มอง “การแต่งหน้า” ในยุคผูกขาดความงาม ผู้หญิงแต่งหน้า กลายเป็นพวกเต้นกินรำกิน-โสเภณี

ภาพวาดสตรีไทย ราวทศวรรษ 1900

ในสังคมชนชั้นสูงสมัยอยุธยา การแต่งหน้า ทาแป้งให้ดูสวยตลอดเวลาของผู้หญิงนับเป็นเรื่องปกติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหญิงสาวชาววังที่มีฐานะนั้นจะมีการผัดแป้งจนใบหน้านวล ทั้งยังมีการทาปาก และเขียนคิ้ว โดยจะปรากฏเป็นค่านิยมเกี่ยวกับพิธีถวายตัวของพระมเหสี และนางในจะต้องถวายตัวต่อพระมหากษัตริย์ เนื่องจากนับถือว่ากษัตริย์เปรียบเสมือนองค์สมมุติเทพ บุคคลจะมาถวายตัวต้องแต่งหน้าให้เหมือนนางฟ้านางสวรรค์เพื่อให้เหมาะสมกับพระมหากษัตริย์ (เกรียงไกร กองเส็ง, 2559)

กระนั้นความงามในลักษณะดังกล่าวก็เป็นมาตรฐานความงามที่ปรากฏให้เห็นได้เฉพาะในงานพิธีเท่านั้น ส่วนชาวบ้านสามัญชนธรรมดาทั่วไปยังไม่นิยมแต่งหน้าแต่งตัว เพราะต้องทำงานหนัก การแต่งหน้าจะทำให้เสียเวลาในการทำงาน (พวงผกา คุโรวาท, 2540) รวมถึงการที่มีรูปร่างบอบบางตามความงามฉบับหญิงสาวชาววังก็เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ความงามแบบราชสำนักจึงแฝงนัยยะในเรื่องของการแบ่งชนชั้นทางสังคม (วิสุดา สาระวัตรัตน์, 2554)

ค่านิยมในการแต่งหน้าเพื่อความงามในสมัยอยุธยาจึงค่อนข้างจำกัด และถูกผูกขาดโดยสถาบันหนึ่ง คือ ราชสำนัก จนแม้แต่ในช่วงต้นของยุคสยามใหม่ ค่านิยมความงามในการแต่งหน้ายังคงจำกัดอยู่เฉพาะในงานสำคัญหรือการละคร ทั้งละครดึกดำบรรพ์ ละครพูด ลิเก ที่จะต้องมีการแต่งหน้าเพื่อการแสดง ดังเช่น สมัยรัชกาลที่ 6 (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2453-2468) ได้ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนสูตรการแต่งหน้าสำหรับการแสดงละครต่าง ๆ ดังข้างต้น 

นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก ปากล่างหนา คางสั้น หางตาตก ข้างปากเป็นร่อง วิธีแก้ ลบปากล่าง เพราะปากล่างหนาลูกคางสั้นต่อพรายปาก ลบจงอยปาก ผัดกดหลังตา ต่อปลายหางตาขึ้น ลบใต้ปาก ผัดคาง ผัดแก้ม ผัดร่องน้ำหมาก ลบโหนก ลบร่องปาก 

ชื่อ นายเจริญ พาทยโกศล มีปากที่กว้างมาก รูปทรงจมูกที่แบน ตาและชิดติดกัน ขาตะไกรใหญ่วิธีแก้ คือ ปากกันปลายบน กันริมล่าง 2 ข้างกลางไว้ ลบขาวให้แคบหน่อย ตาบวกท้ายล่าย คิ้วกันขึ้นเหนือคิ้วเดิม ลบใต้ปาก ผัดเติมคาง ผัดสันจมูกและหน้าแง ลบขาตะไกรพ่วง ผัดขาตะไกรบน เติมหน้าช้อง

คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ มีลักษณะปากหนาแคบ ตาเล็กมาก โหนกแก้มสูง วิธีแก้ ลบปากจงอยบนและตุ้มล่าง ต่อไพรให้กว้างและงอน คิ้วกดหัวต่ำจากคิ้วเดิม หางคิ้วปัดงอนขึ้น ตาต่อหางและเติมหลัง หัวตาถ่วงลงนิด ลบโหนกแก้ม ลบขาตะไกรบน เติมขาตะไกรล่าง ลบใต้ตา

หม่อมนวน กุญชร ปากแคบและหนา แก้มห้อย คางบุบ วิธีแก้ ปากแคบและหนา ต้องต้อนบนล่าง ต่อและยกไพร เช็ดใต้ตา เช็ดกระเป๋า (แก้มที่ห้อย) ผัดลูกคาง เช็ดใต้ปาก

จีด มีปากแคบ ตาซ้ายมีติ่งแผลเป็น วิธีแก้ ปากแคบต่อไพรยาวและงอน ต่อท้ายตาซ้ายกลบติ่ง เสริมตาขวา ให้แหกเท่าตาติ่ง (วาคม ว่องภัคสกุล, 2562, น. 27-29)

ฉากทะเลาะหนึ่งในละครเรื่องไกรทอง (ภาพจากหนังสือ “ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม”)

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 มีค่านิยมในการแต่งหน้าที่ถูกผูกไว้กับกิจกรรมบางอย่าง คือ การแสดง แต่การแต่งหน้าในลักษณะของกิจกรรมดังกล่าวยังคงไม่สามารถนำไปแต่งได้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มคนสามัญชนธรรมดา หรือผู้หญิงไม่สามารถแต่งหน้าแบบจัดจ้านได้โดยปกติทั่วไป 

ด้วยเหตุนี้ค่านิยมความงามในการแต่งหน้าจึงยังคงไม่ได้รับการยอมรับในทางสังคม โดยมักถูกมองในเชิงลบ แม้ว่าจะเกิดความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในสังคมสมัยนั้นที่มีสินค้าจากโลกตะวันตกขยายตัวเข้ามามากขึ้น จนทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับความงามของผู้หญิงขยายตัวตามไปด้วย (กชกร เสรีฉันทฤกษ์, 2551)

ดังปรากฏให้เห็นในรัชกาลที่ 7 (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2468-2478) จนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาแล้วก็ยังคงมีค่านิยมว่าหญิงสาวใดที่แต่งหน้าทาแก้มทาปากในชีวิตประจำวัน เป็นผู้หญิงประเภทสร้างความบันเทิง ผู้หญิงหากิน ผู้หญิงโรงเหล้า หรือพวกเต้นกินรำกิน การแต่งหน้าทาปากจึงถูกมองว่าเป็นการกระทำของชนชั้นต่ำ โดยค่านิยมความงามจากการแต่งหน้าลักษณะดังกล่าวนี้สามารถพบได้ในการเขียนวรรณกรรมไทยสำคัญในช่วงนี้ 2 เรื่อง คือ เรื่อง “หนึ่งในร้อย” และ “สี่แผ่นดิน” (ศิริพร โชติพินทุ, 2548) ดังความว่า

“เอาอะไรไม่ได้สักอย่าง ดีแต่ขับรถเที่ยวได้วิ่งโซนๆ คบแต่เพื่อนผู้ชาย ไปไหนก็ต้องมีองค์รักษ์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แล้วดูคิ้ว ดูตา ดูปาก ป้ายสีเข้าไว้ราวกับตุ๊ดตู่ ดูเสื้อที่หล่อนใส่ ไม่เสียเลยก็รู้แล้วไป ลองลูกชายคุณพี่ไปรักผู้หญิงพรรค์นั้นคุณพี่จะยอมไหม ก็ไม่ยอมอีกนั่นแหละ” (ดอกไม้สด, 2547; ศิริพร โชติพินทุ, 2548, น. 88) หรือ

พลอยสังเกตเห็นประไพมีใบหน้าแปลกไปกว่าแต่ก่อน เอานิ้วเช็ดที่แก้มที่ปากออกมาดู พลอยก็รู้ได้ว่าประไพทาหน้าด้วยสีของพี่สะใภ้แหม่ม

พลอย : ไปล้างออกให้หมดเดี๋ยวนี้ ประไพ! พลอยพูดเสียงสั่นด้วยความโมโห

ประไพ : โธ่! คุณแม่ก็ ไพลองหน่อยเดียวเท่านั้น ไม่เห็นจะเสียหายอะไรเลย

พลอย : ตายจริง ผัดหน้าทาปากราวกับนางละคร แล้วยังมีหน้ามาบอกว่าไม่เสียหายอะไรอีก! (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2494; ศิริพร โชติพินทุ, 2548, น. 115)

ภาพถ่ายสตรีไทย ราวทศวรรษ 1900

แม้กระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2482 การแต่งหน้าเพื่อก่อให้เกิดความสวยงามยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่ และไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม ดังปรากฏในบทสนทนาของ “วิจิตรบรรณาการ” ที่กล่าวถึงความสวยงามในหน้าตาของเด็กผู้หญิงว่าการแต่งหน้าสมัยนี้เป็นสิ่งที่แปลกตา หน้าคล้ายกันไปหมด ไม่ค่อยจะโดดเด่นเท่าไหร่ และผู้หญิงมักจะแต่งหน้า ไม่ค่อยมีใครสวยตามธรรมชาติในแบบที่พ่อแม่ให้มาหรือไม่แต่งหน้าเลย เช่น คิ้ว ก็มักจะถอนออกกันละวาดคิ้วลงไปใหม่ ส่วนตาก็มีการใช้ยาหยอดตาที่เรียกว่า “มิวเรียน” ที่ทำให้ตาสวยหวานเยิ้ม ซึ่งเป็นความสวยจากการเข้ามาของความทันสมัยในทางวิทยาศาสตร์ (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2554, น. 172-173.)

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสังคมไทยในช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2500 การแต่งหน้าที่ก่อให้เกิดความสวย ความงาม ยังคงไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม มักจะมองผู้หญิงที่แต่งหน้าจัดจ้านในทางลบว่าเป็นผู้หญิง “เต้นกินรำกิน” “นางละคร” หรือ “ผู้หญิงโรงเหล้า” การแต่งหน้าทุก ๆ วันจึงถูกมองเป็นเรื่องแปลกประหลาด และการที่จะแต่งหน้าได้จะปรากฏให้เห็นเฉพาะในลักษณะกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งถูกผูกขาดโดยชนชั้นสูง เช่น การถวายตัวของนางในหรือพระมเหสี รวมไปถึงการแสดงละคร ลิเกต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการแต่งหน้าของผู้หญิงทั่วไปในสังคมไทยจึงไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านความงามให้กับผู้หญิง กล่าวได้ว่าค่านิยมเกี่ยวกับความงามของสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงถูกมองในเชิงลบ และถูกผูกขาดโดยสถาบัน คือ ราชสำนัก

ทั้งนี้จะเห็นว่า “การแต่งหน้า” ในสังคมไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ถูกยอมรับในทางสังคม ปรากฎให้เห็นได้จากค่านิยมสังคมช่วงก่อน พ.ศ. 2500 การแต่งหน้าในทุกยุคสมัยมักจะมีการผูกขาดโดยสถาบันใดสถาบันหนึ่งในขณะนั้น อันสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมความงามของคนในสังคมไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือและสิ่งพิมพ์

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2554)

พวงผกา คุโรวาท. (2540). ประวัติเครื่องแต่งกาย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). อักษรพิทยา.

บทความในวารสาร

เกรียงไกร กองเส็ง. (2559). “ร่างกายภายใต้บงการ การเปลี่ยนแปลงความหมาย ความงาม ของสตรีไทย-จีนตามวิถีสมัยใหม่.” มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. 5(2), 238.

รายงานวิจัยและวิทยานิพนธ์

วิสุดา สาระวัตรัตน์. (2554). การสร้างวาทกรรมความงามของร้านเสริมสวยในเขตเมืองและชนบทกับการตอบรับของลูกค้า: ศึกษากรณีตัวอย่างในจังหวัดนครสีธรรมราช. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์]. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. https://tdc.thailis.or.th/tdc/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=308259&fbclid=IwAR2lt_VYi9EFWgt9_qsapR0dor0d0UoSxol9k0Uz4UYItqzUwgwJAIZp09Y

วาคม ว่องภัคสกุล. (2562). ผู้ชายแต่งหน้า: การให้ความหมายและการปฏิบัติต่อเรือนร่างความงามและความเป็นชายในสังคมสมัยใหม่. [ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. Silpakorn University Central Library All Rights Reserved. http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/15281

กชกร เสรีฉันทฤกษ์. (2551). วาทกรรมความงามของผู้หญิงในสังคมไทย: มุมมองพหุมติ. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/TU.the.2008.55.

ศิริพร โชติพินทุ. (2548). วิวัฒนาการการสื่อความหมายรูปกายในสังคมไทย. [ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย. mhttp://www.thaithesis.org/detail.php?id=1082548001559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2565