ความเป็นมาของการเขียน “คิ้ว” หนึ่งในประวัติศาสตร์ความสวยของสาวจีน

บ้านใดที่มีทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ในบ้านมักเก็บอัญชันมาเขียนคิ้วให้เป็นรูปสวยแต่เล็กๆ ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว “คิ้ว” ยังไม่ได้ดังใจก็ไปทำคิ้ว 3 มิติตามแบบที่ชอบได้ แล้วถ้าเป็นในสมัยโบราณผู้หญิงแต่ละนางเขียนทำอย่างไรกับ “คิ้ว” ของเธอ สาวจีนเป็นชาติหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องคิ้วมานาน

แม้แต่ กิมย้ง นักเขียนชื่อดัง ก็ยังเอาเรื่อง “คิ้ว” บรรจุไว้ในฉากไฮไลต์ใน ดาบมังกรหยก (มังกรหยกภาค 3) เตี๋ยเมี่ยง หนึ่งในตัวละครหญิงสำคัญทวงสัญญาข้อที่ 3 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายกับเตียบ่อกี้ว่า “เจ้าต้องเขียนคิ้วให้ข้าทุกวัน”

แต่จะใช้อะไรเขียนคิ้ว? เขียนคิ้วแบบใดบ้าง? เขียนคิ้วกันมาตั้งแต่เมื่อใด? หลี่หยา นักเขียนชาวจีนรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้จากงานเขียนด้านวัฒนธรรมสมัยต่างๆ มาเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ “งามเพราะแต่ง ประวัติศาสตร์การประเทินโฉมตำรับจีน” (สนพ.มติชน, พฤษภาคม 2564) อธิบายเรื่องคิ้วไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งขอสรุปมานำเสนอพอสังเขป

เริ่มกันจาก กำเนิดการเขียนคิ้ว” แม้ผู้หญิงจีนโบราณเวลาแต่งหน้า จะไม่เน้นแต่งดวงตา แต่เน้น “คิ้ว” โดยในรวมบทกวีฉู่ฉือ บทต้าจาว (แต่งโดยชวีหยวน ราว 230 ปีก่อนคริสตกาล) บรรยายไว้ว่า “ทาแป้งขาวเขียนคิ้วดำ พรมน้ำหอมกลิ่นอบอวล” ทำให้สันนิษฐานได้ว่าอย่างช้าที่สุดสมัยจ้านกว่อก็มีการเขียนคิ้วกันแล้ว

ส่วน “รูปแบบการเขียนคิ้ว” ก็เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม คิ้วที่ว่าสวยในช่วงหนึ่ง ก็กลายเป็นคิ้วเชยๆ ในเวลาต่อมา ตัวอย่างเช่น

สมัยราชวงศ์ฮั่นและเว่ย ผู้หญิงจีนเริ่มนิยมเขียนคิ้วหนาขึ้น มีคำกล่าวว่า “สาวชาวเมืองชอบคิ้วกว้าง แต่ละข้างครึ่งหน้าผาก” จนถึงขั้นที่ “เด็กสาวเขียนคิ้วไม่เป็นลากยาวไปถึงหู”

สมัยราชวงศ์ถัง เป็นช่วงที่มีความเจริญรุ่งเรือง รับวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ความคิดเปิดกว้าง ด้านการประทินโฉมจึงเกิดการเขียนคิ้วจนเหนือความคาดหมาย มีรูปคิ้วหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์จีนและโลก รูปคิ้วสมัยราชวงศ์ถังจะหนากว่าสมัยฮั่นและเว่ยอย่างชัดเจน คิ้วเรียวยาวเหมือนหนวดผีเสื้ออย่างในอดีตมีไม่มาก

รูปคิ้วแบบต่างๆ สมัยราชวงศ์ถัง (ภาพจากหนังสือ งามเพราะแต่ง ประวัติศาสตร์ประทินโฉมตำรับจีน)

ตัวอย่างเช่น ช่วงรัชศกฉุยก่ง (ค.ศ. 685-688) หัวคิ้วเกือบจะชิดกัน ช่องว่างแคบมาก คิ้วตรงราบ หัวคิ้วหนาหางคิ้วเรียวเล็ก, ช่วงรัชศกหรูอี้ (ค.ศ. 692) หัวคิ้วแยกออกจากกันเล็กน้อย หัวและหางคิ้วเรียวแหลม ตรงกลางหนา คล้ายขนนก, ช่วงรัชศกว่านซุ่ยเติงเฟิง (ค.ศ. 696) หัวคิ้วเรียวแหลม หางคิ้วมีแฉก, ช่วงรัชศกฉางอัน (ค.ศ. 701-704) หัวคิ้วโก่งลง ตัวคิ้วราบขนาน ส่วนปลายคิ้วเชิดขึ้นและเส้นขนคิ้วกระจายออก ฯลฯ แม้รูปคิ้วสมัยราชวงศ์ถังจะมีหลากหลายอย่างไร แต่ไม่พ้นคิ้วยาว กว้าง และเข้ม

ช่วงราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง และห้าราชวงศ์ การแต่งหน้าเฟื่องฟูมาก เนื่องจากประเทศเจริญมั่งคั่งและผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ผู้คนจึงมีความเชื่อมั่น เห็นคุณค่าของตนเอง เปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอก อยากเพิ่มเสน่ห์ให้ตนเอง ถึงกับมีการบันทึกข้อมูลรวบรวมและถ่ายทอดความรู้เรื่องการแต่งหน้าของผู้หญิง

จางมี่ สมัยราชวงศ์ถังเขียนไว้ใน บันทึกหอแต่งหน้า ว่า “หมิงหวง (ถังเสวียนจงฮ่องเต้) ทรงชื่นชมแคว้นสู่ มีพระบัญชาให้ช่างเขียนวาดภาพคิ้ว 10 แบบ มีชื่อ เช่น คิ้วเมฆขวาง คิ้วครึ่งซีก”

หยางเสิ้น สมัยราชวงศ์หมิง อธิบายชื่อคิ้ว 10 แบบอย่างละเอียดในหนังสือ บันทึกแป้งตะกั่วแดง ว่า “แบบที่ 1 เรียกคิ้วยวนยาง (เป็ดแมนดาริน) หรือคิ้วรูปเลขแปด (八) แบบที่ 2 เรียกคิ้วเนินเขาหรือคิ้วภูเขาห่าง แบบที่ 3 เรียกคิ้วห้าขุนเขา แบบที่ 4 เรียกคิ้วยอดเขา แบบที่ 5 เรียกคิ้วสายมุก แบบที่ 6 เรียกคิ้วจันทร์เสี้ยวหรือจันทร์ครึ่งซีก แบบที่ 7 เรียกคิ้วแตกแขนง แบบที่ 8 เรียกคิ้วหมอก แบบที่ 9 เรียกคิ้วเมฆเคลื่อนหรือคิ้วหมอกขวาง แบบที่ 10 เรียกว่าคิ้วขอบจาง”

หากความจริงแล้ว ช่วงราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง และห้าราชวงศ์ รูปคิ้วซึ่งนิยมกันไม่ได้มีเพียง 10 แบบ

หลังสมัยราชวงศ์ซ่ง ปรัชญาสำนักเฉิงจูหลี่เสว เริ่มเฟื่องฟูขึ้น มีการส่งเสริมให้เคารพวัฒนธรรมโบราณ ฟื้นฟูขนบประเพณี รักษาแบบแผนของผู้หญิงแนะให้ “ยึดถือหลักเหตุผล ขจัดความปรารถนาส่วนตัว” การแต่งหน้าจึงทำตามใจชอบอย่างในอดีตไม่ได้ เน้นเพียงความสวยงามแบบเรียบง่ายและสง่างาม

แล้วคนในอดีตใช้อะไรเขียนคิ้ว

เริ่มแรกคนโบราณเขียนคิ้วด้วย “ไต้” หรือ “หมึกเขียนคิ้ว” หลิวซีสมัยราชวงศ์ฮั่นอธิบายชื่อว่า “ไต้ หมายถึงแทนที่ โกนคิ้วทิ้งแล้ววาดแทนที่” ความหมายของข้อความนี้ก็คือ ก่อนเขียนคิ้ว คนโบราณต้องโกนคิ้วธรรมชาติออกก่อน แล้วใช้หมึกเขียนแทน ใน เล่าความอธิบายคํา ก็กล่าวว่า “ไต้คือหมึกเขียนคิ้ว”  โดย “ไต้” หรือหมึกเขียนคิ้ว คือแร่ชนิดหนึ่งที่ผู้หญิงสมัยนั้นนำมาใช้เขียนคิ้ว ความจริงแล้วแร่นี้ก็คือ สือโม่-กราไฟต์ คำว่าสือโม่นี้ถูกกล่าวถึงตั้งแต่ยุคหกราชวงศ์จนถึงราชวงศ์ซ่งและหมิงแล้ว

หนังสือสารานุกรม ถานย่วนถีหู และหนังสือ เสี่ยวจิงหยวนเสินชี่ ต่างก็ระบุสอดคล้องกันว่า ชาวจีนค้นพบแร่ “สือโม่-กราไฟต์” นานแล้ว แต่เรียกว่า “สือเนี่ย-หินย้อม” บ้างก็เรียกว่า “เฮยตาน-หินสีดำ” แต่ปัจจุบันเรียกว่า “สือโม่” สมัยโบราณยุคต้นใช้เขียนหนังสือ สมัยโบราณยุคกลางใช้เขียนคิ้ว

ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรมันก็ล้วนได้จากภูเขา ซึ่งก็คือแร่นั่นเอง เนื่องจากมีเนื้อฟูและเนียนใช้วาดคิ้วได้ จึงมีอีกชื่อที่น่าฟังว่า “หินเขียนคิ้ว” เป็นหมึกธรรมชาติของจีน สมัยต่อมาใช้ทำหมึกธรรมชาติของจีน ก่อนจะคิดค้นวิธีทำหมึกจากเขม่าควัน ผู้ชายใช้หินนี้เขียนหนังสือ ผู้หญิงใช้เขียนคิ้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2564