ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระปิ่นเกล้าฯ “The Second King” ในสมัย รัชกาลที่ 4 ก่อนสวรรคต ทรงกราบทูลเรื่องใดแก่พระเชษฐาธิราช?
เป็นที่ทราบดีว่าในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสมือนเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งของสยาม และปฏิเสธไม่ได้ว่า การสถาปนา พระปิ่นเกล้าฯ เป็นเรื่องของ “การเมือง” เพื่อคานอำนาจกับกลุ่มขุนนางอย่างแน่นอน
ขุนนางกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในสมัยนั้นคือ “บุนนาค” ตระกูลขุนนางเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์มาทุกรัชกาล ได้ก้าวขึ้นสู่ “จุดสูงสุด” ของอำนาจในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ใน “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจมากยิ่งกว่าใคร ๆ ในแผ่นดิน เว้นแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว” นั่นจึงก่อให้เกิดแรงสั่นคลอนต่อพระราชบัลลังก์ว่า เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะไม่ซื่อตรงต่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ หากมีการผลัดแผ่นดิน พระปิ่นเกล้าฯ ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่หวั่นเกรงอำนาจของเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่ไม่น้อย
รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสเล่าให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า ในขณะที่พระปิ่นเกล้าฯ ประชวรหนักอยู่นั้น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปพระที่นั่งอิศเรศร์ราชานุสรที่วังหน้า เพื่อเยี่ยมอาการพระประชวร
เมื่อนั้นทรงมีพระราชดำรัสว่า “ใคร่จะกราบบังคมทูลความลับสักเรื่องหนึ่ง” แล้วทรงขับข้าราชบริพารออกไป เหลือแต่เพียงทั้งสองพระองค์ พระปิ่นเกล้าฯ และเจ้าจอมมารดากลีบ พระมเหสีผู้พยาบาลและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระปิ่นเกล้าฯ
จากนั้นทรงกราบบังคมทูลว่า จะทรงดำรงพระชนม์อยู่ไปได้อีกไม่กี่วัน จึงขอถวายปฏิญาณว่า การที่ได้สะสมกำลังทหารและอาวุธไว้มากนั้น มิได้คิดร้ายต่อรัชกาลที่ 4 เลยแม้แต่น้อย แต่เพราะไม่ไว้ใจ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพราะเกรงว่าหากรัชกาลที่ 4 สวรรคต เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะคิดกำเริบ จึงได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันพระองค์
และทรงกล่าวย้ำเตือนว่า หากพระองค์สวรรคตไปแล้ว “ขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระวังต่อไปให้จงดี…”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานปฏิญาณว่า มิเคยสงสัยระแวงพระปิ่นเกล้าฯ ว่าจะทรงคิดร้ายต่อพระองค์ อย่างไรก็ดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า พระองค์ (รัชกาลที่ 4) มิได้มีพระราชดำรัสตอบถึงเรื่องของเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แต่อย่างใด นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังเล่าให้ทราบอีกว่า ข้าราชการในราชสำนักบางกลุ่มก็ไม่ไว้ใจเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงกับคิดเข้าเป็นพรรคพวกกัน นัยว่าเพื่อป้องกันรัชกาลที่ 5
แม้เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเป็นที่หวั่นเกรงต่อหลายคนว่าจะเป็นภัยต่อพระราชบัลลังก์ แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเล็งเห็นว่า เจ้าพระยาผู้นี้เป็นคนเดียวที่สามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ หากพระองค์สวรรคตก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะมีพระชันษาสมบูรณ์พร้อมที่จะปกครองบ้านเมือง และได้ทรงปรึกษาเรื่องนี้กับเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตามตรง
เมื่อมีการผลัดแผ่นดินแล้ว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเคารพยำเกรงเจ้าพระยาผู้นี้เสมอ ทรงเล็งเห็นว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมือง จึงทรงสถาปนาบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” ดำรงตำแหน่ง “สมเด็จเจ้าพระยา” คนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้านาย-ภริยาขุนนาง ผู้ “แช่ง” รัชกาลที่ 4-5 กับวลี “นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”
- ย้อนดูการเลือก ร.5 เป็นกษัตริย์ แม้แต่พระราชโอรส ร.2 ยังต้องยอมอำนาจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ฤๅพระชะตาพระปิ่นเกล้าฯ แรงจน “พระจอมเกล้าฯ” ตรัสให้ถวายราชสมบัติด้วยกันสองพระองค์?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562