ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

“สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยเรือพระประเทียบล่มขณะกำลังเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ถือเป็นกรณีสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างไปจากทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากพระโรคใดพระโรคหนึ่ง แต่สมเด็จพระนางเรือล่มสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำจากที่เรือพระประเทียบล่ม

เหตุเศร้าสลด “สมเด็จพระนางเรือล่ม” 

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ ต่อมาพระองค์ได้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 (ไม่ทราบปีที่แน่นอน แต่ต้องก่อน พ.ศ. 2421) และได้ประสูติพระราชธิดาองค์แรกคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421

ขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นที่โปรดปรานเสน่หาในพระราชสวามีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความชื่นชมโสมนัสของรัชกาลที่ 5 ได้สิ้นสุดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดคิดกับเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ อีก 2 ปีต่อมา

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา

ก่อนการเสด็จพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

“พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะทรงพระราชดำเนินข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลาดพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ได้ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นในพระทัยอยู่เหมือนกันว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็ได้ตามเสด็จไปตามพระราชประสงค์”

การเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากกรุงเทพมหานครไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 บรรณาธิการหนังสือ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ที่เขียนโดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ว่า

“เส้นทางเสด็จจะเสด็จทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางปะอิน โดยการเสด็จครั้งนี้ได้มีการจัดขบวนเรือเสด็จ โดยจัดเรือเก๋งที่ประทับพระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระพี่เลี้ยงที่ตามเสด็จครอบครัวละหนึ่งลำ โดยใช้เรือกลไฟลากจูงนำหน้า ซึ่งขบวนเสด็จนั้นก็จะเสด็จไปพร้อม ๆ กัน แบบเรียงหน้ากระดาน เริ่มด้วยเรือกลไฟราชสีห์ ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เรือโสรวาลลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เรือปานมารุตลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เรือยอร์ชอยู่ติดชายฝั่ง ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และถัดมาเป็นเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ตามลำดับ

ขบวนเรือพระประเทียบทั้งหมดออกจากท่าราชวรดิษฐ์มุ่งหน้าสู่พระราชวังบางปะอิน แต่ขณะนั้นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จตามไปในทันที เพราะยังติดพระราชกรณียกิจอยู่ในพระบรมหาราชวัง ก่อนจะลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดีตามเสด็จไป”

เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาด จวนจะเข้าเกร็ดพบเรือราชสีห์ จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด เนื่องจากเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ชนกับเรือโสรวาร พระองค์จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปที่บางพูด

เมื่อพระองค์เสด็จไปถึง พระยามหามนตรีทูลว่า

เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้าใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวาลซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน  เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรงแล่นกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวาล 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ ก็เบนหัวออก ศีรษะเรือไปโดนเรือโสรวาล น้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงนี้เกิดจากความประมาทในการเดินเรือเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กระนั้นยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล กฎมณเฑียรบาลข้อนี้ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือ จนทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระราชธิดาในที่สุด

อนุสรณ์ถึงการพลักพราก 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญ เหตุการณ์ครั้งนั้นกลับไม่ได้ผ่านพ้นไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ตามมายังคงเป็นอนุสรณ์ถึงการพลัดพราก รวมทั้งยังถูกสร้างสีสันผสมผสานกับศรัทธาของราษฎรสมัยหลัง

ความผูกพันที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดา นอกจากปรากฏผ่านการเตรียมงานพระศพอย่างสมพระเกียรติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งของถวายเป็นพระราชกุศลอย่างการหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลายแห่งที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนสุนันทาลัย อนุสาวรีย์ที่สวนสราญรมย์ อนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน อนุสาวรีย์ที่น้ำตกพลิ้ว จันทบุรี พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

พระเจดีย์ที่บางพูด นนทบุรี

สถานที่เกิดเหตุนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในหมู่ราษฎร โดยเฉพาะ วัดกู้ นนทบุรี ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นสถานที่กู้เรือพระศพและเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางวัดได้จัดแสดงเรือโบราณลำหนึ่งในศาลเป็นหลักฐาน (ปัจจุบันศาลหลังนี้ได้ถูกรื้อและบูรณะเป็นศาลหลังใหม่เรียบร้อยแล้ว) ขณะเดียวกันผู้รู้ในท้องถิ่น คือ พิศาล บุญผูก ได้ให้ข้อมูลว่า

“แท้จริงแล้วสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงระฆังภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสี่ทิศ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยงแก้ว”

คำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สืบต่อมา และบันทึกพระราชกิจรายวันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังระบุว่า เรือพระที่นั่งล่มลงบริเวณหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง มีการอัญเชิญพระบรมศพและพลิกเรือให้หงายขึ้นในบริเวณนั้น รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์เป็นพระราชอนุเสาวรีย์ขึ้นยังตำแหน่งที่เกิดเหตุ มิได้กู้เรือขึ้นไว้บนฝั่งแต่อย่างใด เพราะทำเลวัดอยู่ห่างชายฝั่งมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

แต่จากเอกสาร ข้อเขียน และป้ายแสดงพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ปรากฏอยู่ในวัดกู้หลายแห่ง ทำให้มีแนวโน้มว่า มีการกู้ซากเรือขึ้นไว้บนบก รวมทั้งอัญเชิญพระศพขึ้นที่หน้าวัดกู้ แต่หากพิจารณาจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแล้วจะพบว่า เรือพระประเทียบแค่เกยทรายจมลง สามารถกู้และนำกลับพระนครที่แห่งนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องปล่อยให้เรือพระประเทียบล่องไปทางวัดกู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

เรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจแก่ราษฎร โดยเฉพาะเรื่องความรักและการพลัดพราก ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังใหม่ของวัดกู้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระองค์ ผู้คนที่มาสักการะยังศาลแห่งนี้มักมาด้วยความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถดลบันดาลให้สมความปรารถนาตามแต่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ได้มีเรื่องน่าพิศวงจากอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย เช่น ผู้ที่มาศาลส่วนใหญ่มักเล่าว่าตนเองฝันเห็นสตรีสูงศักดิ์ หรือ เด็กทารก และเมื่อมาศาลแล้วก็จะมีอาการเศร้าโศกเสียใจ เรื่องนี้ได้สร้างความประทับใจและความศรัทธามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการถวายของบูชาต่างๆ ณ อนุสาวรีย์ที่สวนสุนันทา โดยมักจะมีผู้นำดอกกุหลาบสีชมพูไปถวาย เพราะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก การบูชาลักษณะดังกล่าวแสดงถึงความใกล้ชิดที่ราษฎรมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากขึ้น

เรื่องราวของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” ผู้ล่วงลับ มิได้ล่วงเลยตามกาลเวลา แต่ยังคงถูกบอกเล่าและปฏิบัติสักการะด้วยความเคารพบูชาตามแบบของแต่ละบุคคลจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

องค์ บรรจุน. (2552 ,พฤศจิกายน). วัดเกาะพญาเจ่ง (วัดเกาะบางพูด) และความจริงบางอย่างที่ยังไม่ได้พูด. ศิลปวัฒนธรรม. 31(1) : 102-106.

นนทรพร อยู่มั่งมี. ( 2552 ,พฤศจิกายน). วิปโยคกลางสายน้ำกับเรื่องเล่า “เสด็จแม่สุนันทา”. ศิลปวัฒนธรรม 31(1) : 95-99.

รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช. (2557 ,พฤศจิกายน). ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคตของสมเด็จพระนางเรือล่ม : อุบัติเหตุหรือลอบปลงพระชนม์. ศิลปวัฒนธรรม. 36 (1) : 80-82.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2562