
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ธรรมเนียม ในพระราชสำนักเป็นสิ่งที่ชาววังยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะอาณาบริเวณพระบรมมหาราชวังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ประทับของกษัตริย์ ชาววังจึงต้องประพฤติตนมิให้เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศของกษัตริย์ และต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยขั้นสูงสุด เช่น การเข้า-ออกวัง โดยเฉพาะเขตพระราชฐานชั้นใน ที่มีข้อปฏิบัติเข้มงวด เป็นที่มาของ “ธรรมเนียมแจ้งเข้า-ออกวัง”
ธรรมเนียมแจ้งเข้า-ออกวัง มีหลักปฏิบัติ คือ หากพระมเหสีพระองค์ใดหรือเจ้าจอมท่านใดมีธุระนอกวัง จะต้องแจ้งเหตุจำเป็นเพื่อขออนุญาตจากอธิบดีฝ่ายในก่อน โดยอธิบดีฝ่ายในจะพิจารณาว่าเห็นควรให้ออกไปได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยประกอบการพิจารณามีทั้งความประพฤติ เรื่องส่วนตัว อายุ หรือตำแหน่ง
หากได้รับอนุญาตก็จะต้องแจ้งแก่ ท้าววรจันทร บรมธรรมิก ภักดีนารีวรคณานุรักษา (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) ซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชาราชการในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทำการนัดหมายยานพาหนะหรือขบวนนำเสด็จตามฐานันดรศักดิ์ของแต่ละองค์
ส่วนบุรุษที่ต้องการเข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้านายฝ่ายใน ก็ต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด โดยมี “ตำรวจวังสังกัดกรมโขลน” ติดตามบุรุษที่เข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นในแบบไม่ให้คลาดสายตา ตั้งแต่ก้าวเข้าประตู ทำธุระ จวบจนออกจากประตู เพื่อเป็นพยานและตรวจตราว่าแขกเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิดในเขตที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว
หากบุรุษใดมีกิจธุระสำคัญในพื้นที่พระราชฐานชั้นในและต้องค้างคืน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยและรักษาพระอาการประชวรของเจ้านาย จะต้องขออนุญาตและชี้แจงเหตุผลโดยละเอียด ต้องนอนโดยไม่กางมุ้ง และต้องนอนพักในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตพระราชฐานชั้นใน ภายในพระบรมมหาราชวัง และป้องกันข้อครหาใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ดูวิธีชาววังทำความสะอาด ‘เครื่องนุ่งห่ม’ สมัยไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยไว้ซักรีดเสื้อผ้า
- เด็กชาววังเล่นอะไรกัน? กับวีรกรรมเจ้านายเล็กๆ เล่นกันเสียงดังไม่กลัวร.5 ตื่นบรรทม
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. เรื่องเล่าชีวิตสาวชาววัง หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566