มนุษย์อยุธยากินหมูกระทะหรือไม่…ไม่รู้ ที่แน่ ๆ ไม่กินสัตว์ใหญ่ เพราะ…?

หมูกระทะ พรหมลิขิต สัตว์ใหญ่
ฉากกินหมูกระทะ ในละคร พรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Ch3Thailand)

“เนื้อสัตว์” ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ล้วนเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฯลฯ ถึงขั้นที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อย่าง “เวย์โปรตีน” เพื่อให้ร่างกายคนเราได้รับแหล่งพลังงานนี้อย่างเต็มเปี่ยม แต่ถ้าหากย้อนไปในสมัย อยุธยา เนื้อสัตว์กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร โดยเฉพาะ “เนื้อวัว” เนื่องจากคนในยุคนั้นมีความเชื่อเรื่องศาสนา

ข้อมูลนี้ปรากฏในหนังสือ “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX” (สำนักพิมพ์มติชน) โดย กำพล จำปาพันธ์ ซึ่งได้แชร์ข้อมูลสุดน่าสนใจในบันทึกของ “นิโกลาส์ แชรแวส” ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติที่อาศัยในอยุธยา 

แชรแวสได้อธิบายถึงวิถีการกินและความเชื่อของชาวอยุธยาไว้ว่า

“ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแต่น้ำเท่านั้นแล้วก็กินข้าวหุง, ผลไม้, ปลาแห้งบ้างเล็กน้อย แล้วยังกินไม่ค่อยจะอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งๆ ที่สามารถจะซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา ด้วยว่าในประเทศก็มีสัตว์ให้เนื้อมาก ล่าได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ที่ห้ามก็เฉพาะภายในบริเวณกำแพงเมืองกับในบริเวณวัดวาอารามเท่านั้น…

แม้ว่าเนื้อวัวในเมืองไทยจะมิใช่ชนิดเลว แต่ก็ไม่ค่อยนิยมบริโภคกัน เพราะเขาเชื่อกันมาเป็นประเพณีว่า ในชาติก่อนโน้นพระสมณโคดมได้เสวยพระชาติเป็นโคผู้หรือนางโค ถือว่าการบริโภคเนื้อวัวนั้นผิดพุทธบัญญัติและเป็นการละเมิดศาสนาถ้าไปแตะต้องเข้า

ความเชื่อนี้ยังกินวงกว้างไปถึงสัตว์สี่เท้าทุกชนิดว่าฆ่าไม่ได้ ด้วยอาจจะบังเอิญไปฆ่าถูกบิดามารดาหรือมิตรสหายของตน ซึ่งวิญญาณได้เข้าสิงอยู่ในสัตว์เหล่านั้นเข้าก็ได้ ปัจจุบันนี้ค่อยคลายความเชื่อในเรื่องกลับชาติมาเกิดกันขึ้นมากแล้ว แม้จะยังมีความเห็นเรื่องจริงหรือไม่จริงขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็หันมาเลือกเอาทางสะดวกสบายมากกว่า”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ “สัตว์ใหญ่” ในสมัยนั้นกลายมาเป็นแรงงานมากกว่าจะเป็นเสบียงอาหาร เพราะไม่ได้ราคา ทั้งในเมือง “อยุธยา” ยังไร้โรงฆ่าสัตว์ จนชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายหรือพักอาศัยต่างงุนงงกันไปเป็นแถบ ๆ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2566