เผยแพร่ |
---|
สมัยโบราณ การแต่งกายไปงานศพแบ่งเป็นหลายแบบ ตามอายุและความเกี่ยวข้องกับผู้ตาย โดยกำหนดจากการใช้สีเสื้อผ้าต่างกัน 3 สี คือ สีดำ สีขาว และสีม่วงแก่หรือสีน้ำเงินแก่ดังนี้
สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย เช่น ลูกหลานญาติสนิทหรือผู้อยู่ในอุปการะและสำหรับพระราชพิธีพระบรมศพ
สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่อายุแก่กว่าผู้ตาย
นุ่งสีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่สวมเสื้อขาว สำหรับผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้ตาย
นุ่งดำสวมเสื้อขาว สำหรับมิตรสหายที่สนิทกับผู้ตาย
การแต่งกายสีต่างกันในงานศพสมัยโบราณทำให้ผู้พบเห็นสามารถรู้ทันทีว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ตายอย่างไร เพียงไร และทำให้ผู้ที่จะไปงานนั้นๆ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง และเทือกเถาเหล่ากอหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสกุลของตน เพื่อที่จะได้แต่งสีให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เรื่องสีของการแต่งกายนี้ มีเรื่องที่ถือเป็นกรณีพิเศษอยู่บ้าง เช่น การฉลองพระองค์ขาวของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อสด็จในงานพระศพของพระราชธิดาบางพระองค์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงฉลองพระองค์พระภูษาลายพื้นขาว ในการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนศรีสุนทรเทพ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พระภูษาขาว ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พระภูษาขาว ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี
(ข้อมูลจาก หนังสือ สี่แผ่นดิน กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ของ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 4. 2554)