“ช่างสิบหมู่” มีอะไรบ้าง เป็นมาอย่างไร และมีส่วนในงานศิลปกรรมไทยอย่างไร

ช่างสิบหมู่ ช่างรัก ลงรักปิดทอง ลายรดน้ำ ต้นรัก ยางรัก

“ช่างสิบหมู่” หรือ “ช่างหลวง” เป็นคำไทย ภาษาอังกฤษคือ Ten Essential Traditional Craftsmenship ทำหน้าที่ราชการจำเพาะด้านการช่างที่เกี่ยวข้องกับงาน ศิลปกรรม ต่าง ๆ ทั้งในด้านวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์ภายในพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่โบราณ แต่เดิมกรมช่างสิบหมู่และข้าราชการซึ่งเป็นช่างต่าง ๆ ในกรมมีหน้าที่รับสนองพระราชประสงค์ในองค์พระมหากษัตริย์รวมถึงทำหน้าที่รวบรวมช่างมีฝีมือเพื่อเป็นกำลังในกิจการงาน ศิลปกรรม รุ่นต่อ ๆ ไปด้วย

อิสริยา เลาหตีรานนท์ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายถึง “กรมช่างสิบหมู่” ไว้ว่า “ช่างสิบหมู่ คือหน่วยงานที่รวมช่างประณีตศิลป์ไว้เพื่อปฏิบัติงานถวายพระมหากษัตริย์หรืองานราชการ เดิมงานเหล่านี้กระจัดกระจายสังกัดในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ปัจจุบันเป็นหน่วยงานระดับสำนักในกรมศิลปการกระทรวงวัฒนธรรม”

ช่างสิบหมู่ในสมัยโบราณนั้นอยู่ในกำกับดูแลของราชสำนัก ทำงานก่อสร้างและตกแต่งเหล่าปราสาทราชมณเฑียร ตำหนัก เรือนหลวง วัดวาอาราม และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อสร้างความงดงามทางศิลปกรรมตามพระราชประสงค์ ทั้งนี้ การทำงานของช่างสิบหมู่จะประสานงานกับช่างมหาดเล็กและช่างทหารในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย

สำหรับสำนักช่างสิบหมู่ในสมัยใหม่ (ปัจจุบัน) ประกอบด้วยหมู่ช่างผู้เชี่ยวชาญงานช่างแขนงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ช่างเขียน (Drawing and Painting) เขียนลายและภาพทั้ง 4 หมวด ได้แก่ “กนก นารี กระบี่ และคชะ” เรียงตามลำดับคือ “ตัวกนก” แบบต่าง ๆ ภาพมนุษย์ชาย-หญิง เทวดา-นางฟ้า ภาพวานร อมนุษย์ อสูร และภาพสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์หิมพานต์และสัตว์ตามธรรมชาติ โดยยึดหลัก “คดให้ได้วง ตรงให้ได้เส้น”

2. ช่างแกะ (Carving) ทั้งงานแกะตรา แกะลาย และแกะภาพ หรือเรียกรวมกันว่า “แกะสลัก” เริ่มต้นจากการแกะขุดหรือการแรเส้นโดยใช้สิ่วขนาดเล็ก ขุดเส้นเดินบนแผ่นไม้เรียบ หรืองานแกะแรวัสดุที่เป็นโลหะ เงิน-ทอง ช่างผู้เชี่ยวชาญงานโลหะแต่ละประเภทจะทำงานร่วมกับช่างแกะด้วย

3. ช่างสลัก (Engraving) หรือ “ช่างฉลัก” มีหน้าที่ประดับสถานที่สลักเสาให้สวยงาม แบ่งเป็น ช่างสลักกระดาษสำหรับใช้ประดับสิ่งก่อสร้างชั่วคราว เช่น พลับเพลา พระเมรุ ฯลฯ และช่างสลักของอ่อนที่เรียกว่า “เครื่องสด” เช่น การสลักเผือก มัน ฟักทอง ฯลฯ

4. ช่างกลึง (Turning) งานกลึงเป็นงานสลักเสลาเกลาแต่งที่ต้องใช้ความประณีต โดยมากใช้กับงานไม้และงาช้าง เครื่องมือกลึงจะต้องคมกลิบตลอดเวลา หากกลึงสิ่งของใหญ่ ๆ จะใช้ “กงหมุน” หากเป็นสิ่งของขนาดย่อมและไม่ประณีตจะใช้เครื่องกลึง “คานดีด”

5. ช่างหล่อ (Casting) เกี่ยวข้องกับการหล่อโลหะ เช่น การหล่อกลองมโหระทึก หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ การหล่อพระพุทธรูปโลหะทำได้โดยการใช้ขี้ผึ้งทำเป็นหุ่นแล้วละลายขี้ผึ้งจนเกิดที่ว่างในแม่พิมพ์ แล้วจึงเทโลหะหรือทองที่กำลังหลอมละลายเข้าแทนที่ จะได้เป็นรูปหล่อโลหะสำริด เรียกวิธีนี้ว่า “ไล่ขี้ผึ้ง”

6. ช่างปั้น (Molding and Sculpting) ทำงานด้านการปั้นพระพุทธรูปเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจใช้ดินเหนียวอย่างเดียว ปั้นด้วยดินแล้วติดกระดาษทับเพื่อรักษาเนื้อดิน หรือแม้แต่ปั้นด้วยกระดาษโดยมีลวดตาข่ายเป็นโครงภายใน

7. ช่างหุ่น (Model Building) “หุ่น” ในที่นี้คือ “ตัว” หรือ “รูปร่าง” คือการประกอบสร้างรูปของคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ต้องทำเป็นรูปร่าง ดังนั้น ช่างหล่อ ช่างปั้น และช่างหุ่นจึงมีงานสัมพันธ์กันและอาจสร้างงานด้วยคน ๆ เดียวกัน

8. ช่างรัก (Lacquering) ประกอบด้วย ช่างผสมรัก ลงรักพื้น ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก และช่างมุก เพื่อการทำลวดลายประดับมุก “รัก” คือยางไม้ที่ได้จากต้นรักนั่นเอง ซึ่งสามารถนำมาใช้งานทางศิลปกรรมได้ โดยเฉพาะงานปิดทองในการทำ “ลายรดน้ำ”

9. ช่างบุ (Metel Beating) “บุ” คือการตีแผ่ให้แบน ทั้งเป็นแผ่นเรียบ ๆ และเป็นรูปร่างต่าง ๆ ช่างบุต้องชำนาญด้านงานโลหะทุกชนิด เช่น ทองแดง เงิน นาก และทองคำ อุปกรณ์คือ ทั่งและค้นเหล็ก ซึ่งมีหลายขนาดและรูปร่างต่างกันไป

10. ช่างปูน (Plastering) งานปูนจะมีทั้งงานซ่อมและสร้าง แบ่งเป็น หมู่ปูนก่อ เป็นเพียงการเรียงอิฐ ไม่ต้องประณีต หมู่ปูนฉาบ คือการตกแต่งอิฐที่ก่อให้เรียบงาม และหมู่ปูนปั้น หมู่นี้จะสร้างงานให้มีความงดงามทางศิลปะ ลายปูนปั้นต้องทำตอนปูนยังไม่แข็งตัว

พาลีชิงนางมณโฑจากทศกัณฐ์ (ภาพลายรดน้ำจากหนังสือ “รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๕)

ความเป็นมาแต่โบราณ ของ “ช่างสิบหมู่”

การมีอยู่ของช่างสิบหมู่ปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยมีอยู่ในทำเนียบศักดินาพลเรือนและทหารในกฎหมายเก่า (กฎหมายตราสามดวง) ในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) สันนิษฐานว่าตระกูลช่างในสมัยอยุธยาน่าจะมีมากกว่า 10 หมู่

อย่างไรก็ตาม งานประณีตศิลป์สาขาต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้าในสมัยอยุธยาตอนปลายต้องสลายตัวไปหลังการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เพราะช่างฝีมือบางส่วนถูกกวาดต้อนไป ส่วนที่เหลือมีการรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี และจัดตั้งเป็นสำนักช่างอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ช่างเหล่านี้สร้างสรรค์ปราสาทและพุทธสถานในกรุงเทพฯ ให้วิจิตรงดงามเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา

สำนักช่างสิบหมู่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังแบ่งออกเป็นสำนักช่างประจำ “วังหลวง” และ “วังหน้า” คือเป็นคนละสังกัดกัน ต่อมาหมู่ช่างในสังกัดวังหน้าได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร หรือตำแหน่งพระมหาอุปราช (วังหน้า) เมื่อ พ.ศ. 2428

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการแบ่งสำนักช่างสิบหมู่เป็นกรมอย่างเช่นเจนว่ามีประเภทใดบ้าง ซึ่ง สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตรัสประทานแก่ พระยาอนุมานราชธน ไว้ว่า

“ช่างสิบหมู่เป็นแต่ชื่อกรมที่รวบรวมช่างไว้ มีสิบหมู่ด้วยกัน ไม่ใช่ช่างในบ้านเมืองมีแต่สิบอย่างเท่านั้น พระวรวงศ์เธอพระเจ้าประดิษฐ์วรการ ผู้ซึ่งได้ควบคุมช่างสิบหมู่เมื่อรัชกาลที่ 5 ได้แต่งโคลงบอกชื่อช่างที่ท่านได้ควบคุมไว้ มีดังนี้

‘เขียนกระดาษแกะหุ่นปั้น  ปูนรัก บุฮา

กลึงหล่อไม้สูงสลัก  ช่างไม้’

จำนวนหมู่ช่างในโคลงนี้ นับได้ 13 หมู่ เกินกว่าชื่อไปสามหมู่ คิดว่าจะเติมขึ้นทีหลัง”

จากโคลงดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “ช่างสิบหมู่” ในสมัยรัชกาลที่ 5 แท้จริงมีถึง 13 หมู่ ซึ่งยังไม่รวมหมู่ช่างที่เป็นช่างมหาดเล็กและช่างทหารในฯ จากโคลงจะพบหมู่ช่าง ได้แก่ 1. ช่างเขียน 2. ช่างกระดาษ 3. ช่างแกะ 4. ช่างหุ่น 5. ช่างปั้น 6. ช่างปูน 7. ช่างรัก 8. ช่างบุ 9. ช่างกลึง 10. ช่างหล่อ 11. ช่างไม้สูง 12. ช่างสลัก และ 13. ช่างไม้

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อศิลปวัฒนธรรมยุโรปหลั่งไหลเข้ามาในสยามอย่างและมีอิทธิพลต่อรูปแบบงานก่อสร้างและสถาปัตยกรรมราชสำนักอย่างสูง งานศิลปกรรมแบบไทยในวัดวาอารามจึงประสบภาวะซบเซา จนทำให้ความสำคัญของช่างสิบหมู่ค่อย ๆ ถูกลดทอนลง จนถูกโยกไปรวมกับ “กรมช่างมหรสพ”

ภายหลังมีการก่อตั้ง “กรมศิลปากร” ช่างสิบหมู่จึงถูกโยกมาอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร กระทั่ง พ.ศ. 2481 มีการจัดตั้ง “กองสถาปัตยกรรม” ขึ้นในสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งกองนี้ทำหน้าที่ของงานช่างสิบหมู่

ระหว่าง พ.ศ. 2495-2518 ช่างสิบหมู่ในสังกัดกรมศิลปากรถูกโยกย้ายไป-มา ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ กระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กรมศิลปากร (พร้อมด้วยสำนักช่างสิบหมู่) จึงมาอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมอย่างถาวรจวบจนปัจจุบัน

ภาระหน้าที่

หน้าที่หลักของสำนักช่างสิบหมู่คือการรักษาและสืบทอดศิลปวิทยาการ และเป็นศูนย์ข้อมูลด้าน “ศิลปกรรม” แห่งชาติ ค้นคว้า พัฒนา ดำเนินการบูรณะ ซ่อมแซม เพื่อการอนุรักษ์งานศิลปกรรม โดยแบ่งฝ่ายงานรับผิดชอบเป็น 6 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ 1. ฝ่ายบริหารทั่วไป 2. กลุ่มประณีตศิลป์ 3. กลุ่มประติมากรรม 4. กลุ่มจิตรกรรม 5. กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา และ 6. ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย

อธิบดีกรมศิลปากร ตรวจติดตามการจัดเตรียมเครื่องประกอบเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ สำนักช่างสิบหมู่

งานช่างสิบหมู่นับเป็นงานช่างที่สะท้อนความเป็นไทยแบบจารีตได้เป็นอย่างดี มีทั้งความละเอียด ปราณีต และเอกลักษณ์โดดเด่นสะท้อนวัฒนธรรมไทยที่สั่งสมมานานหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าลักษณะงานของช่างสิบหมู่นั้นไม่อาจแยกขาดจากกันได้อย่างชัดเจน ผู้เป็นช่างต้องมีความรอบรู้ในแขนงอื่น ๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม : สำนักช่างสิบหมู่ ประวัติและบทบาทหน้าที่. (ออนไลน์)

ผศ. นิภา กู้พงษ์ศักดิ์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ : งานสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์…ช่างสิบหมู่. (ออนไลน์)

สงวน บุญรอด. (2526). พุทธศิลป์รัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : รุ่งวัฒนา

อิสริยา เลาหตีรานนท์, องค์ความรู้ ภาษา-วัฒนธรรม โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา : กรมช่างสิบหมู่(๑). (เดลินิวส์, 21 มิ.ย. 2561) (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565