เหตุใด ร.5 ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา “มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์”

รัชกาลที่ 5 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
(ซ้าย) พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ในฉลองพระองค์ครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ "หมอกฎหมาย" มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทรงฉายที่ห้องถ่ายภาพ "ดาวนีย์" กรุงลอนดอน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2450 พระราชทานแก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นพระองค์แรก, (ฉากหลัง) Cambridge. King's College Gatehouse (จาก Cornell University Library)

วันที่ 12 มิถุนายน มีพิธีมอบปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตามกำหนด แต่ รัชกาลที่ 5 ไม่ได้เสด็จฯ ไปในพิธี ทรงระบุถึงสาเหตุไว้ 2 ประการ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขามีไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก่อนจะถึงวันพิธีว่า

วันที่ 25 เปนวันจะได้รับดีกรีเคมบริช เรื่องรับดีกรีนี้ประดักประเดิดมาก เหตุด้วยเวลาไม่เหมาะตามโปรแกรม ทั้งรพีแลจรูญตักเตือนว่าการที่จะไปรับนั้นบางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก ไม่ไปเหนจะดีกว่า ฉันจึ่งได้กะเวลาคลาศเสีย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

“รพี” คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) เสด็จยุโรปล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับเสด็จ ส่วน “จรูญ” คือหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตประจำฝรั่งเศส (และประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี)

Advertisement

กล่าวสั้นๆ สาเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ไม่เสด็จฯ ไปในพิธี ได้แก่ ประการแรก วันจัดพิธีของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่สอดคล้องกับหมายกำหนดการเสด็จฯ และประการที่ 2 มีพระราชประสงค์ที่จะเลี่ยงเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สาเหตุประการที่ 2 คือที่มาของสาเหตุประการแรก นั่นคือคำคัดค้านของกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ที่ทรงเห็นคล้ายกันว่า “บางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมากไป ไม่ไปเหนจะดีกว่า”

“สตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก” ซึ่งทรงยกขึ้นมาเป็นเหตุผลนั้น น่าจะหมายถึง การมีนักศึกษาโห่ร้องหรือหยอกล้อผู้ได้รับปริญญาหลังเสร็จพิธี ซึ่งมีขึ้นเป็นประเพณีของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรสที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรสที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

สาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงรับฟังและทรงเลี่ยงที่จะเสด็จ อาจเป็นเพราะผู้กราบบังคมทูลทัดทานทั้ง 2 พระองค์เป็นผู้ใกล้ชิดและเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยในอังกฤษมาก่อน กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดใน พ.ศ. 2437 และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน พ.ศ. 2439

จากคำคัดค้านด้วยเกรงว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะแสดงกิริยาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ รัชกาลที่ 5 จึงทรงต้อง ‘กะเวลาคลาศเสีย’ หรือวางหมายกำหนดการใหม่ ให้ตรงกับพิธีมอบปริญญาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อที่พระองค์จะได้ไม่ต้องเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว…


ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (27 มีนาคม พ.ศ. 2449 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) โดยทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ก่อนการเสด็จฯ ไม่นาน

ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งแรกก่อนหน้านั้น 10 ปี มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายแพ่งแด่พระองค์มาก่อน แต่พระองค์ก็มิได้ทรงร่วมพิธีเช่นเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยจึงส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ส่วนเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ ไปในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในครั้งเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งที่ 2 นี้ เบื้องแรกพระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้ทางมหาวิทยาลัยส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

แต่ทางเคมบริดจ์ยังไม่ละความพยายาม ขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเป็นการพิเศษที่คฤหาสถ์ของดุ๊คแห่งเดวอนเชียร์ (Duke of Devonshire) นายกสภามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ที่มาของปริญญา ‘หมอกฎหมาย’ และพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์ครุย ของรัชกาลที่ 5” เขียนโดย พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2561