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จึงทรงตัดสินใจลงทุนซื้อ “ที่ดิน” ในต่างแดน และหนึ่งในที่ดินที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้ ซึ่งเดิมยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ก็ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาภายหลังจึงถูกยกฐานะให้เป็นสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2559