“ตำนานดอกคำใต้” การค้าประเวณีที่ก่อค่านิยมเป็น “โสเภณี” เพื่อยกฐานะครอบครัว

(ภาพประกอบเนื้อหา) "Sex workers" ที่ถนนพัฒน์พงษ์ใจกลางกรุงเทพฯ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 (PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ปัญหาของโสเภณีเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาแสนนาน…เหตุหนึ่งคือ ความจริงจังที่จะปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อมีการจับโสเภณี ก็จะจับเฉพาะตัวโสเภณี จากนั้นเจ้าของซ่อง แมงดา พ่อเล้า ก็จะมาเสียค่าปรับค่าประกัน แล้วรับตัวหญิงโสเภณีกลับไปค้าบริการเหมือนเดิม

ทว่าถ้าจะมองในส่วนลึกนั้น ทั้งหลายทั้งปวงมาจากการล่มสลายของสังคมชนบท โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวถูกสังคมเมืองเข้าครอบงำ รวมไปถึงเรื่องของวัตถุนิยม เห็นเงินเป็นพระเจ้า ทำให้ธุรกิจการค้าประเวณีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัญหาขาดสมดุลของการพัฒนาประเทศ

นโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ เป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจค้าประเวณี ถ้าเทียบความเหลื่อมล้ำของระบบเกษตรและอุตสาหกรรม จะพบว่า การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมได้รับการอุ้มชูเป็นพิเศษ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมของชนบทได้รับการดูแลน้อยมาก ราคาสินค้าเกษตรกรรมยังต่ำมาก ทั้ง ๆ ที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบวกกับทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลง ผืนป่าถูกทำลาย ภาวะแห้งแล้งเกิดขึ้นโดยทั่ว ผลที่ตามมา คือ การล่มสลายของสังคมชนบท เกิดการอพยพแรงงานเข้าสู่ตัวเมือง

ในแง่ของการอพยพแรงงานชายเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ ๆ ถึงมีครอบครัวก็จำต้องทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง เกิดการกระจุกตัวของแรงงานชายระดับล่างในเมืองใหญ่ อันนำไปสู่สถานประกอบการค้าประเวณีสำหรับแรงงานชายเหล่านี้ เช่น ซ่องราคาถูกตามเขตชานเมืองที่มีการขนถ่ายสินค้า อาทิ ประตูน้ำพระอินทร์ หนองแค สระบุรี รวมถึงตามเส้นทางทางหลวงสายหลักของประเทศ ทั้งยังมีซ่องสำหรับแรงงานประมงแถบระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระยอง จันทบุรี ตราด ซ่องรองรับแรงงานเกษตรเคลื่อนที่ตามฤดูกาลแถบสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก ฯลฯ

ทั้งนี้ การล่มสลายของสังคมชนบทนั้น ได้มีผู้ประเมินว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของสังคมเมืองที่รุกไล่เข้าไปในสังคมชนบท ซึ่งนำมาซึ่งค่านิยมของการเห็นว่า “เงินคือพระเจ้า” ยึดวัตถุนิยม ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แม้กระทั่งยอมขายลูกสาวตนเองเพื่อยกฐานะครอบครัว ขณะที่ลูกสาวส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณผู้ให้กำเนิด

ตำนานดอกคำใต้

กล่าวกันว่า ดอกคำใต้ เป็นตำนานประวัติศาสตร์ของการค้าประเวณียุคปัจจุบัน ที่ให้ภาพลักษณ์ของสาวเหนือที่ใจง่ายและถูกหลอกมาขายตัวเสียเป็นส่วนใหญ่

เรื่องราวของสาวดอกคำใต้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีมาแล้ว [นับจาก พ.ศ. 2537 – กองบก.ออนไลน์] โดยการชักนำของคนในหมู่บ้านที่ไปเจรจาทาบทามกับผู้เป็นพ่อแม่ แลกกับวัตถุล่อใจต่าง ๆ นานา เช่น เงิน ข้าวของเครื่องใช้ พร้อมกับทำสัญญาผูกมัดกันการฟ้องร้องในภายหลัง ขณะเดียวกันเมื่อถึงสงกรานต์ เอเย่นต์เหล่านั้นจะพาเด็กสาวที่ไปขายบริการกลับมาเยี่ยมบ้าน พร้อมกับการประโคมเครื่องแต่งตัวให้ดูดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ล่อใจเด็กสาวอื่น ๆ ในหมู่บ้าน ปูทางไปสู่การค้าประเวณี

เอเย่นต์บางรายถึงกับเสนอบ้านตึกหลังใหม่แลกเปลี่ยน เกิดเป็นค่านิยมใหม่ เห็นว่าการขายลูกสาวไม่ใช่เป็นสิ่งผิด ทั้งยังช่วยยกฐานะให้เทียมหน้าตาเพื่อนบ้าน บ้างถึงขนาดมีการเกทับกันว่า ลูกสาวฉันได้ค่าตัวมากกว่าลูกสาวเธอ

ปัจจุบัน [พ.ศ. 2537 – กองบก.ออนไลน์] สภาพที่อยู่อาศัยของชาวดอกคำใต้เปลี่ยนจากกระท่อมโทรม ๆ เป็นบ้านทรงทันสมัย เหมือนเมืองกรุงและตึกหลังใหญ่ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน วิถีความคิดของคนในหมู่บ้านก็เห็นว่าการขายตัวขายลูกสาวเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องขายให้ได้เงินคุ้มกับการเลี้ยงดูมาสิบกว่าปี ภายหลังถึงกับมีการนำแบบบ้านมาให้พ่อแม่ของเด็กสาวเลือกอีกต่างหาก

อำเภอดอกคำใต้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าประเวณี แม้ว่าปัจจุบัน [พ.ศ. 2537 – กองบก.ออนไลน์] จะมีการรณรงค์ต่อต้านเรื่องการค้าโสเภณี ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเวลาเกือบ 30 ปีไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะขาดความจริงจัง อีกทั้งมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดเซ็กซ์ทัวร์บริการนักท่องเที่ยว หรือการเอ็นเตอร์เทนแขกบ้านแขกเมือง ในส่วนหนึ่งเป็นที่รู้ ๆ กันว่าสิ่งนี้ย่อมมีตบท้ายอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่าจะโจ่งแจ้งมากน้อยสักเพียงใด

ล่าสุดคือ เรื่องของการ “ตกเขียว” จองตัว เด็กป.6 ในช่วงหน้าแล้งก่อนสงกรานต์ปีนี้ โดยจ่ายเงินมัดจำกับพ่อแม่ผู้ปกครอง รอเวลาผลิตอนุชนรุ่นใหม่ออกมาเป็นโสเภณีรับกับสงกรานต์อย่างพอดิบพอดี ประมาณ 2,000 คน ในพื้น ที่ทางภาคเหนือ 4 จังหวัด คือ เชียงราย 253 หมู่บ้าน ลำปาง 206 หมู่บ้าน พะเยา 117 หมู่บ้าน และเชียงใหม่ 22 หมู่บ้าน พร้อมกับกำหนดจุดหมายปลายทางไว้เรียบร้อย มีทั้ง หาดใหญ่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

ที่น่าสะเทือนใจยิ่งก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ออกมาจากฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ผู้กุมชะตาและซื้อนาคตเยาวชนไทยเอง

ก้าวใหม่ของธุรกิจค้าประเวณี

ความเสื่อมของสถาบันครอบครัวเป็นประเด็นหนึ่งของปัญหาโสเภณี แต่อีกประเด็นที่คณะทำงานเพื่อยุติการเอาเปรียบเด็กทางเพศ (พปพ.) ซึ่งต่อสู้เรื่องปัญหาของโสเภณีมาตลอด ตั้งไว้ก็คือ เรื่องช่องโหว่ของกฎหมาย การที่ไม่มีบทลงโทษเจ้าของซ่อง พ่อเล้า แมงดา เอเย่นต์ กระทั่งผู้ใช้บริการ อย่างชัดเจน ทำให้ยังคงมีการหลอกล่อซัพพลายมาสนองดีมานด์ ตลอดจนความหย่อนยานในการกวดขันสร้างสำนึกในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ยอดตัวเลขของโสเภณีทั้งที่เต็มใจค้าบริการ และที่ถูกล่อลวงมาสูงขึ้นเรื่อย ๆ

และถ้าจะวิเคราะห์ต่อไป เอเย่นต์ หรือนายหน้า ก็คือคนในหมู่บ้านนั่นเอง เช่น ผู้เป็นพ่อแม่ที่ได้รับทัศนคติใหม่ เป็นพวกวัตถุนิยม จึงขายลูกสาว คนพวกนี้เดิมเป็นนักเลงหัวไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น เป็นนักเลงลักวัวควาย เมื่อขายลูกสาวแล้วก็ร่ำรวยเป็นเจ้าสัว เป็นพ่อเลี้ยง บ้างได้รับการยอมรับในความร่ำรวยถึงกับตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อขายลูกตนเองหมดแล้ว ก็เริ่มกล่อมลูกหลานของคนในหมู่บ้านไปขายต่อ หรือบางครั้งเป็นตัวโสเภณีเองที่กลับมาที่บ้าน ทำตัวเป็นนางนกต่อหลอกเด็กสาวอื่นไปค้ากาม

แหล่งข่าวในพื้นที่ทางภาคเหนือ เผยถึงกรรมวิธีในการล่อลวงหญิงเพื่อการค้าประเวณี ว่า บางครั้งวิธีการเก่า ๆ ก็ยังได้ผล เช่น การจัดงานบุญ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน จัดงานโรงเรียน ฯลฯ เอาดิสโก้เธคเข้าไปเปิดการละเล่นนานาชนิด พร้อมกับเครื่องดองของมึนเมา เพราะยิ่งเมายิ่งเสียตัวง่าย

สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มากับทัศนคติใหม่ เช่น ความนิยมในคาราโอเกะ ซึ่งภาพประกอบนั้นค่อนไปทางด้านเร้าอารมณ์ความรู้สึกทางเพศเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันความโจ่งแจ้งในการเสนอขายก็มีมากขึ้น เช่น การเสนอขายเด็กสาวในตลาดนัดวัวควาย หรือบริการแบบ home delivery เช่น อาหารฟาสต์ฟูด นำเด็กขึ้นจักรยานยนต์ส่งตามโรงแรม

อนึ่ง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ใหม่คือ ชายสูงอายุต่างชาติเข้าไปซื้อหาเด็กผู้หญิงอายุ 14-15 ปี ตามหมู่บ้านทางเหนือ เพื่อเป็นเมียเก็บ บ้างเป็นอเมริกันชนมาถ่ายวิดีโอโป๊ของเด็กสาวเป็นการเซอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในปีถัดไปเพื่อชักนำเด็กสาวเหล่านั้นไปค้าประเวณี

นอกจากการที่เอเย่นต์จะเข้าไปตามหมู่บ้านเพื่อล่อลวงเด็กสาวมาส่งตามซ่องแล้ว ในวงการค้าประเวณียังมีการหลอกตลบหลังเอเย่นต์ ซึ่งเรียกกันว่า โดดร่ม

“การโดดร่ม” จะทำกันเป็นคณะ ซึ่งประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ เด็กสาวเจ้าบทบาทหน้าตาใสซื่อ พ่อแม่กำมะลอของเด็กสาว และเจ้าของบ้านที่ใช้เป็นสถานที่ส่งมอบ โดยพ่อแม่จะตกลงราคากับเอเย่นต์ก่อน เจรจาเวลาส่งมอบแล้วจึงกลับมานัดแนะกับเจ้าของบ้านให้ไปอยู่นอกบ้านสักพักโดยทิ้งกุญแจบ้านไว้ และกลับมาอีกครั้งช่วงเย็นถึงหัวค่ำ

จากนั้นพ่อแม่จะพาเอเย่นต์มาที่บ้านหลังดังกล่าวให้พบปะกับเด็ก พอได้เวลาก็จะให้เด็กไปซื้อกับข้าวเตรียมทำอาหารเลี้ยงเอเย่นต์ จังหวะนี้เองที่เด็กสาวจะหลบหนีไป ทิ้งช่วงเวลาสักพัก พ่อแม่ก็จะทำท่าร้อนใจ อาสาออกตามเด็ก เป็นการจับโอกาสหลบหนีไปด้วยหลังจากที่ได้เงินมัดจำไว้แล้ว คงทิ้งให้เอเย่นต์อยู่รอแต่เพียงผู้เดียวบนบ้าน กระทั่งได้เวลานัดเจ้าของบ้านก็จะเดินเข้ามาในบ้าน ทำทีเป็นไม่รู้เห็นใด ๆ ไล่เอเย่นต์ออกจากบ้านไป

หรือจะใช้ลักษณะของการหลบหนีระหว่างส่งเข้าซ่อง โดยเด็กจะมองลู่ทางไว้ก่อนว่าจุดไหนสะดวกแก่การหลบหนี จากนั้นจะบอกให้เอเย่นต์จอดรถทำธุระพักหนึ่ง ทันทีที่รถจอดก็จะวิ่งหนีคนละทิศละทาง ทิ้งให้เอเย่นต์ได้แต่นั่งกุมพวงมาลัยมองตาปริบ ๆ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากในพื้นที่กล่าวถึงสภาพการณ์ดังกล่าวว่า ระยะหลัง ๆ ตามพื้นที่ที่มีการใช้วิธี “โดดร่ม” จะเห็นว่าทันทีที่รถเอเย่นต์วิ่งเข้ามาในหมู่บ้าน กระบวนการ “โดดร่ม” จะหนีกระเจิง เนื่องจากกลัวการตามฆ่าล้างแค้น…

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตำนานดอกคำใต้ ยุทธการสยบการค้าประเวณี ฤๅเป็นแค่…ยุทธการขยับเหงือก?” เขียนโดย พนิดา สงวนเสรีวานิช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565