ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
ชะตาแรงเป็นเหตุ!? “พระจอมเกล้าฯ” รัชกาลที่ 4 ตรัสให้ถวายราชสมบัติด้วยกันสองพระองค์กับ “พระปิ่นเกล้าฯ”
ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีความพิเศษกว่ารัชกาลใด เพราะพระองค์ได้รับการกราบทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์พร้อมกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความตอนหนึ่งในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ที่ระบุว่า
“…แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน ทั้งพุทธจักรแลอาณาจักรปฤกษาพร้อมกันว่า สมเด็จพระอนุชาธิบดี เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษพงศอิศรกระษัตริย์ แลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรทรงพระปรีชารอบรู้ราชประเพณีผู้ประเสริฐล้ำเลิศ ในพระบรมราชวงษ จึงพร้อมกันขออันเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราช มไหสวริย์สืบมหันตมหิศรราชวงษดำรงศิริราชสมบัติฃัติยราชประเพณี พระมหากระษัตราธิราชเจ้าลำดับต่อไป…”
แต่ไม่มีความตอนใดในพงศาวดารที่ระบุถึงสาเหตุของการสถาปนากษัตริย์ขึ้นพร้อมกันถึงสองพระองค์ในครั้งนั้น แม้กระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องแรกก็ยังไม่ทรงทราบถึงสาเหตุดังกล่าว จนกระทั่งได้มาทราบความเอาเมื่อล่วงถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากคำบอกเล่าของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว
ความตอนนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี/นิทานที่ ๑๙ เรื่อง เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์” ว่า
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ [สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บิดาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ] ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่า จะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า ‘ท่านฟากข้างโน้น’ ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชาตาแรงนัก
ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชาตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียว จะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้งสองพระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล”
คำอธิบายที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมี “พระชะตาแรง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์คู่กัน เพื่อป้องกันการเกิดอัปมงคล จึงมีที่มาจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ซึ่งทรงรับฟังต่อมาจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ อีกที มิได้มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยตรง
แต่ เทพ สุนทรศารทูล ผู้รู้ด้านโหราศาสตร์ได้แสดงความเห็นต่างออกไป โดยกล่าวว่า พระชะตาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้นไม่อาจแข่งรัศมีกับพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เลย แต่มีลักษณะชะตาที่ส่งเสริมกันมากกว่า โดย เทพ อธิบายว่า
“ดวงชะตาของพระปิ่นเกล้ามีรูปดังนี้
นำมาลงรูปดวงพระชะตาให้บรรดาโหราจารย์ทั้งหลายวิจารณ์ดวงว่า ดวงพระชะตานี้แข็งอย่างไร จะมีบุญถึงพระเศวตฉัตรอย่างไร เพราะดวงดาวมีคู่มิตร คู่ธาตุ คู่วิชาการ คู่บุญ คู่วาสนาอยู่ทั้งหมด ไม่มีดาวให้โทษ เพราะพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง มีดาวกุมพระลัคนาอยู่ถึง 3 ดวง
เทียบกับดวงพระชะตาของพระจอมเกล้าฯ มีรูปดวงพระชะตาดังนี้
คนที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์พอใช้การได้จะแลเห็นว่า ดวงพระชะตาของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหนือกว่าดวงชะตาของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าดวงชั้นพิเศษ มีดาวจันทร์ครูสุริยาอยู่ราศีทวารทั้ง 3 ดวง ดาวราหูอยู่ราศีมังกร ก็เข้มแข็งมาก ไม่มีทางที่ดวงพระชะตาของพระปิ่นเกล้าฯ จะแข่งรัศมีได้เลย”
เทพ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาให้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์ร่วมกับพระองค์ก็คือ พระองค์ทรงบวชอยู่นานมีความเก่งกล้าทางวิชาการ แต่ขาดกำลัง “จึงต้องตั้งพระอนุชาให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพื่อคานอำนาจของตระกูลบุนนาคไว้ เนื่องจาก พระปิ่นเกล้าฯ เป็นเจ้าชายนักเลงโต มีสมัครพรรคพวกมาก”
เรื่องนี้เมื่อมีการอธิบายกันไปคนละทาง ผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ จึงไม่อาจตอบได้เช่นกันว่าคำอธิบายใดถูกหรือผิด แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การบริหารแผ่นดินของทั้งสองพระองค์ก็ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของสยามประเทศในยุคถัดมา
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 4 ทรงปิดเรื่อง “ฟันปลอม” เป็นความลับ-ไม่ทรงให้แพทย์แตะพระโอษฐ์
- เปิดกรุสมบัติรัชกาลที่ 4 ไปอยู่ในฝรั่งเศส สู่กำเนิด “มิวเซียมสยาม” ในวังฟองเตนโบล
- “พระนครคีรี” พระราชวังฤดูร้อนในรัชกาลที่ 4
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“เทียนวรรณ เสพาที พระจอมเกล้าฯ พระปิ่นเกล้าฯ และ-สุนทรภู่”. เทพ สุนทรศารทูล. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2559