เปิดขั้นตอนการ “อบร่ำ” ทำให้เสื้อผ้าหอม ตาม “ตำรับชาววัง” สมัยก่อน

หม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ ดิศกุล, หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิสกุล และหม่อมเจ้าสรรพสมบูรณ์ ดิศกุล สาวชาววัง
จากซ้ายมาขวา หม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ ดิศกุล, หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิสกุล และหม่อมเจ้าสรรพสมบูรณ์ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ขั้นตอนการ “อบร่ำ” ทำให้เสื้อผ้าหอม ตาม “ตำรับชาววัง” สมัยก่อน เป็นอย่างไร ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้อธิบายไว้ว่า 

เรื่องการจัดการเสื้อผ้านั้น หลังจากผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดและรีดเรียบ ก็ต้องถึงขั้นตอนการ “อบร่ำ” ซึ่งเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่ทำให้ผ้านุ่งผ้าห่มของชาววังมีกลิ่นหอมติดกระดาน

วิธีร่ำผ้า คือนำผ้าที่ซักรีดเรียบร้อยแล้วใส่ในโถหรือหีบ ซึ่งมีลักษณะแน่นทึบ เช่น ถ้าเป็นโถก็ต้องเป็นโถเคลือบขนาดใหญ่ทรงมัณฑ์หรือทรงกลอง ถ้าเป็นหีบไม้ก็ต้องเป็นหีบไม้อุโลก ซึ่งทั้งโถและหีบนี้เมื่อปิดแล้วกลิ่นและควันจะระเหยออกมาไม่ได้

เครื่องหอมที่ใช้ในการร่ำ มีกำยาน กฤษณา จันทน์หอม ชะมดเช็ดหรือชะมดเชียง เทียนอบ น้ำตาลทรายแดง ทั้งหมดบดจนเป็นผงละเอียด เวลาใช้ตักผงเครื่องหอมโรยลงบนก้อนถ่านเล็กๆ ที่เผาไฟจนแดง โรยจนมิดก้อนถ่านเพื่อให้เกิดควัน แล้วจึงปิดฝาโถหรือฝาหีบ เพื่ออบควันให้กลิ่นหอมจับเนื้อผ้า ทำเช่นนี้จนกลิ่นหอมชำแรกเข้าไปในเนื้อผ้า

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำความสะอาดผ้าคือการอบผ้า โดยนำผ้าที่ผ่านการร่ำมาแล้ว นำมาใส่โถหรือหีบสำหรับเก็บ ก็จะนำดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น สารภี ประยงค์ จันทน์กะพ้อ ชะลูด ชมนาด เทียนกิ่ง การะเกด พุทธชาด เขี้ยวกระแต มะลิ หรือไม่ก็ใช้กระแจะดีดไว้บนฝาหีบ

เมื่อถึงสมัยที่มีน้ำมันหอมที่หุงจากกลีบดอกไม้ต่างๆ ก็จะใช้น้ำมันหอมชุบกับผ้าขาวบางพับวางไว้ในหีบแล้วจึงปิดฝา กลิ่นหอมเหล่านี้ก็จะกำซาบจับเนื้อผ้า ชนิดหอมติดกระดานดังว่า สำหรับชุดฉลองพระองค์นั้น เมื่อผ่านการอบร่ำแล้วจึงพับซ้อนกัน 3-4 ผืนยก แล้วห่อด้วยผ้าขาวสะอาดให้มิดชิด ใส่ในตะกร้าหวายถัก แบกขึ้นไปส่งเจ้าหน้าที่แต่งพระองค์บนตำหนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บทความ : “การทำความสะอาด เครื่องนุ่งห่มของชาววัง” โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2561