“สมบัติ” ในไหฝังดินของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (ฟอลคอน) โบราณวัตถุอายุกว่า 300 ปี

สมบัติ ลพบุรี

“สมบัติ” ของ “เจ้าพระยาวิไชเยนทร์” (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ถูกฝังอยู่ที่ “ลพบุรี” นานหลายร้อยปี จนเมื่อมีคนมาขุดพบ และนำไปขายทอดตลาด แต่สมบัติบางส่วนตกมาถึงมือเจ้านายผู้ใหญ่ ประกอบด้วยของ 5 ชิ้น เรื่องการค้นพบสมบัตินี้เป็นที่ฮือฮาไปทั่วในสมัยรัชกาลที่ 7 โดย ฟ. ฮีแลร์ ได้บันทึกไว้ว่า

โบราณวัตถุคฤศตังครั้งพระนารายณ์

…ในจำนวนศาสนสมบัติที่หายไปคราวนี้นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาวลพบุรีผู้หนึ่งค้นพบได้มาห้าชิ้น แล้วได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งต่อมาได้ประทานไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา เพื่อทรงเก็บรักษาไว้เป็นหลักตำนานของประเทศในพิพิธภัณฑสถาน สำหรับพระนตรต่อไป…

ศาสนวัตถุที่ขุดพบได้ในเมืองลพบุรีนั้น มีอยู่ห้าชิ้นคือ

1. ถ้วยกาลิศ เงิน กาไหล่ ทอง สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝีมืออย่างประณีตบรรจง, ที่ฐานกับขา และตัวถ้วยเป็นลายดุน แสดงภาพพระคฤศตประวัติ ปางทรง ตั้ง ศีลมหาสนิท, ถอดได้ สามชิ้น

ถ้วยทองคำ สมบัติ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน
ถ้วยทองคำใช้ในพิธีรับศีลมหาสนิท

2. ภาชนะเงิน รูปสำเภาจีน สำหรับใส่กำยาน เครื่องสักการะ ใช้เมื่ออวยพร ศีลมหาสนิท, ฝีมืองานวิจิตร์บรรจง ดูยังเอี่ยมราวกับพึ่งแรกออกจากร้านช่างทองใหม่ๆ, ถอดได้ สองชิ้น

3-4. เชิงเทียน เงิน 1 คู่ ฝีมือปานกลาง สำหรับปักเทียน สองข้างตู้ศีลศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทำมิซซา, ถอดได้ ห้าชิ้น

เชิงเทียน ภาชนะ สำเภาจีน ใส่ กำยาน สมบัติ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน
เชิงเทียนและภาชนะรูปสำเภาจีนสำหรับใส่กำยาน

5. ฐานทองเหลือง ลายบัวกลีบ ฝีมือไทยครั้งพระนารายณ์ สำหรับรองไม้กางเขน แต่องค์กางเขนหลุดหายไปเสียแล้ว…

ผู้ที่นำของชุดนี้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย ระบุว่า “…ได้จากผู้นำมาขายให้ ผู้ขายบอกว่าคุ้ยได้ที่ข้างพระเจดีย์ในกำแพงวัดพระธาตุ หลังสถานีรถไปลพบุรี ของนี้อยู่ลึกประมาณ 1 ศอกเศษ โดยใช้อิฐก่อ ห้อมล้อมไว้ ไม่มีภาชนะอะไรใส่…”

ฐาน ประดับ กางเขน สมบัติ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน
ฐานสำหรับประดับกางเขน (ตัวกางเขนทำจำลองขึ้นใหม่)

ทว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงไม่เชื่อเรื่องนี้ ทรงให้เหตุผลว่า ของเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าทรัพย์สินธรรมดา และน่าจะเป็นของมีค่ามาก ทรงวินิจฉัยว่า น่าจะเป็น “สมบัติ” ของ “เจ้าพระยาวิไชเยนทร์” ที่ฝังเอาไว้เอง รวมกับเครื่องเงิน เครื่องทอง และทรัพย์สินอื่นๆ แต่คงเหลืออยู่เพียงของชุดนี้เท่านั้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสงสัยคำให้การนั้น จึงเสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรี ทรงไต่สวนด้วยพระองค์เอง ได้ความว่า ผู้ขุดพบของโบราณรายนี้ซ่อนตัวไม่ให้รู้ว่าใคร แต่งตัวอย่างคนจรคนหนึ่ง เอาของชุดนี้ไปขายต่อ และบอกเล่าเรื่องการขุดพบอย่างคำให้การข้างต้น

บ้าน ของ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ฟอลคอน ที่ ลพบุรี
บ้านของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (ฟอลคอน) ที่ ลพบุรี

ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า

1. สิ่งของเครื่องบูชาในคฤศตศาสนาเหล่านี้ เดิมคงอยู่ในวิหารคฤศตังที่เมืองลพบุรี คือวิหารที่บ้านวิชเยนทร หรือมิฉะนั้นก็วิหารที่วัดสันเปาโล แต่ที่วัดสันเปาโล ยังไม่ได้จัดการตรวจรักษา จัดอยู่แต่ที่บ้านวิชเยนทร ของเหล่านี้คงเป็นของที่บ้านวิชเยนทร

2. คงเอาลงฝังซ่อนเมื่อวิชเยนทร แลฝรั่งเศส ถูกพระเพทราชาจับ ต้องฝังไว้ ณะ ที่ลับ เพราะฉะนั้นที่จะขนเอาไปฝังไว้ในวัดมหาธาตุ อันเป็นวัดพระพุทธศาสนา อยู่ริมพระราชวัง แลมีผู้คนอยู่รักษานั้นหาได้ไม่ คงฝังอยู่ไม่ห่างไกลกับบ้านวิชเยนทรนัก

3. สิ่งของเหล่านี้ฝังไว้ช้านานเกือบ 300 ปี แต่ยังดีไม่ชำรุด ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าต้องเอาใส่ตุ่มดินเผาปิดฝาฝังไว้ ถ้าใช้แต่อิฐก่อล้อมคงถูกไอดินเปนสนิมผุ มิมากก็น้อย แลน่าจะสันนิษฐานต่อไปว่า คงเอาเครื่องเงิน ทอง ของสิ่งอื่นอันมีค่าฝังไว้ด้วยกันในตุ่มนั้น

4. ผู้ที่ขุดพบนั้น เห็นจะเปนพวกกรรมกรที่ทำการของรัฐบาล หรือมิฉะนั้นก็พวกที่ลักขุด ซึ่งถูกศาลตัดสินลงโทษเมื่อ 2 ปีมาแล้ว ได้ของเหล่านี้แล้วปิดบังลอบเอาไปขาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. (เมษายน, 2556). “สมบัติที่อยู่ในไหฝังดิน ใต้บ้านเจ้าพระยาวิไชเยนทร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2563