ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
ดูดวงฉบับนับเศษ ของ “รัชกาลที่ 4” ฮิตมากจนสตรีชาววังนับเป็นกันทุกคน!
เรื่อง “ดูดวง” กับคนไทย ถือเป็นของคู่กันมาตั้งแต่โบราณ ผสมผสานเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ดวงวันคลอดลูก ดวงวันแต่งงาน ฤกษ์งามยามดีต่าง ๆ วันตกฟาก หรือแม้แต่ปัจจุบันที่เอาเรื่องดวงมาผสมโรงกับเรื่องสี จนกลายเป็น “สีเสื้อเสริมดวง” ที่ฮิตติดลมในช่วงไม่กี่ปีนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 6 สตรีชาววังที่อาศัยอยู่ในวังสวนสุนันทาก็มีความเชื่อเรื่องดวงมากเช่นกัน ซึ่ง หม่อมหลวง เนื่อง นิลรัตน์ ข้าราชสำนักในตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ อธิบายว่า “…นับเศษของเก่าแก่แต่โบราณ คนในวังสวนสุนันทา ผมหงอกผมดำนับเล่นกันเป็นทุกคน…” หากคนไหนนับเลขแล้วตกเศษดี ก็จะเป็นที่โปรดของเจ้านาย ได้รับประทานสิ่งของ หากนับเลขแล้วตกเศษไม่ดีก็จะไม่เป็นที่โปรดเลยทีเดียว
การดูดวงฉบับนับเศษนี้ เป็นตำราของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ขึ้นชื่อว่าทำนายได้แม่นยำมาก ว่ากันว่าหากผู้ใดประสงค์นำบุตรชายมาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ก็จะต้องนับเลขวัน เดือน ปีก่อน ผู้ที่ตกเศษ 8 จะรับพิจารณาเข้ามาเลี้ยงดูทันที แต่หากตกเศษ 7 ให้เอาตัวกลับไปทันที
หม่อมหลวงเนื่องกล่าวว่า ได้พบเจอคนตกเศษ 7 มาหลายคนแล้ว และไม่ผิดคาดอย่างตำราว่าไว้ อย่างไรก็ตาม การดูดวงฉบับนับเศษนี้มิใช่เพื่อหวังประโยชน์โชคลาภเงินทอง เพียงแต่ดูดวงชะตาพื้นฐานของคนนั้นว่าชีวิตดีหรือไม่ รวยหรือจนไปชั่วชีวิต หรือดูให้รู้ว่าต้องให้ระวังตนอย่าประมาท
วิธีการนับเลขมีดังนี้
นำเลขปี เลขเดือน เลขวัน ตามตารางด้านล่าง มาบวกกัน แล้วลบออกทีละ 10 เหลือเท่าใดก็เป็นเศษเท่านั้น เช่น ปีกุน ได้เลข 12 เดือน พฤศจิกายน ได้เลข 12 วันเสาร์ได้เลข 7
12+12+7 = 31 เมื่อลบออกทีละ 10 ตามท่านว่า จึงเหลือ 21 11 และ 1 ตามลำดับ ดังนั้น ตกเศษ 1
เลขที่นำมาคำนวณ | ปี | เดือน | วัน |
1 | ชวด | ธันวาคม | อาทิตย์ |
2 | ฉลู | มกราคม | จันทร์ |
3 | ขาล | กุมภาพันธ์ | อังคาร |
4 | เถาะ | มีนาคม | พุธ |
5 | มะโรง | เมษายน | พฤหัสบดี |
6 | มะเส็ง | พฤษภาคม | ศุกร์ |
7 | มะเมีย | มิถุนายน | เสาร์ |
8 | มะแม | กรกฎาคม | |
9 | วอก | สิงหาคม | |
10 | ระกา | กันยายน | |
11 | จอ | ตุลาคม | |
12 | กุน | พฤศจิกายน |
สำหรับคนที่รวมแล้วได้ 10 20 หรือ 30 เช่น คนเกิดปี ชวด (ได้เลข 1) เดือนมกราคม (ได้เลข 2) วันเสาร์ (ได้เลข 7) จึงได้ 1+2+7=10 เมื่อลบออกทีละ 10 ได้ผลลัพธ์คือ 0 จึงตกเศษ 0 แต่ตำราท่านไม่ได้ทำนายคนตกเศษ 0 เพราะทำนายตั้งแต่ 1-10 เมื่อตำราไม่ได้ทำนาย เศษ 0 ไว้ และหม่อมหลวงเนื่องก็ไม่ได้อธิบายเช่นกัน จึงเข้าใจได้ว่า เมื่อคำนวนถึงเลข 10 แล้ว อาจจะยึดเอาเลขนั้นเป็นเลขตกเศษเลยเสียกระมัง และตามตำราท่านทำนายเลขตกเศษของแต่ละคน ดังนี้
ดูดวงฉบับนับเศษ
เศษ 1 เสาเรือนไฟไหม้ ชะตาร้ายทั้งชายหญิง
ไร้เรือนที่พึ่งพิง ที่พึ่งพักสำนักเนา
จะร่อนเร่ระเหระหน เร่งเจียมตนอย่าดูเบา
เพราะว่าชะตาเรา โทษประกอบจึงเกิดกรรม
เศษ 2 จะครองไข้ มีโรคภัยสิงประจำ
หยูกยาจะหาทำ บ่ถูกแท้จนแก่ตาย
เศษ 3 ความสบาย มีข้าควายและเกวียนวัว
พอสมสกุลตัว เท่าที่ทายสถานกลาง
เศษ 4 มีข้าครอก อเนกนอกคนานาง
อุปถัมภ์ล้วนสำอาง บ่ไข้ชุกบ่ทุกข์เป็น
เศษ 5 ชะตากลับ ทุนทรัพย์จะแสนเข็ญ
ภายหลังชะตาเป็น ทุนทรัพย์นับอนันต์
เศษ 6 จะยกญาติ เป็นเชื้อชาติประเสริฐสรรค์
เงินตรายศถาพลัน ทุนทรัพย์ลำดับมี
เศษ 7 นั้นผ้าขาด จะนุ่งห่มก็เต็มที
ภัตราย่อมราคี ระคายคับทั้งทรัพย์สิน
เศษ 8 จะเปรื่องยศ จะปรากฏในแผ่นดิน
ทรัพย์ศฤงคารสถานถิ่น ทั้งอำนาจและวาสนา
เศษ 9 กินข้าวกลางตลาด เสมอชาติสุนัขา
ถึงจะมีวาสนา ต้องประกอบทำงานการ
เปรียบตระกูลวณิพก ถึงต่ำตกก็บ่นาน
ดั่งนักเลงสุราบาน พอขวนขวายใส่ท้องตน
เศษ 10 ดังนกแขกเต้า ทำรวงรังไว้บังฝน
แสวงดีย่อมมีผล อย่าคลุกเคล้ากับเหล่าพาล
เหมือนปักษีอันมีปีก รู้หลบหลีกธนูพราน
ถ้าประมาทจะเสียการ ถึงชอกช้ำระกำกาย
หม่อมหลวงเนื่องอธิบายว่าการ “ดูดวง” เช่นนี้ เป็นเพียงการทำนายพื้นฐานดวง มิใช่การทำนายทุกข์ หาเคราะห์ร้าย เคราะห์ดี หรือหาโชคหาชัย แต่ท่านเองก็ยอมรับว่าการนับเศษเลขนี้แม่นนัก คนรอบข้างท่านก็มีชีวิตไปตามพื้นดวงนั้น ๆ ไม่ผิดตามคำทำนายเลย
เมื่อดูดวงชะตาตนเองเสร็จแล้วก็อย่าได้วิตกหรือลำพองไปนัก ดวงก็เป็นเพียงศาสตร์ทำนายชีวิตแขนงหนึ่ง สิ่งที่จะกำหนดชีวิตของเราอย่างแท้จริงและเห็นเป็นรูปธรรมมิใช่ดวงชะตาหรือเวรกรรมนำพาแต่ชาติปางก่อน แต่คือตัวของเรานั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “โหราศาสตร์” ถึงมีบทบาทในสังคมไทยยุคดิจิทัล?
- โหราศาสตร์กับ (บาง)เหตุการณ์บ้านเมืองไทยหลัง 2475 ฤกษ์รัฐประหาร ถึงโหรจอมพลสฤษดิ
- หน่วยราชการโหราศาสตร์-ดวงเมืองของสยาม มีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ไฉนจึงเลิก
- เหตุใด? รัชกาลที่ 4 ทรงประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เนื่อง นิลรัตน์, หม่อมหลวง. (2550). ชีวิตในวัง 1. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562