ดูวิธีชาววังทำความสะอาด ‘เครื่องนุ่งห่ม’ สมัยไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยไว้ซักรีดเสื้อผ้า

การแต่งกายเจ้านายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือ "ราชพัสตราภรณ์" จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๔๗)

เสื้อผ้าชาววัง เป็นสิ่งที่ชาววังให้ความสำคัญ แม้ในสมัยโบราณจะยังไม่มีเครื่องมือทันสมัยอำนวยความสะดวกในการซักรีดเสื้อผ้า อีกทั้งผ้าที่เกิดจากกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างพิถีพิถัน เช่น มีการสอดเส้นโลหะประเภทเงินหรือทองผสมลงไปขณะถักทอ เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าเยียรบับ ผ้าอัตลัด บางครั้งก็ยังมีการปักเครื่องอัญมณีมีค่าต่างๆ ลงบนเนื้อผ้า ทำให้การทำความสะอาดยิ่งยุ่งยากขึ้นอีก แต่กรรมวิธีของชาววังก็สามารถทำให้ผ้าชนิดต่างๆ นั้นมีพร้อมทั้งความสะอาดเรียบร้อย สวยงาม และหอมกรุ่น

กรรมวิธีการทำความสะอาด เสื้อผ้าชาววัง ก็ต้องเริ่มแยกระหว่างผ้านุ่งและผ้าห่ม ผ้านุ่งทั้งผ้าพื้นและผ้าลายทำความสะอาดโดยกรรมวิธีต้ม วิธีต้มผ้าของชาววังเริ่มตั้งแต่ต้มน้ำด้วยภาชนะใหญ่เล็กตามปริมาณของผ้า

Advertisement

เมื่อน้ำเดือดจึงใส่ต้นชะลูดหอม ต้นชะลูดเป็นต้นไม้เนื้อหอม มีดอกเป็นช่อเล็กๆ สีขาว นำส่วนต้นมาหั่นเป็นฝอยเล็กๆ ตากแห้ง เวลาใช้จึงนำมาใส่ในน้ำต้มเดือด เพื่อให้กลิ่นหอมจากน้ำที่ต้มซึมซาบเข้าไปถึงเนื้อในผ้า แล้วจึงใส่ลูกซัด ลักษณะเป็นเมล็ดเล็กๆ สีน้ำตาล ขนาดเท่าเมล็ดองุ่น ประมาณ 1 กำมือ ลูกซัดนี้เมื่อถูกน้ำร้อนจะคลายยางออกมาเป็นเมือกลื่นเหนียวๆ เหมือนแป้ง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อีกด้วย

ลูกซัดนี้จะทำให้ผ้าแข็งตัวเหมือนลงแป้ง เวลาตากแห้งแล้วนำไปรีดผ้าจะเป็นเงามันและอยู่ตัว ต่อจากนั้นจึงนำผ้าที่ต้องการต้มใส่ไปทีละผืน แล้วใช้ไม้เขี่ยกลับไปกลับมาให้คลายสิ่งสกปรกออกแล้วจึงนำขึ้น และใส่ผืนใหม่ลงไปทำเช่นเดียวกันจนหมดผ้า แล้วจึงนำไปตากให้แห้ง

ส่วนผ้าแถบหรือผ้าสไบ โดยมากเป็นผ้าที่เบาบาง ทำด้วยแพรไหม เช่น ผ้าวิลาศ ผ้าสาลู มักไม่ใคร่สกปรกจึงไม่จำเป็นที่จะต้องซักหรือทำความสะอาดบ่อยนัก แต่วิสัยของสตรีชาววังนั้นจะต้องทำความสะอาดและอบร่ำให้มีกลิ่นหอมอยู่เสมอ การซักผ้าชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องต้ม เพียงแต่ซักน้ำให้สะอาดตากให้แห้งแล้วจึงนำมาจีบ วิธีจีบก็มีต่างๆ กัน บางคนใช้จีบด้วยมือ ช่วยกัน 2 คนจีบคนละข้าง

วิธีนี้ผู้ทำจะต้องมีความชำนาญสูง เมื่อจีบแล้วจึงนำของหนักๆ มาทับไว้ให้เรียบและอยู่ตัว หรือบางคนใช้วิธีมัดหัวท้ายและกลางเพื่อให้จีบอยู่ตัว มีบางคนที่มีความสามารถจีบคนเดียวโดยใช้หัวแม่เท้ากับนิ้วถัดไปคีบไว้ แล้วจับจีบทีละข้าง วิธีเช่นนี้มักถูกตำหนิว่าเป็นวิธีของไพร่ ชาววังจึงไม่ใคร่จะนิยมทำกัน

อีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีของผู้มีฐานะ คือใช้เครื่องอัดกลีบผ้า ลักษณะเป็นไม้ 2 แผ่นตั้งขนานกันบนไม้อีกแผ่นหนึ่ง ทำให้เกิดร่องระหว่างไม้ทั้ง 2 แผ่น เวลาใช้จีบผ้าสไบใส่ลงไประหว่างร่องทีละชิ้น จากนั้นใช้ไม้อีกชิ้นหนึ่งที่มีความกว้างเท่ากับร่องไม้เรียกว่าลิ้นอัดทับลงไป ใช้เชือกมัดปลายผ้าที่โผล่ออกมาทั้ง 2 ด้าน หรือใช้ไม้ใหญ่ทับหัวทับท้าย เมื่อเวลาแก้เชือกและดึงไม้ลิ้นออกจะได้ผ้าสไบที่มีกลีบงดงามและคงทน

ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้ลูกซัด เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าเยียรบับ ผ้าตาด และผ้าอัตลัด ก็จะใช้วิธีทำความสะอาดด้วยน้ำมะพร้าว แล้วนำมานึ่งแทนการต้ม

การนึ่งก็เป็นวิธีการที่ทำให้ผ้ามีกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน โดยนำเครื่องหอมต่างๆ เช่น ชะลูด ลูกซัด ใบเตย ใบเนียม มาต้มกับน้ำ แล้วนำผ้าที่ทำความสะอาดแล้วแต่ยังเปียกอยู่ใส่ที่นึ่ง นึ่งด้วยไฟอ่อนๆ ให้กลั่นน้ำเครื่องหอมอวลอบกำซาบเข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปตากให้แห้ง

ผ้าบางชนิดส่วนมากเป็นพระภูษาหรือผ้านุ่งนั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีอีกวิธีหนึ่งหลังจากซักตากแล้ว คือวิธีที่จะทำให้ผ้าเป็นมันวาวสวย โดยใช้เปลือกหอยโข่งหรือหินโมรา นำด้านที่เกลี้ยงถูไปมาบนผ้าจนเนื้อผ้าขึ้นเงา ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายวิธีการขัดผ้าให้เรียบเป็นมันวาวไว้ว่า

“—แต่พระภูษาหรือผ้าลายที่เสด็จทรงนั้น เมื่อซักแล้วก็ส่งไปให้คนขัดหลังตำหนัก ซึ่งออกจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะขัดด้วยหินโมรา ผูกมัดไว้กับไม้ไผ่ลำหนา อีกปลายหนึ่งมัดด้วยหวายไว้กับขื่อ คลี่ผ้าลายที่ซักแล้วออกไปเบื้องล่าง แล้วก็โยกลำไม้ไผ่ไปมาให้หินโมรานั้นกดถูเนื้อผ้าจนขึ้นมัน ขัดไปทีละส่วนจนหมดผืน พลอยเคยลองโยกไม้ขัดผ้านี้ดูบ้างแต่ก็ไม่ไหวเพราะตัวยังเล็ก ต้องใช้ผู้ใหญ่ที่ล่ำสันแข็งแรงเอาการอยู่—

สมัยต่อมานอกจากหินโมราหรือเปลือกหอยโข่งแล้ว ยังใช้ลูกปืนโบราณ เบี้ย หรือก้นขวด ขัดผ้าให้มันเป็นเงาแทน การขัดผ้านี้เป็นงานค่อนข้างหนัก จึงมีผู้รับจ้างขัด คิดราคาตามเนื้อผ้า ถ้าผ้าเนื้อดีราคาก็แพง ผ้าเนื้อเลวราคาก็ถูก ในขั้นตอนนี้ชาววังยังมีวิธีย้อมผ้าหรือแต้มสีผ้าที่ใช้นานๆ จนดอกหรือสีซีดแล้ว ก่อนอื่นต้องลอกสีเดิม โดยชุบน้ำผ้าที่จะลอกสีให้เปียกแล้วนำไปขึงพืดตากแดดแรงๆ

ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้งจนหมดสีเดิม แล้วจึงย้อมสีใหม่หรือแต้มดอกใหม่ด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ และลูกไม้ที่หาได้ในวัง คือ สีจำปาได้จากลูกพุด สีแสดได้จากลูกคำ สีเหลืองได้จากขมิ้นชัน สีแดง สีส้มได้จากดอกกรรณิการ์ สีเขียวได้จากใบยอ สีเขียวอ่อนได้จากใบแค เป็นต้น เสร็จกรรมวิธีนี้แล้วก็ได้ผ้าใหม่ที่สดใสกว่าเดิม

ขั้นตอนที่ต่อจากการทำความสะอาดผ้า จึงถึงขั้นตอนการทำผ้าให้เรียบ วิธีทำให้เรียบอย่างสวยงามคือ นำมาเข้าเครื่องหนีบ ลักษณะเป็นลูกเหล็กท่อนโตกลมยาววางซ้อนกัน 2 ลูกบนขาตั้งสูง มีลูกบิดเป็นมือถือจับหมุน เมื่อจะใช้ก็ปูผ้าแบทั้งผืนใส่เข้าไปในระหว่างลูกเหล็กและหมุนให้ผ้าผ่านลูกเหล็กออกมาทีละนิด วิธีนี้จะทำให้ผ้าเรียบเหมือนรีดด้วยเตารีด แต่ผ้าบางชิ้นซึ่งเป็นฉลองพระองค์ที่รีดยากจะส่งไปรีดที่สิงคโปร์ก็มี

“กรรมวิธีดังกล่าวใช้สำหรับผ้าทั่วไป แต่ยังมีผ้าบางชนิดที่ถักทอเป็นพิเศษ คือใช้เส้นโลหะเงินหรือทองเป็นส่วนผสมในการถักทอ เวลาซักจึงต้องระมัดระวัง มีวิธีซักแตกต่างจากผ้าธรรมดา คือต้องแผ่ผ้าให้อยู่ในแนวราบเสมอภาชนะที่ใช้ซัก ซึ่งต้องมีขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อผ้าจะได้มีรอยยับย่นน้อยที่สุด น้ำที่ซักก็มิใช่น้ำธรรมดา จะต้องเป็นน้ำมะพร้าว เพราะคนโบราณเชื่อกันว่าในน้ำมะพร้าวมีสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติกำจัดความสกปรก รักษาสีของผ้าให้ติดทนนาน

เมื่อน้ำมะพร้าวมีสีสกปรกก็รินทิ้งแล้วเปลี่ยนน้ำมะพร้าวใหม่ หรือใช้ผ้านุ่มๆ ค่อยๆ เช็ดเบาๆ เมื่อสะอาดดีแล้วจึงใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าเช็ดความหวานของน้ำมะพร้าวออก จากนั้นจึงนำไปนึ่งหรืออบร่ำต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 19 มีนาคม 2561 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ