“หนังสือแจกงานศพ” เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยเมื่อไหร่?

หนังสือแจกงานศพ พระประวัติ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
หนังสือแจกงานศพ จัดพิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงเอนกนัยวาที (ม.ร.ว. นารถ ชุมสาย)

ปัจจุบันเมื่อไปร่วมงานศพ ผู้เข้าร่วมงานก็มักได้รับของชำร่วยเป็นที่ระลึก หนึ่งในนั้นคือ “หนังสือแจกงานศพ” ที่เนื้อหาส่วนแรกของหนังสือว่าด้วยประวัติของผู้วายชนม์ และส่วนถัดไปเป็นเนื้อหาต่างๆ ตามประสงค์ของครอบครัวและญาติผู้ล่วงลับ แล้วหนังสือแจกงานศพเกิดขึ้นครั้งแรกในไทยเมื่อไหร่?

ผศ. ดร. พรชัย นาคสีทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เล่าถึงกำเนิด “หนังสือแจกงานศพ” ไว้ในหนังสือ “ชาติเมื่อวายชนม์ อุดมการณ์รัฐไทยในอนุสรณ์ฯ ผู้ดับสูญ” (สำนักพิมพ์มติชน) ไว้ว่า

Advertisement

หนังสือแจกงานศพในสังคมไทย เกิดขึ้นพร้อมๆ การเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2412

อ. พรชัย บอกในหนังสือว่า คราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ถวายเป็นพระราชกุศล แต่พระราชดำริไม่บรรลุผล จึงจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “สามก๊ก” และ “พระอะไภยมะณี” โดยโรงพิมพ์ครูสมิทแทน

หนังสือแจกงานศพที่พิมพ์สำเร็จตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 5 เป็นเล่มแรก คือ หนังสือรวมบทสวดมนต์ ที่พิมพ์ในงานพระเมรุ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อ พ.ศ. 2423

หนังสือแจกงานศพยุคแรกมีเนื้อหาหลากหลาย โดยไม่มีประวัติผู้ตาย ดังที่ อ. พรชัย บอกว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ที่อยู่ในหนังสือจะเป็นประเภทวรรณคดีโบราณ ตำนาน พงศาวดาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงหลักธรรมต่างๆ ที่ได้ต้นฉบับจากคณะกรรมการหอพุทธศาสนสังคหะ (วัดเบญจมบพิตร) และหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (ปัจจุบัน คือ หอสมุดแห่งชาติ)

“หนังสือแจกงานศพในสังคมไทยระยะแรกถือเป็นของ ‘ที่ระลึก’ หรือ ‘ชำร่วย’ ซึ่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะหมู่ชนชั้นนำและคหบดีเป็นหลัก ซึ่งนอกจากเรื่อง ‘ทุนทรัพย์’ ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดพิมพ์ที่สูงแล้วยังเป็นเรื่องกรอบความคิดเกี่ยวกับ ‘บุญ-วาสนาและบารมี’ ด้วย เพราะฉะนั้น การจัดพิมพ์หนังสือแจกงานศพจึงไม่ใช่เรื่องของบุคคลธรรมดาสามัญชน” อ. พรชัย ตั้งข้อสังเกต

การพิมพ์หนังสือแจกงานศพในคราวเดียวมากที่สุด ตามข้อมูลของ เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2563 เกิดขึ้นในงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งหมด 12 เล่ม ได้แก่

หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง, ปิยะราชะคุณานุศร, ต้นบัญญัติ, ตำราแพทย์แสดงด้วยกาฬโรค, ปัญจนิบาตชาดก, ทุกกนิบาตชาดกสามวรรคภาคต้น, พระธรรมเทศนา แลธรรมบรรยายศราทธพรต, ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, มูลศึกษา, ลลิตวิส์ตร มหายาน, พระธรรมเทศนา แลธรรมบรรยาย และ ตำรารจนาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระวชิรญาณวโรรส

ส่วน “หนังสือแจกงานศพ” ที่มีเนื้อหากล่าวถึงประวัติผู้ตายล้วนๆ เล่มแรก คือ ศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเป็นประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 พิมพ์แจกในงานศพ ที่วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2438) จำนวน 3,000 เล่ม ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

นับจากนั้นก็เริ่มมีประวัติผู้ล่วงลับตีพิมพ์ในหนังสือแจกงานศพมากขึ้น กระทั่งเป็นเรื่องสามัญในปัจจุบัน

หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือเรื่อง “สามก๊ก” และ “พระอะไภยมะณี” โดยโรงพิมพ์ครูสมิท ไม่ใช่หนังสือแจกงานศพเล่มแรกของไทย เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พรชัย นาคสีทอง. ชาติเมื่อวายชนม์ อุดมการณ์รัฐไทยในอนุสรณ์ฯ ผู้ดับสูญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2567