เหตุใด? รัชกาลที่ 4 ทรงประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว

การเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หลังจากสงครามเจ้าอนุวงศ์สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2371 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามมีอิทธิพลเหนือดินแดนอาณาจักรล้านช้างทั้งหมด กองทัพสยามได้กวาดต้อนชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงมาเป็นเชลยศึก และให้อพยพชาวลาวที่กวาดต้อนมา ไปไว้ตามเมืองต่างๆ เช่น สระบุรี ลพบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น

เชลยศึกชาวลาวได้นำศิลปะการแสดงติดตัวมาด้วย คือ การขับลำและการเป่าแคน ที่ชาวสยามเรียกว่า “แอ่วลาว” หรือ “ลาวแคน” เป็นการขับลำที่มีเสียงแคนเป็นเสียงประสานทำนอง ผู้เล่นมีสองคนคือหมอลำ เป็นผู้ขับร้อง และหมอแคน ผู้ทำหน้าที่เป่าแคนให้เป็นทำนองประกอบในการขับลำ การเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในชุมชนชาวลาวที่อาศัยอยู่แถบเมืองสระบุรี เมืองลพบุรี

เจ้านายพระองค์หนึ่งที่เราทราบกันในนามกรมขุนอิศเรศรังสรรค์หรือเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า “วังหน้า”ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดแคนเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มักเสด็จประพาสไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาวเมืองนครไชยศรีบ้าง เมืองพนัสนิคมบ้าง

แต่สถานที่ที่พระองค์ชอบเสด็จไปประทับอยู่บ่อยครั้งคือตำหนักบ้านสีทา เมืองสระบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วังสีทา” ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระองค์กับชาวลาวเมืองสระบุรีจึงมีมาก การที่พระองค์จะทรงโปรดแคนนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเป่าแคนได้ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ปรากฏในจดหมายของหมอบรัดเล บันทึกไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2379 ตอนหนึ่งว่า

“เจ้าฟ้าน้อยทรงพาหมอบรัดเล กับภรรยาชมเครื่องคนตรีชนิดหนึ่งเป็นเครื่องลาว(แคน) หมอบรัดเลเคยทราบว่าแคนมีเสียงไพเราะนัก อยากจะได้ฟังจึงถามว่าใครๆที่อยู่ในที่นี้เป่าแคนได้บ้าง เจ้าฟ้าน้อยตรัสตอบว่าได้ซิ แล้วพระองค์จึงหยิบแคนขึ้นทรงเป่า แลตรัสถามหมอบรัดเลว่า ต้องการจะฟังแอ่วด้วยหรือ เมื่อหมอบรัดเลตอบรับแล้ว พระองค์จึงทรงเรียกคนใช้เข้ามาคน 1 คนใช้นั้นเข้ามากระทำความเคารพโดยคุกเข่ากราบลง 3 ครั้ง แล้วก็นั่งลงยังพื้นคอยฟังแคนอยู่ ครั้นได้จังหวะก็เริ่มแอ่วอย่างไพเราะจับใจ ดูเหมือนจะได้ศึกษามาเป็นอย่างดีจากโรงเรียนสอนดนตรี ฉะนั้น”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมสูงสุด ตามวังเจ้านายก็นิยมให้มีแคนและพวกแอ่ว ดังเช่นที่วังของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปรากฏในบันทึกของ เซอร์ ยอน เบาว์ริง ราชทูตแห่งอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า หลังจากที่รับประทานอาหารแล้ว กรมหลวงวงษาฯ ได้ “มีรับสั่งให้หาพวกลาวมาแอ่วลาวเป่าแคนให้พวกเราดูแคนนั้นทำด้วยไม้ไผ่ขนาดต่างๆ เจาะรูอย่างขลุ่ย แต่ที่ปากเป่านั้นทำเหมือนกับเครื่องฟลาคิโอเล็ต เสียงเครื่องดนตรีนั้นเป็นเสียงหวานและเกลี้ยงดูเหมือนจะหัดเป่าได้ง่าย การเต้นรำของพวกลาวนั้นก้าวจังหวะช้าๆ สาวลาวทุกคนถือเทียนรำไปมาดูงามดี”

เมื่อการเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งเจ้านายในราชสำนักและราษฎรทั่วไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต จึงได้มีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน 12 แรม 14 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก 1227 (พ.ศ.2408) ดังข้อความในประกาศบางตอนว่า

“….ก็การบัดนี้เห็นแปลกไปนัก ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัวคือ ปีพาทย์ โหรี เสภาครึ่งท่อน ปรกไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวและละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่ง ทุกตำบลทั้งชายและหญิงจนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีในที่มีงานโกนจุก บวชนาค  ก็หาลาวแคนเล่นหมดทุกแห่งราคาหางานหนึ่งแรงถึงสิบตำลึง สิบสองตำลึงการที่เป็นอย่างนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้งาม ไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นของไทยไม่สมควร

….ประกาศอันนี้ ถ้ามิฟังยังขืนเล่นลาวแคนอยู่ จะให้เรียกภาษีให้แรงใครเล่นที่ไหนจะเรียกแต่เจ้าหน้าที่ และผู้เล่น ถ้าจะต้องจำปรับให้เสียภาษีให้แรง ใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกแต่เจ้าของที่และผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อ”

ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 12 แรม 14 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่พอพระทัยในการเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคน เนื่องจากพระองค์ทรงกลัวว่าการละเล่นของสยามในเวลานั้นคือ ปีพาทย์ โหรี เสภาครึ่งท่อน ปรกไก่ สักวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวและละครร้อง สูญหายไปเพราะชาวสยามพากันเล่นแอ่วลาวไปเสียหมด พระองค์อาจจะมีทัศนะคติชาตินิยม ดังปรากฏในคำประกาศตอนหนึ่งว่า ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นของไทยไม่สมควร” และทรงอ้างว่าการเล่นแอ่วหรือลาวแคน ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติกล่าวคือฝนแล้ง ส่วนหนึ่งพระองค์น่าจะวิตกว่าเนื้อหาในบทแอ่วมีนัยยะเป็นการปลุกระดมต่อต้านอำนาจรัฐ ถ้ามีการลุกฮือขึ้นต่อสู้จะเกิดปัญหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ เพราะเนื่องจากในอดีตมีวรรณกรรมสมัยของเจ้าอนุวงศ์ ที่เรียกว่า “สานลึบพะสูนหรือลึบพระสูรย์” สันนิษฐานว่า เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์เป็นผู้ประพันธ์ มีเนื้อหาบรรยายถึง ความเจ็บแค้นที่ลาวต้องสูญเสียอิสรภาพ และเป็นการปลุกระดมชาวลาวขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐสยาม จึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์กบฎเจ้าอนุวงศ์ขึ้น

จากบทเรียนในรัชกาลที่ผ่านมา อาจทำให้พระองค์ทรงตระหนักในเรื่องนี้ จึงมีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาวหรือลาวแคน ตั้งแต่บัดนั้นจนสิ้นรัชกาลของพระองค์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2547

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.

สมบัติ พลายน้อย. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545

อดิศร เสมแย้ม. เสียงแคน ในการเมือง สยาม-ลาว. (2552). (ออนไลน์). http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1195:2009-04-09-07-00-00&catid=28&Itemid=223, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2560