วิถีสตรีอยุธยา เป็นเมียไพร่ ต้องทรหดอดทน ใช้แรงงาน-ถูกจับแต่งงานเลี่ยงโดนนำเข้าวัง

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

วิถี “สตรีอยุธยา” เป็น “เมียไพร่” ต้องทรหดอดทน ใช้แรงงาน ถูกจับแต่งงาน เลี่ยงโดนนำเข้าวัง

ในสังคมอยุธยา ผู้หญิงมีบทบาทดูแลบ้านช่องและพื้นที่การเพาะปลูกในชุมชน เมื่อยามที่ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรับใช้รัฐและบรรดาเจ้าขุนมูลนาย เมื่อต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือน ก็ต้องเป็นผู้หญิงที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ผู้หญิงที่เอวบางร่างน้อย อ้อนแอ้นอรชร พวกนางจึงนิยมไว้ผมสั้นมากกว่าผมยาว

“บ้าน” เป็นพื้นที่ของผู้หญิง ขณะที่ “เมือง” ถือเป็นพื้นที่ของผู้ชาย แต่พื้นที่บ้านมีความสลับซับซ้อนที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้ความเรียบง่าย เพราะ “บ้าน” มีอันตรายอันเกิดได้ทั้งจากโจรผู้ร้ายและคนภายในชุมชนละแวกย่านเดียวกัน ผู้หญิงที่อยู่ดูแลบ้านเรือนในระหว่างสามีไม่อยู่ จึงต้องรู้จักป้องกันตนเอง ดังนั้น ก็ไม่แปลกที่ผู้หญิงสมัยก่อนจะต้องได้เรียนวิชาการต่อสู้

สตรีอยุธยา อย่างน้อยก็ต้องจับดาบใช้เป็น เนื่องจาก “ชายฉกรรจ์” ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานอยู่ที่ตัวเมือง ผู้หญิงจึงต้องเป็นประเภท “มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง” คือ อยู่บ้านกับเด็กและคนชราคอยดูแลเรือกสวนไร่นา และป้องกันโจรผู้ร้ายไปในขณะเดียวกัน ดังนั้น ผู้หญิง เด็ก และคนชรา จึงถือเป็น “แรงงานหลัก” ในภาคการเกษตรของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยอยุธยา

แต่สภาพดังกล่าวข้างต้น คงต่างออกไปสำหรับผู้หญิงที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจระบบไพร่ โบราณจึงมีภาษิตว่า “ช้างงามอยู่ในป่า” (ผู้หญิงเปรียบกับช้าง? ช้างคือความงาม?) ก็เพราะเมื่อผู้หญิงที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจจะไม่ถูกควบคุมให้ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เหมือนอย่างผู้หญิงที่อยู่ในย่านเมืองหรือชานพระนคร และพวกนางยังอาจไม่ถูกจับแต่งงานเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนำตัวเข้าวังอีกด้วย

ยกเว้นแต่กษัตริย์จะเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นด้วยพระองค์เอง เช่น เรื่องของหญิงมอญบ้านอยู่ริมท่าน้ำ ที่วันหนึ่งพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จไปพบนางขณะกำลังอาบน้ำ จนเป็นที่ต้องพระทัย เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงวัง จึงให้ขุนวังกับพวกนำคานหามไปรับหญิงมอญผู้นั้นเข้าวัง และต่อมาจึงเรียกย่านบ้านที่ส่งคานไปรับนางว่า “บ้านคานหาม” (อยู่ที่ย่านอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

หรืออย่างเรื่องของนางอิน ผู้เป็นที่มาของชื่อย่าน “บางนางอิน” ภายหลังเพี้ยนเป็น “บางปะอิน” มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาพบนางอิน และต้องพระทัย จึงให้นางถวายการรับใช้ใกล้ชิดเป็นบาทบริจาริกา ต่อมาภายหลังได้มีการนำเอาเรื่องนางอินไปผูกกับเรื่องของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์ผู้มีเคหสถานบ้านเดิมอยู่ที่ย่านบางปะอิน ว่าทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถกับนางอิน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่า เพื่อถวายพระเกียรติให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมิใช่สามัญชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2563