“ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5” ความไม่แน่นอนการสืบราชสมบัติ การเมืองใต้อำนาจ “สมเด็จช่วง”

ภาพประกอบข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์กรุงปารีส เมื่อเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์เสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ (เอกสารต้นฉบับของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 มีกิจกรรมสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นวิทยากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัชพล ไชยพร ดำเนินการเสวนา จัดเมื่อเวลา 13.30-16.30 ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี (ชมคลิปการเสวนาท้ายเรื่อง)

สำหรับข้อมูลเบื้องต้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงได้รับการศึกษาทั้งแบบสมัยใหม่และตามแบบโบราณ คือทรงเรียนวิชายุทธศาสตร์โบราณทั้งหลาย เช่น วิชาบังคับช้าง บังคับม้า ขณะเดียวกันก็ทรงเรียนวิชาภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนาเช่นกัน ขณะที่วิชาการเมืองการปกครองต่าง ๆ ก็มีรัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงสอนด้วยพระองค์เอง การณ์นี้จึงคล้ายว่า รัชกาลที่ 4 ทรง “วางแผน” ให้รัชกาลที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าอย่างนั้นหรือ แท้จริงแล้วอาจมิได้เป็นอย่างนั้น?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงฉายกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

อ. ธงทอง อธิบายว่า การสืบพระราชสมบัตินับแต่โบราณมาล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีความผันแปรและไม่แน่นอนซึ่งเห็นได้จากกรณีการถวายพระราชสมบัติให้รัชกาลก่อน

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ท่านมีความคิดชัดเจนมากเลย ว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่ใช่เรื่องของการสืบราชย์สมบัติหรือเรื่องของสวรรค์มอบให้เป็น แต่ว่าเป็นเพราะ… เจ้านายและขุนนางยอมให้เป็น… การเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ท่านมีประสบการณ์มาตั้งแต่รอบแรกที่ท่านไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้เป็นเพราะเจ้านายและขุนนางไม่ให้เป็น” อ. ธงทองกล่าว

และเนื่องด้วยบริบทแล้ว หากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “วังหน้า” และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 จะต้องได้ครองราชย์ก่อนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทำให้รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังนันทอุทยาน” ขึ้น มีพระราชดำริว่าเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว และหากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระองค์ พระราชโอรสพระราชธิดามิอาจประทับอยู่ในวังหลวงต่อไปได้ จึงมีพระราชดำริให้มาประทับที่พระราชวังนันทอุทยาน

แต่เหตุการณ์นั้นมิได้เป็นดังที่ตั่งพระทัยไว้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะพระชันษา ๙ พรรษา (ภาพจากหนังสือ “ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร)

แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จในการสืบราชสมบัติ แต่ อ. ชัชพล ชี้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมุ่งหวังที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ครองราชย์ต่อจากพระองค์ สะท้อนจากในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชยานคานหาม ซึ่งเป็นพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แทนที่จะประทับพระราชยานกงสำหรับเจ้านายชั้นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า

นอกจากนี้ ในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องตอนหนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า รัชกาลที่ 4 หมายมอบพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ความว่า

“เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงสั่งแล้วมีพระราชดำรัสให้หาเจ้านายทั้ง 4 พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้า ณ ที่รโหฐานตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วมีพระราชดำรัสว่าจะทรงปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฎิมากรว่า เจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน 4 พระองค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชย์สมบัติต่อไปจะไม่ทรงรังเกียจเลย เจ้านาย 3 พระองค์ ต่างกราบทูลถวายปฏิญาณว่ามิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป”

เจ้านาย 4 พระองค์นั้นคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ, พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ฉายเมื่อต้นรัชกาล ในฉลองพระองค์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ยุคแรก

กระทั่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงประชวรด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรียหลังจากเสด็จหว้ากอเพื่อทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาตามที่ได้ทรงคำนวณไว้อย่างแม่นยำ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ประชวรโรคเดียวกันด้วย ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 4 คงทราบพระทัยดีว่าจะทรงมีพระชนม์อยู่ได้อีกไม่นาน จึงทรงเรียกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาปรึกษาเกี่ยวกับกิจการในภายภาคหน้า ทรงมีพระราชดำรัสให้ถวายพระราชสมบัติแก่บุคคลที่เหมาะสมตามสมควร แต่มิได้กำชับโดยตรงว่าให้ถวายพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และเสด็จสวรรคต วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

และเมื่อนั้นก็ถึงการณ์แห่งความทุกข์ยากของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยุวกษัตริย์ในพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จมาถวายน้ำสรงพระบรมศพก็มิได้ถวายเพราะทรง “เป็นลม” เสียก่อนจนต้องกลับไปประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประชวรหนักจนเป็นที่กังวลว่าจะเสด็จสวรรคตอีกพระองค์หนึ่งหรือไม่ จนคุณหญิงพัน ภรรยาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถึงกับออกปากพูดว่า “นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ต่อมาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เรียกประชุมเจ้านายและขุนนางเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะครองราชย์สืบต่อ ผลคือในที่ประชุมเห็นควรเป็นเอกฉันท์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป จากนั้นได้ปรึกษาการเลือก “วังหน้า” ซึ่งได้ลงความเห็นว่าควรถวายบวรราชสมบัติแด่ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ 

แต่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพทรงไม่เห็นด้วยเพราะผู้ที่จะแต่งตั้ง “วังหน้า” ได้คือพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจ ถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้นอยากเป็นเองหรือ” พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพจึงตรัสตอบว่า “จะให้ยอมก็ต้องยอม” การประชุมจึงเป็นอันตกลงกัน และหลังจากนั้นก็เป็นที่เล่าลือกันว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพไม่เสด็จออกจากวังที่ประทับของพระองค์อีกเลยเนื่องจากการปะทะกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้

“รัชกาลที่ 4 และพระบรมราชินี” วาดจากพระบรมฉายาลักษณ์ ส่งไปถวายนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

อ. ธงทองได้ยกความจากพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร มาอธิบายถึงอำนาจของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า “…อันที่จริงน่าจะเชื่อได้ว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมิได้คิดมุ่งร้ายต่อต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระเยาว์อยู่ แต่เนื่องด้วยครองอำนาจการเมืองไว้ในเมืองเป็นเวลานาน จึงเป็นการยากที่จะยอมสูญเสียความเป็นใหญ่นั้นไปแม้แต่เพียงส่วนน้อย ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้นมีความเฉลียวฉลาดมาก…เป็นรัฐบุรุษที่มีเล่ห์เหลี่ยมสุขุมมาก…”

อ. ธงทองตั้งข้อสังเกตว่า การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศเป็นวังหน้านั้น เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะหากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตได้ไม่นานจากได้รับพระราชสมบัติ จะไม่มีผู้ที่เหมาะสมไปกว่านี้เพราะพระราชโอรสพระองค์อื่นในรัชกาลที่ 4 ยังทรงพระเยาว์มาก

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการนั้น พระองค์ทรงเล่าถึงความยากลำบากเมื่อต้นรัชกาล ตามความในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ความว่า

“ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มี โดยมากฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด

ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไปไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตายอันไม่มีผู้ใดสักคนเดียว ซึ่งจะเชื่อว่ารอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น 

และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส”

รูปหมู่เมื่อคราวที่ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย เมื่อพ.ศ.๒๔๑๔ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แต่พระองค์ก็สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ความยากลำบากเหล่านั้นมาได้ โดยสรุปได้ว่า ทรงเริ่มจากการรักษาพระองค์ให้หายประชวรเสียก่อน ทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยความจริงใจต่อเจ้าจอมทั้งหลายรวมถึงบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระเจ้าน้องนางเธอต่าง ทรงไม่คิดถึงเรื่องเก่าแต่ความหลังที่เคยมีปัญหา ทรงอ่อนน้อมต่อพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ทรงยกย่องพระบรมวงศานุวงศ์ให้มีวาสนาเสอมความดีที่ได้กระทำ หากกระทำผิดก็ต้องว่าตามความผิด ทรงดูแลข้าราชการทั้งหลายทั้งปวง และทรงไม่อาฆาตผู้ที่วางตนเป็นศัตรูต่อพระองค์

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา และในปีถัดมาเสด็จประพาสอินเดีย ซึ่งการเสด็จประพาสทั้งสองครั้งได้มอบแรงบันดาลพระทัยหลายประการจากธรรมเนียมและวิทยาการของชาวตะวันตก ซึ่งได้ทรงนำมาปรับใช้ในสยามหลายอย่าง เช่น เครื่องแต่งกาย (สีกากีและราชประแตน) กิจการรถไฟ การชลประทาน การรับประทานอาหารบนโต๊ะ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการเมืองและการปกครองที่ทรงพยายามปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน

รัชกาลที่ ๕ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่บนซาลูนหลวงในวันเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช สร้างขึ้นโดยความช่วยเหลือของวิศวกรชาวอังกฤษ อังกฤษเป็นพี่เลี้ยงในการวางเส้นทางรถไฟครั้งแรกในสยาม และเป็นผู้เสนอให้สยามตัดทางรถไฟนานาชาติสายแรกของเอเชีย เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปเมืองจีน ก่อนสยามจะมีรถไฟเป็นของตนเอง (ภาพจาก BLACK AND WHITE, 2 May 1896 หนังสือเก่าของสะสมคุณไกรฤกษ์ นานา)

กระทั่งเมื่อทรงผนวชและได้ลาสิกขาบท ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 พระองค์ก็มิได้มีฐานะเป็น “ยุวกษัตริย์” อีกต่อไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้เป็นเวลาอันสุกงอมที่จะทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว และจะทรงนำประเทศสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ในการต่อกรกับจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสยาม

ช่วงท้ายของการเสวนา คำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาถามว่าอำนาจของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์หลังรัชกาลที่ 5 ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เป็นอย่างไร อ. ธงทองตอบว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้พยายามผ่อนภาระของท่านลงไป แต่ไม่ได้ละทิ้งแต่ทีเดียว เพราะเมื่อมีเหตุวิกฤตการณ์วังหน้า รัชกาลที่ 5 ก็มีหนังสือส่งมาแจ้งข่าวและปรึกษากับท่านอยู่ ท่านผ่อนภาระโดยการมาพำนักที่จังหวัดราชบุรี เพราะหากอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คงหนีไม่พ้นผู้คนที่ไปมาหาสู่ท่านอย่างเสมอ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


คลิกชมการเสวนาช่วงที่ 1

คลิกชมการเสวนาช่วงที่ 2


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2562